สุขภาพกับอายุเป็นสิ่งที่สวนทางกัน อายุที่มากขึ้นทุกวัน ความแข็งแรงของร่างกายก็กลับเสื่อมถอยลงไปทุกปี เพราะอวัยวะที่ใช้งานมาอย่างหนักเริ่มเกิดความเสื่อมไปตามวัย ตรวจสุขภาพประจําปี จึงเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งอายุมากยิ่งต้องตรวจเป็นประจำทุกปี
[embed-health-tool-bmi]
ความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจําปี
ก่อนที่ร่างกายจะแสดงอาการเจ็บป่วยออกมา การตรวจสุขภาพประจําปีเพื่อดูแลสุขภาพ ส่งเสริมให้ร่างกายแข็งแรงนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อค้นหาความเสี่ยงหรือโอกาสการเกิดโรคในอนาคต เตรียมพร้อม ป้องกัน หรือรักษาโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ
การตรวจเช็คสุขภาพจะช่วยพยากรณ์โอกาสการเกิดโรค ความเสี่ยงของโรค หรือค้นหาโรค ที่ซ่อนอยู่ในร่างกาย เมื่อพบเร็วการรักษาให้หายขาดก็ง่ายขึ้น หรือถ้าพบความเสี่ยงของโรคบางชนิด การรู้ก่อนจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคนั้นได้ ซึ่งร่างกายของคนทุกคนล้วนมีความเสี่ยงในการเกิดโรคอยู่แล้ว หากใช้ชีวิตโดยไม่ป้องกันการเกิดโรคเลย เมื่อเกิดโรคแล้ว อาการอาจรุนแรง รักษาได้ยาก บางโรคอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่นเพิ่มเติมเข้ามา หากการดำเนินโรคนั้นเข้าสู่ระยะที่หนักขึ้น
กลุ่มไหนที่ควรตรวจสุขภาพประจําปี
ตั้งแต่แรกเกิด วัยทารกจวบจนผู้สูงวัย ควรได้รับการตรวจสุขภาพประจําปี แต่ละกลุ่มมีแนวทางการตรวจสุขภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม กระทรวงสาธารณสุข ได้แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่น อายุ 0-18 ปี
- กลุ่มวัยทำงาน อายุ18-60 ปี ช่วงวัยที่ควร ตรวจสุขภาพประจําปี
- กลุ่มวัยผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป ช่วงวัยที่ควรตรวจสุขภาพประจําปี หรือตรวจสุขภาพเป็นประจำตามที่แพทย์แนะนำ
- กลุ่มหญิงมีครรภ์
ตรวจสุขภาพประจําปี โรงพยาบาลรัฐกับโรงพยาบาลเอกชน ต่างกันหรือไม่
โปรแกรมตรวจสุขภาพสามารถเลือกได้หลายรายการ เกณฑ์การตรวจสุขภาพควรแบ่งตามช่วงอายุเพื่อความเหมาะสม และโอกาสเกิดโรคในแต่ละช่วงวัย โดยการตรวจสุขภาพที่สำคัญ เช่น
- การตรวจทั่วไป เช่น การตรวจปัสสาวะ การตรวจตา/การตรวจสายตา และการตรวจร่างกายการคัดกรองการได้ยิน
- การตรวจความดันโลหิต ช่วงอายุที่เหมาะสม คือ 20-30 ปี
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป
- การตรวจการทำงานของไต เมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป
- การตรวจการทำงานของตับ เมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป
- การตรวจไขมันในเลือด เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ในผู้ใหญ่ที่เคยตรวจแล้วไขมันในเลือดปกติ อาจเว้นไม่ต้องตรวจทุกปีก็ได้ ส่วนการตรวจน้ำตาลในเลือด ควรตรวจเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป ในผู้ใหญ่ที่เคยตรวจแล้วไม่ได้เป็นเบาหวาน สามารถเว้นไปตรวจทุก 3 ปี แต่เมื่ออายุ 60 ปี ขึ้นไปควรตรวจทั้ง 2 อย่างเป็นประจำทุกปี
- การเอ็กเรย์ ปอด หัวใจ ในช่วงอายุน้อยกว่า 40 ปี
- การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง เช่น การตรวจมะเร็งเต้านมโดยแพทย์ ในช่วงอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ส่วนการตรวจมะเร็งปากมดลูก เริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 40 ปี ซึ่งผู้หญิงที่เคยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการเก็บเซลล์โดยวิธีพื้นฐาน (Conventional Pap Smear) แล้วพบว่าปกติ ก็สามารถเว้นไปตรวจทุก ๆ 3 ปีได้
ในโรงพยาบาลเอกชนจะมีโปรแกรมการตรวจพิเศษ ซึ่งจะมีการตรวจคัดกรองหลายรายการ อาจใช้นวัตกรรมใหม่ ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เครื่องมือทางการแพทย์ หรือแล็บ ที่ช่วยให้การตรวจสุขภาพละเอียดมากขึ้นได้ เช่น โปรแกรมเจาะเลือดตรวจคัดกรองมะเร็ง 10 รายการ หรือการตรวจยีนเพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
การตรวจสุขภาพประจําปี ช่วยให้ผู้ที่ยังไม่ป่วย อาจค้นพบโรคที่ซ่อนอยู่เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที รับรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค นำมาสู่วิธีดูแลสุขภาพ การป้องกัน ให้ผู้ตรวจได้ปรับพฤติกรรม เลือกอาหารการกินที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคในอนาคต