backup og meta

กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive Bladder)

กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive Bladder)

คำจำกัดความ

กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน คืออะไร

กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive bladder) เป็นปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการกักเก็บปัสสาวะของกระเพาะปัสสาวะทำให้เกิดอาการปวดปัสสาวะกะทันหัน และกลั้นปัสสาวะได้ยากเพราะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไป ปัสสาวะจึงเล็ดโดยไม่ตั้งใจ

สุขภาพของกระเพาะปัสสาวะและไต การกลั้นปัสสาวะ และปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินได้ทั้งสิ้น

กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินพบได้บ่อยแค่ไหน

ประชากรหลายล้านคนทั่วโลกมีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน จากข้อมูลของ The National Association for Continence (NAFC) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า 1 ใน 5 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ได้รับผลกระทบจากภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรืออาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งเกิดขึ้นกะทันหันและเกิดซ้ำบ่อยครั้ง โดยร้อยละ 85 ของคนกลุ่มนี้เป็นผู้หญิง นอกจากนี้ ผู้หญิง 1 ใน 4 คน มีอาการปัสสาวะเล็ดได้ในบางครั้ง

อย่างไรก็ดี โรคนี้สามารถจัดการได้โดยลดความเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน

ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินอาจก่อให้เกิดอาการต่างๆ ดังนี้

  • รู้สึกปวดปัสสาวะกะทันหันและควบคุมได้ยาก
  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และปัสสาวะเล็ดโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเกิดขึ้นทันทีหลังปวดปัสสาวะ
  • ปัสสาวะบ่อย โดยปกติแล้ว คนส่วนใหญ่ปัสสาวะประมาณ 8 ครั้งหรือมากกว่าในเวลา 24 ชั่วโมง
  • ตื่นมาปัสสาวะในเวลากลางคืนมากกว่า 2 ครั้ง
  • เมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะ แม้จะเข้าห้องน้ำได้ทัน แต่ก็ปวดปัสสาวะบ่อย จู่ๆ ก็ปวดปัสสาวะ หรือปวดปัสสาวะเวลากลางคืนเป็นประจำจนรบกวนชีวิตประจำวัน

ควรไปพบหมอเมื่อใด

ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินพบได้มากในผู้สูงอายุ แต่คนวัยอื่นก็อาจประสบปัญหานี้ได้เช่นกัน หากพบว่ามีอาการต่างๆ ที่รบกวนชีวิตประจำวัน ควรพิจารณาถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทางเลือกต่างๆ ในการจัดการ วิธีการรักษาทางการแพทย์ก็เป็นทางเลือกที่ช่วยได้

หากคุณมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการใดๆ ตามที่ระบุข้างต้น หรือมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์ เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดจึงควรพูดคุยกับคุณหมอ เพื่อหาแนวทางในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน

สาเหตุยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่อาจเป็นเพราะกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะทำงานมากเกินไปและบีบตัวผิดปกติ

โดยปกติแล้ว กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะจะคลายตัวในขณะที่เริ่มมีน้ำปัสสาวะ เมื่อกระเพาะปัสสาวะค่อยๆ ขยายตัวออกและมีน้ำปัสสาวะอยู่ประมาณครึ่งหนึ่ง ร่างกายจะกระตุ้นให้เรารู้สึกปวดปัสสาวะ คนส่วนใหญ่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ช่วงหนึ่งหลังจากเริ่มรู้สึกปวดปัสสาวะจนกระทั่งถึงเวลาที่สะดวกที่จะไปเข้าห้องน้ำ

อย่างไรก็ดี ในผู้ที่มีอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน กระเพาะปัสสาวะอาจรู้สึกว่ามีน้ำปัสสาวะมากกว่าความเป็นจริง โดยกระเพาะปัสสาวะจะหดตัวได้เร็วขึ้นแม้ว่าน้ำปัสสาวะยังไม่เต็ม ทำให้ต้องการเข้าห้องน้ำทันที

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของการเกิดกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน โดยอาการอาจรุนแรงขึ้นเมื่อมีความเครียด หรือเมื่อได้รับคาเฟอีนในชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ในบางกรณี กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินยังเป็นอาการแทรกซ้อนของโรคที่สัมพันธ์กับเส้นประสาทหรือสมองได้อีกด้วย เช่น

  • เกิดขึ้นหลังจากโรคหลอดเลือดสมอง
  • เกิดขึ้นร่วมกับโรคพาร์กินสัน
  • เกิดขึ้นร่วมกับโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  • เกิดขึ้นหลังจากการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง

นอกจากนี้ อาการที่คล้ายกันอาจเกิดขึ้นหากมีการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะหรือมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

โดยอาการที่เกิดจากภาวะข้างต้นนี้ไม่จัดว่าอยู่ในกลุ่มอาการเฉพาะของ กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน เนื่องจากทราบสาเหตุชัดเจน

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน

อายุที่มากขึ้นเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน นอกจากนี้ ผู้สูงวัยยังมีความเสี่ยงสูงขึ้นในการเกิดโรคและอาการผิดปกติต่างๆ เช่น ต่อมลูกหมากโต โรคเบาหวาน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของกระเพาะปัสสาวะได้

คนจำนวนมากที่มีความสามารถทางสมองหรือการรับรู้ลดลงหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หรือเกิดร่วมกับโรคอัลไซเมอร์ มักเกิดอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินได้เช่นกัน การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในกรณีนี้สามารถจัดการได้ด้วยการจัดตารางการบริโภคของเหลว และตารางการขับปัสสาวะ ควรปัสสาวะให้เป็นเวลาและทันเวลา และสวมใส่เสื้อผ้าที่ช่วยซึมซับปัสสาวะ

นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินอาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมลำไส้ได้ด้วย หากเกิดปัญหาดังกล่าว ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

วิธีวินิจฉัยภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน

หากมีอาการปวดปัสสาวะผิดปกติ แพทย์จะทำการตรวจเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการติดเชื้อหรือเลือดในปัสสาวะ รวมถึงตรวจหาปัจจัยบ่งชี้ของการเกิดภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน เช่น

  • ตรวจสอบประวัติสุขภาพ
  • ตรวจร่างกายโดยเน้นบริเวณช่องท้องและอวัยวะเพศ
  • ตรวจตัวอย่างปัสสาวะเพื่อหาการติดเชื้อ การปนเลือด หรือสิ่งผิดปกติอื่นๆ
  • ตรวจทางประสาทวิทยาโดยเฉพาะที่อาจจำแนกปัญหาเกี่ยวกับประสาทหรือปฏิกิริยาตอบสนองฉับพลันที่ผิดปกติ

แพทย์อาจสั่งให้มีการตรวจพลศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อประเมินการทำงานของกระเพาะปัสสาวะและความสามารถในการขับปัสสาวะว่าอยู่ในอัตราคงที่และขับออกได้ทั้งหมดหรือไม่ การตรวจดังกล่าวจำเป็นต้องมีการส่งต่อไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยมีวิธีการดังนี้

  • การวัดปัสสาวะที่หลงเหลือในกระเพาะปัสสาวะ

ในการตรวจปัสสาวะที่ตกค้างหลังจากขับปัสสาวะ แพทย์จะให้มีการตรวจอัลตราซาวด์ที่กระเพาะปัสสาวะหรืออาจใส่สายสวนผ่านทางท่อปัสสาวะไปยังกระเพาะปัสสาวะเพื่อระบายและวัดปัสสาวะที่หลงเหลืออยู่

  • การวัดอัตราการไหลของปัสสาวะ

ในการวัดปริมาณและความเร็วในการขับปัสสาวะ ผู้เข้ารับการตวรจต้องปัสสาวะใส่เครื่องมือวัดการไหลของปัสสาวะ เครื่องมือนี้จะแปลงข้อมูลเป็นกราฟบันทึกความเปลี่ยนแปลงในอัตราการไหลของปัสสาวะ

  • การทดสอบแรงดันกระเพาะปัสสาวะด้วยเครื่อง Cystometry 

เป็นการวัดแรงดันในกระเพาะปัสสาวะและบริเวณโดยรอบในระหว่างที่มีน้ำปัสสาวะอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ โดยแพทย์จะค่อยๆ เติมน้ำอุ่นเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะผ่านสายสวนปัสสาวะ พร้อมกับใส่สายสวนปัสสาวะอีกเส้นที่มีเครื่องมือตรวจวัดความดันเข้าไปในทวารหนักหรือในช่องคลอด การทดสอบนี้มักใช้กับผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทที่ส่งผลต่อไขสันหลัง

แพทย์จะอธิบายเกี่ยวกับผลการทดสอบให้ทราบและแนะนำวิธีการรักษาต่อไป

วิธีรักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน

แพทย์อาจจะแนะนำวิธีการรักษาหลายวิธีร่วมกันเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นทางเลือกแรกในการช่วยจัดการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมักได้ผลดีและไม่มีผลข้างเคียง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่แนะนำ ได้แก่

  • การออกกำลังกายกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานด้วยการขมิบ ทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและกล้ามเนื้อหูรูดปัสสาวะแข็งแรงขึ้น
  • รักษาน้ำหนักร่างกายให้เหมาะสม หากมีน้ำหนักเกิน การลดน้ำหนักอาจบรรเทาอาการได้ ทั้งยังช่วยลดอาการปัสสาวะเล็ดได้อีกด้วย
  • จำกัดปริมาณการบริโภคของเหลว โดยแพทย์อาจแนะนำปริมาณและเวลาในการบริโภคของเหลวที่เหมาะสมกับคุณ
  • ถ่ายปัสสาวะซ้ำหลังจากปัสสาวะครั้งแรกแล้วประมาณ 2-3 นาที เพื่อช่วยให้ขับปัสสาวะออกได้หมดเกลี้ยงจริงๆ

การใช้ยา

การใช้ยาที่ช่วยคลายกระเพาะปัสสาวะมีประโยชน์ในการบรรเทาอาการต่างๆ ของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินและลดความถี่ในการเกิดปัสสาวะเล็ด ยาเหล่านี้ ได้แก่

  • ยาโทลเทอโรดีน (Tolterodine) เช่น เดทรอล (Detrol)
  • ยาดิโทรพิน เอ็กซ์แอล (Ditropan XL)
  • ยาอ็อกซีบูไทนิน (Oxybutynin) แบบแผ่นแปะผิวหนัง เช่น อ็อกซีทอรล (Oxytrol)
  • เจลอ็อกซีบูไทนิน (Oxybutynin) เช่น เจลนิค (Gelnique)
  • ยาทรอสเปียม (Trospium) เช่น แซงก์ตูร่า (Sanctura)
  • ยาโซลิเฟนาซิน (Solifenacin) เช่น เวสิแคร์ (Vesicare)
  • ยาดาริเฟนาซิน (Darifenacin) เช่น อีนาเบลกซ์ (Enablex)
  • ยามีราบีกรอน (Mirabegron) เช่น เมียร์บีทริก (Myrbetriq)
  • ยาฟีโซเทโรไดน์ (Fesoterodine) เช่น โทเวียซ (Toviaz)

การฉีดยาที่กระเพาะปัสสาวะ

โอนาโบทูลินัมท็อกซินเอ (OnabotulinumtoxinA) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าโบทอกซ์ (Botox) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งจากแบคทีเรียที่ทำให้เกิดพิษจากอาหาร (Botulism) โดยแพทย์จะใช้โบท็อกซ์ปริมาณเพียงเล็กน้อยฉีดเข้าไปในเนื้อเยื่อกระเพาะปัสสาวะโดยตรง โดยจะทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนไร้ความรู้สึก

การวิจัยทางคลินิกแสดงให้เห็นว่าการฉีดยาที่กระเพาะปัสสาวะอาจมีประโยชน์สำหรับอาการปัสสาวะเล็ดรุนแรง แต่ไม่มีการยืนยันจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาสำหรับวัตถุประสงค์ในการใช้นี้ โดยในผู้ป่วยที่ไม่มีโรคเกี่ยวกับประสาท ผลของยาฉีดจะอยู่ชั่วคราว คือ ประมาณ 6-9 เดือน

อย่างไรก็ตาม ยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงให้การขับปัสสาวะแย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพอื่นๆ อยู่แล้ว หากกำลังพิจารณาการรักษาด้วยโบทอกซ์ ควรศึกษาข้อมูลให้ดีและสามารถใช้สายสวนปัสสาวะอย่างถูกต้องด้วยตัวเองหากมีอาการปัสสาวะไม่ออก

การกระตุ้นประสาท

การควบคุมกระแสประสาทไปยังกระเพาะปัสสาวะสามารถทำให้อาการต่างๆ ของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินดีขึ้นได้

วิธีการคือ ใช้สายลวดขนาดเล็กใส่เข้าไปใกล้เส้นประสาทบริเวณกระดูกสันหลังส่วนกระเบนเหน็บซึ่งจะทำหน้าที่ส่งสัญญาณไปยังกระเพาะปัสสาวะ

ทั้งนี้ การกระตุ้นประสาทโดยใช้ลวดมักเริ่มโดยใช้สายลวดชั่วคราวก่อน หากมั่นใจแล้วจึงผ่าตัดนำเครื่องมือกระตุ้นชีพจรชนิดใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ใส่ลงไปแทนที่ โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือเชื่อมต่อกับสายลวดแล้วส่งกระแสไฟฟ้าไปยังกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งคล้ายคลึงกับผลของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ

หากวิธีนี้บรรเทาอาการลงได้ สายลวดจะถูกเชื่อมต่อกับแบตเตอรี่ขนาดเล็กที่ฝังอยู่ใต้ผิวหนัง

การผ่าตัด

การผ่าตัดเพื่อรักษากระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินมีไว้สำหรับผู้มีอาการรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น วัตถุประสงค์ของการผ่าตัดเพื่อให้กระเพาะปัสสาวกักเก็บน้ำปัสสาวะได้มากขึ้น รวมทั้งลดแรงดันในกระเพาะปัสสาวะ อย่างไรก็ดี ขั้นตอนเหล่านี้ไม่ช่วยบรรเทาอาการปวดกระเพาะปัสสาวะได้ ขั้นตอนของการผ่าตัดดังกล่าว ได้แก่

  • การผ่าตัดเพื่อเพิ่มความจุของกระเพาะปัสสาวะ

ขั้นตอนนี้ใช้ชิ้นส่วนของลำไส้มาแทนที่พื้นที่บางส่วนของกระเพาะปัสสาวะ การผ่าตัดนี้ใช้ในกรณีที่มีอาการปัสสาวะเล็ดรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาทั่วไป หากผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดนี้ อาจจำเป็นต้องใช้สายสวนปัสสาวะเป็นระยะเพื่อช่วยขับปัสสาวะไปตลอดชีวิต

  • การผ่าตัดนำกระเพาะปัสสาวะออก

วิธีนี้ใช้เป็นตัวช่วยสุดท้าย โดยเป็นการผ่าตัดนำกระเพาะปัสสาวะออกและติดตั้งเครื่องมือหรือเจาะช่องเปิดเพื่อติดถุงเข้ากับผิวหนังเพื่อทำหน้าที่กักเก็บปัสสาวะแทนกระเพาะปัสสาวะเดิม

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยรับมือกับภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ดังต่อไปนี้อาจช่วยลดอาการต่างๆ ได้

  • รักษาน้ำหนักให้เหมาะสม หากมีน้ำหนักเกิน การลดน้ำหนักอาจช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ได้ ผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่ายังคงมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะเกิดภาวะปัสสาวะเล็ดจากแรงกด ซึ่งอาการจะดีขึ้นได้เมื่อน้ำหนักลดลง
  • จัดตารางการดื่มของเหลว ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปริมาณของเหลวที่ต้องการในแต่ละวัน ผู้ที่สามารถลดการดื่มของเหลวลงได้ประมาณร้อยละ 25 อาจช่วยให้อาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินที่เป็นอยู่ลดลงได้
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลลกอฮอล์ เนื่องจากอาจทำให้อาการแย่ลงได้

หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Overactive bladder. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/overactive-bladder/basics/lifestyle-home-remedies/con-20027632. Accessed 19 Feb, 2017.

Overactive bladder. http://www.healthline.com/health/overactive-bladderAccessed 19 Feb, 2017.

Overactive bladder. http://www.healthline.com/health-slideshow/overactive-bladder-symptoms. Accessed 19 Feb, 2017.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattavara Pasathan


บทความที่เกี่ยวข้อง

สีปัสสาวะ บอกโรค มาดูกันสิว่าปัสสาวะสีไหน บ่งบอกโรคอะไรบ้าง

อาการที่บอกได้ว่าคุณกำลังมี โรคของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา