SLE คือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรืออาจเรียกว่า “โรคพุ่มพวง” ที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำลายเนื้อเยื่อร่างกายของตัวเอง ส่งผลให้เกิดการอักเสบที่อาจสามารถส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น เซลล์เม็ดเลือด ข้อต่อ ผิวหนัง ไต สมอง หัวใจ ปอด โรคแพ้ภูมิตัวเองไม่มีทางรักษาให้หายขาด แต่การรักษาอาจช่วยควบคุมหรือบรรเทาอาการได้
SLE คืออะไร
โรค Systemic Lupus Erythematosus หรือ SLE คือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเซลล์เม็ดเลือดขาวทำงานผิดปกติ โดยปกติแล้ว เม็ดเลือดขาวจะมีหน้าที่ในการกำจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม แต่ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเองนั้นระบบภูมิกันกลับไปทำลายเนื้อเยื่อร่างกายของตัวเอง เนื่องจากอาจเข้าใจผิดว่าเป็นเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ข้อต่อ ผิวหนัง ไต
อาการของ SLE
อาการของ SLE หรือโรคแพ้ภูมิตัวเองอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยอาการที่พบได้ทั่วไป อาจมีดังนี้
- มีไข้
- มีแผลบริเวณเพดานปาก
- มีผื่นสีแดงรูปผีเสื้อบริเวณจมูกและแก้ม หรือตามลำตัว
- ปวดศีรษะ สับสน มึนงง
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีแรง
- หายใจถี่ หรือหายใจลำบาก
- เจ็บหน้าอก
- ตาแห้ง
- ผิวไวต่อแสงแดดได้ง่ายกว่าปกติ
- ผมร่วง
- ปวดข้อต่อ หรือข้อต่อบวม
- ความจำเสื่อม หรือสูญเสียความทรงจำ
- เกล็ดเลือดต่ำ ส่งผลให้ผิวซีด
ทั้งนี้ หากมีผื่นขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ อ่อนเพลีย ปวดข้อต่อ ปวดศีรษะ มีไข้ต่อเนื่อง ควรไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและการรักษาตามความเหมาะสม
สาเหตุของ SLE
อาจยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของ SLE แต่โรคนี้อาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ได้ดังนี้
- พันธุกรรม พันธุกรรมที่ส่งต่อกันมาไม่ว่าจะเป็นโรคหรืออาการบางอย่าง อาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคแพ้ภูมิตัวเองได้
- ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ระบบภูมิกันทำลายเนื้อเยื่อร่างกายของตัวเองแทนที่จะป้องกันเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาความดันโลหิต ยาต้านอาการชัก
- การติดเชื้อ การได้รับเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียบางชนิด
- ปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น แสงแดด ความเครียด สารเคมี สิ่งเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยไปกระตุ้นทำให้เกิดอาการโรคแพ้ภูมิตัวเองได้
- เพศ โรคแพ้ภูมิตัวเองอาจพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
การรักษาโรค SLE
แม้โรคแพ้ภูมิตัวเองยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่อาจควบคุมอาการของโรคได้ด้วยการรับประทานยา เช่น
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น เมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone) เพื่อช่วยลดการอักเสบ
- ยาต้านอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น นาพรอกเซน (Naproxen) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อรักษาอาการปวด บวม
- ยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อกดหรือยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดด งดสูบบุหรี่ เพราะอาจช่วยลดการกำเริบของโรคได้ อีกทั้งควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจร่างกายและอาการของโรคเป็นประจำหรือตามที่คุณหมอนัด
[embed-health-tool-bmi]