เพลียแดด (Heat exhaustion) เป็นอาการที่เกิดขึ้นเนื่องจากอากาศร้อน ร่วมกับความชื้นสูง และการออกกำลังกายอย่างหนัก ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงมากเกินไป จนเกิดอาการต่าง ๆ
[embed-health-tool-heart-rate]
คำจำกัดความ
เพลียแดด คืออะไร
เพลียแดด (Heat exhaustion) เป็นอาการที่เกิดขึ้นเนื่องจากอากาศร้อน ร่วมกับความชื้นสูง และการออกกำลังกายอย่างหนัก ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงมากเกิน และเกิดอาการต่าง ๆ เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก หรือตะคริว และมักจะเกิดขึ้นพร้อมกับภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
โดยปกติภาวะเพลียแดดนี้จะไม่มีอาการที่เป็นอันตรายอะไร และสามารถหายได้เพียงแค่นั่งพักในที่ร่มประมาณ 30 นาที แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษา ก็อาจจะนำไปสู่ภาวะเป็นลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heatstroke) ซึ่งอาจเป็นอันตราย และจำเป็นต้องรับการรักษาฉุกเฉินได้
เพลียแดด พบบ่อยแค่ไหน
ภาวะเพลียแดดพบได้ค่อนข้างบ่อยในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีอาการร้อน และมีความชื้นสูง ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และอาจจะพบได้บ่อยกับผู้ที่ต้องออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น นักกีฬา หรือนักเรียนที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง เป็นต้น
อาการ
อาการของภาวะเพลียแดด
สัญญาณและอาการที่พบได้บ่อยของภาวะเพลียแดด มีดังต่อไปนี้
- เหนื่อยล้า
- ปวดหัว
- เหงื่อออกมาก
- ผิวเย็น หรือมีอาการขนลุก แม้ว่าจะมีอากาศร้อน
- สับสน
- วิงเวียน หน้ามืด
- หัวใจเต้นเร็ว
- ความดันโลหิตต่ำ
- ตะคริว
- คลื่นไส้
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
หากคุณมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุข้างต้น หรือสงสัยว่าตัวเองอาจจะมีภาวะเพลียแดด ควรจะหยุดพักกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ หลบไปพักในที่ร่ม หรือที่ที่เย็นและมีอากาศถ่ายเท และดื่มน้ำหรือสปอร์ตดริงค์ เพื่อชดเชยน้ำและแร่ธาตุที่เสียไปกับเหงื่อ
หลังจากพักเป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง หากอาการของภาวะเพลียแดดยังคงไม่หายไป มีอาการรุนแรงขึ้น หรือมีสัญญาณของภาวะฮีทสโตรก เช่น
- สับสน
- หมดสติ
- ดื่มน้ำไม่ได้
ควรรีบติดต่อแพทย์เพื่อรับการรักษาฉุกเฉินในทันที
หากมีคำถามเกี่ยวกับอาการของโรคโปรดปรึกษาแพทย์
ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของภาวะเพลียแดด
สาเหตุหลัก ๆ ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะเพลียแดดนั้น เป็นเพราะอุณหภูมิที่สูงเนื่องจากอากาศร้อน ตามปกติแล้ว เมื่อมีอากาศร้อน ร่างกายของเราจะสามารถระบายความร้อนของร่างกายออกไปด้วยผ่านทางเหงื่อ แต่ในสภาวะบางอย่าง เช่น
- การออกกำลังกายอย่างหนัก
- ความชื้นสูง
- การขาดน้ำ
ก็อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนผ่านทางเหงื่อได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายสูงเกินไป และเกิดเป็นภาวะเพลียแดดได้ในที่สุด
โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะเพลียแดด
ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเพลียแดด มีดังต่อไปนี้
- สภาพอากาศ หากคุณอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนจัด หรืออยู่ในที่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ก็อาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเพลียแดดได้
- อายุ เด็กอายุไม่เกิน 4 ขวบ และผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป อาจจะไม่สามารถปรับตัวในสภาพอากาศร้อนจัดได้ดีเท่ากับคนในช่วงวัยอื่น
- โรค ผู้ที่มีสภาวะบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคปอด โรคไต โลหิตจาง หรือความดันโลหิตสูง อาจจะมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะเกิดภาวะเพลียแดด
- ยา การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาระงับประสาท ยาลดความดัน ยารักษาโรคหัวใจ หรือยารักษาโรคทางจิตเวชอื่น ๆ อาจส่งผลให้คุณมีโอกาสเกิดภาวะเพลียแดดได้มากขึ้น
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยภาวะเพลียแดด
หากคุณเข้ารับการรักษาเนื่องจากสงสัยว่าอาจจะเป็นภาวะเพลียแดด แพทย์ก็อาจจะต้องทำการวินิจฉัยด้วยการทดสอบต่าง ๆ เพื่อยืนยันให้แน่ชัดว่าเป็นภาวะเพลียแดดจริง ๆ โดยอาจต้องใช้การทดสอบดังต่อไปนี้
- ตรวจเลือด เพื่อวัดระดับของโซเดียม (Sodium) หรือโพแทสเซียม (Potassium) ในเลือดว่าต่ำหรือไม่ และตรวจดูว่ามีแก๊สในเลือดหรือไม่
- ตรวจปัสสาวะ เพื่อดูความเข้มข้นของปัสสาวะ และดูการทำงานของไตว่าผิดปกติหรือไม่
- ตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อ เพื่อดูว่ามีความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหรือไม่
- ตรวจเอกซเรย์และการฉายภาพอื่น ๆ เพื่อตรวจดูความเสียหายของอวัยวะภายใน
การรักษา
การรักษาภาวะเพลียแดด มักจะใช้วิธีดังต่อไปนี้
- นั่งพักในที่ร่ม หรือสถานที่ที่มีอุณภูมิเย็น และอากาศถ่ายเท เช่น ใต้ต้นไม้ หรือในห้องแอร์ เพื่อช่วยปรับอุณหภูมิของร่างกายให้ลดลง
- ดื่มน้ำ หรือเครื่องดื่มเกลือแร่ เพื่อชดเชยน้ำและแร่ธาตุที่ร่างกายเสียไป
- หาทางลดความเย็นของร่างกาย เช่น อาบน้ำ เช็ดตัวด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำเย็น หรือนั่งจ่อพัดลม
- ปลดกระดุม เข็มขัด และพยายามคลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก ให้หายใจได้สะดวกมากขึ้น
นอกจากนี้ แพทย์ก็อาจจะใช้การรักษาสำหรับภาวะฮีทสโตรกร่วมด้วย เช่น
- นำตัวผู้ป่วยลงแช่ในน้ำเย็น
- พ่นด้วยไอน้ำเย็นเพื่อลดอุณหภุมิของร่างกาย
- ประคบเย็นด้วยน้ำแข็ง
- ให้ยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ที่จะทำให้การลดอุณหภุมิของร่างกายเป็นไปได้ยากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับภาวะเพลียแดด
การเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการเยียวยาตนเอง ที่อาจช่วยรับมือภาวะเพลียแดดด้วยตนเอง มีดังนี้
- เลือกสวมเสื้อผ้าที่เบาสบาย ไม่รัดรูปเกินไป และไม่หนาหรือหลายชั้นจนเกินไป
- ทาครีมกันแดด
- ดื่มน้ำให้สม่ำเสมอ
- ไม่ออกกำลังกายอย่างหนักกลางแจ้ง
หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ