backup og meta

ไขข้อสงสัย วัคซีนคืออะไร? อันตรายจริงไหม?

วัคซีน คือ สารที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค โดยเลียนแบบการติดเชื้อ ทำให้ร่างกายสามารถจดจำและป้องกันโรคนั้นได้ในอนาคต โดยไม่ต้องป่วยก่อน วัคซีนถือเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่สำคัญที่สุด ช่วยลดอัตราการตายและโรคภัยไข้เจ็บทั่วโลก แต่หลายคนยังคงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีน บทความนี้จะช่วยไขข้อสงสัยว่าวัคซีนอันตรายจริงหรือไม่ พร้อมอธิบายความเข้าใจผิด ๆ ที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับวัคซีน

[embed-health-tool-vaccination-tool]

วัคซีนคืออะไร และทำงานอย่างไร

วัคซีนคือสารกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อเชื้อโรค เพื่อช่วยป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรค โดยเลียนแบบการติดเชื้อ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเรียนรู้ที่จะจดจำและป้องกันโรคในอนาคต โดยที่ไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรคนั้นก่อน

ชนิดของวัคซีนสามารถแบ่งออกได้หลายประเภทตามวิธีการผลิต ดังนี้

  • วัคซีนชนิดเชื้อตาย ใช้เชื้อโรคที่ตายแล้วเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโปลิโอ วัคซีนพิษสุนัขบ้า
  • วัคซีนชนิดเชื้อเป็น ใช้เชื้อโรคที่ถูกทำให้อ่อนแรงหรือหมดฤทธิ์จนไม่สามารถก่อโรคได้ แต่ยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ เช่น วัคซีนโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน และวัคซีนป้องกันวัณโรค
  • วัคซีนที่ผลิตจากพิษของเชื้อโรค ใช้พิษของเชื้อโรคที่ถูกทำให้หมดฤทธิ์เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เช่น วัคซีนบาดทะยัก และวัคซีนคอตีบ

วัคซีนแต่ละชนิดมีวิธีการผลิตที่แตกต่างกัน แต่ทุกชนิดต้องผ่านการทดสอบอย่างเข้มงวดเพื่อความปลอดภัย

การใช้วัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค นอกจากจะมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรค ช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคร้ายแรงมากมาย ยังสามารถช่วยให้สังคมได้รับประโยชน์จากภูมิคุ้มกันกลุ่ม ซึ่งเกิดจากการที่คนส่วนใหญ่ในสังคมได้รับการเสริมภูมิคุ้มกันจากวัคซีน ส่งผลให้โรคบางอย่างมีโอกาสในการแพร่กระจายน้อยลงอีกด้วย

วัคซีนอันตรายจริงไหม

แม้ว่าการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคจะเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายใจปัจจุบัน แต่หลายคนก็อาจจะมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของการฉีดวัคซีน คิดว่าวัคซีนอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย

จริง ๆ แล้ว วัคซีนไม่อันตรายหากใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันล้วนผ่านการทดสอบและการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเข้มงวดก่อนนำมาใช้งานจริง ส่วนผสมในวัคซีน เช่น ไธเมอโรซอล ฟอร์มาลดีไฮด์ หรืออะลูมิเนียม ถูกใช้ในปริมาณต่ำมากและปลอดภัยกว่าปริมาณที่เราพบในชีวิตประจำวันจากอาหาร น้ำดื่ม หรือสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าจะยังมีโอกาสผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด หรือมีไข้ต่ำๆ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาปกติของร่างกายที่สร้างภูมิคุ้มกัน และมักหายไปภายในไม่กี่วัน ในขณะที่ผลข้างเคียงรุนแรงนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก และมักเกี่ยวข้องกับการแพ้ส่วนประกอบในวัคซีน

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของวัคซีนนั้นมีมากกว่าความเสี่ยง เนื่องจากวัคซีนช่วยป้องกันโรคร้ายแรง ลดการแพร่ระบาด และช่วยรักษาสุขภาพของสังคมโดยรวม การหลีกเลี่ยงวัคซีนอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคที่ป้องกันได้และส่งผลเสียต่อสุขภาพของตนเองและผู้อื่น

ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับวัคซีน

  • วัคซีนก่อให้เกิดออทิสติก

ความเชื่อที่ว่า วัคซีนอาจทำให้เกิดโรคออทิสติก ซึ่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กและทารกนั้นไม่เป็นความจริง ส่วนงานวิจัยที่อ้างถึงประเด็นนี้ในปัจจุบันได้ถูกหักล้างและถอนออกเนื่องจากข้อมูลที่บิดเบือน และไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน

  • วัคซีนไม่จำเป็นหากสุขภาพแข็งแรง

บางคนคิดว่าหากตัวเองมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงดีพอแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องรับวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน แต่จริง ๆ แล้ว การฉีดวัคซีนนอกจากจะช่วยปกป้องตัวผู้ที่ฉีดแล้ว ยังสามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อ ช่วยปกป้องผู้ที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ เช่น เด็กเล็ก หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ดังนั้น จึงควรฉีดวัคซีนเพื่อช่วยปกป้องตัวเองและคนในชุมชน

  • ส่วนประกอบในวัคซีนเป็นพิษ

หลายคนเชื่อว่าสารบางชนิดในวัคซีน เช่น ไธเมอโรซอล (สารประกอบที่มีปรอท) ฟอร์มาลดีไฮด์ และอะลูมิเนียม เป็นพิษต่อร่างกายและอาจทำให้เกิดโรคร้ายแรง เช่น ออทิสติก หรือผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย แต่จริง ๆ แล้ว วัคซีนได้รับการออกแบบให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ และสารทุกชนิดที่ใช้ในวัคซีนล้วนอยู่ในปริมาณที่ร่างกายสามารถจัดการได้อย่างปลอดภัย

สุดท้ายนี้ วัคซีนที่ใช้กันในปัจจุบันล้วนผ่านการออกแบบและได้รับการทดสอบความปลอดภัยต่อสุขภาพ ซึ่งได้รับการพิสูจน์ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ อีกทั้งประโยชน์ในการรับวัคซีนยังมีมากกว่าข้อเสีย ดังนั้น จึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนตามแผนสร้างเสริมความคุ้มกันที่แต่ละประเทศกำหนด หรือหากมีข้อกังวลก็ควรพิจารณาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น WHO หรือหน่วยงานสาธารณสุข ก่อนการตัดสินใจ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

https://vaccination-info.europa.eu/en/about-vaccines/vaccine-safety-and-side-effects#:~:text=As%20with%20any%20medicine%2C%20vaccines,allergies%20or%20certain%20health%20conditions

https://historyofvaccines.org/getting-vaccinated/vaccine-faq/vaccine-side-effects-and-adverse-events

https://www.who.int/news-room/questions-and-answers/item/vaccines-and-immunization-vaccine-safety

https://www.nhs.uk/vaccinations/why-vaccination-is-important-and-the-safest-way-to-protect-yourself/

https://www.aaaai.org/tools-for-the-public/conditions-library/allergies/vaccine-myth-fact

https://vaccinateyourfamily.org/questions-about-vaccines/are-vaccines-safe/

https://www.hfocus.org/content/2024/10/31932

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/04/2025

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ ควรฉีดตัวไหนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อที่พบบ่อย

โรคไวรัสตับอักเสบบี คือโรคอะไร ใครควรได้รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี


ตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง โดย ทีม Hello คุณหมอ · เขียน โดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไข 28/04/2025

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา