backup og meta

ปวดหัวตุ๊บๆ สาเหตุ และวิธีรักษา

ปวดหัวตุ๊บๆ สาเหตุ และวิธีรักษา

อาการปวดหัว สามารถเกิดขึ้นได้ทุกวันและทุกช่วงเวลา โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกตึงเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือเจ็บป่วย ที่ทำให้รู้สึกเหมือนมีแรงกดหรือรู้สึกปวดจี๊ด ๆ ภายในหัว ซึ่งบางคนอาจมีอาการปวดหัวข้างเดียว หรือ ปวดหัวตุ๊บๆ ส่งผลให้รบกวนการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น จึงควรรักษาด้วยการรับประทานยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาหรือเข้าพบคุณหมอโดยตรง

[embed-health-tool-bmi]

ปวดหัวตุ๊บๆ มีสาเหตุจากอะไร

อาการปวดหัวตุ๊บ ๆ มีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไปตามประเภท ซึ่งมีมากกว่า 100 ประเภท แต่ที่พบบ่อยได้ที่สุดนั้น อาจมีดังนี้

  • ปวดหัวตึงเครียด

เป็นอาการปวดหัวที่เกิดจากความเครียดทางจิตใจ มีปัญหาบริเวณเส้นประสาทท้ายทอยซึ่งมีปัจจัยมาจากการนั่งหรือยืนผิดท่า ออกกำลังกายมากเกินไป ข้อต่อบริเวณท้ายทอยอักเสบ อาการปวดหัวประเภทนี้อาจเป็นนานประมาณ 30 นาที หรือ 2-3 วัน ที่สังเกตได้จากอาการปวดหัวตุ๊บๆ ด้านหลังศีรษะ และเริ่มแผ่ไปบริเวณด้านหน้าของศีรษะด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองข้าง

  • ปวดหัวไมเกรน 

ปวดหัวไมเกรนมักจะมีอาการปวดศีรษะตุ๊บๆ เป็นจังหวะด้านใดด้านหนึ่งหรืออาจเป็นทั้ง 2 ด้าน ที่อาจเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง เช่น สารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารเคมีที่บทบาทในการควบคุมการทำงานของสมองและระบบประสาท หากมีระดับเซโรโทนินต่ำหรือมากเกินไปอาจทำให้หลอดเลือดขยายและหดตัว ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงสมองน้อยลงหรือและอาจทำให้หลอดเลือดขยายจนกดทับบริเวณปลายประสาทที่นำไปสู่อาการไมเกรน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การอดนอน การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การใช้ยาคุมกำเนิด การใช้ยาขยายหลอดเลือด และความเครียด

  • ปวดหัวจากอาการไซนัส

เป็นอาการปวดหัวที่เกิดจากการติดเชื้อบริเวณไซนัส ทำให้รู้สึกเจ็บปวดบริเวณโหนกแก้ม จมูก และขึ้นไปบริเวณหน้าผาก พร้อมกับมีไข้ น้ำมูก การับกลิ่นน้อยลงและใบหน้าบวม ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่อนอนราบ ก้มตัวไปด้านหน้าและศีรษะกระทบกระเทือน

  • ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ 

เป็นอาการปวดหัวที่รุนแรงส่งผลให้เจ็บปวดมากที่สุด สามารถเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหัน และอาจเป็นเวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน อาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์อาจมีสาเหตุที่ไม่แน่ชัด แต่อาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากการทำงานผิดปกติของสมองส่วนไฮโปทาลามัส ที่มีหน้าที่ควบคุมระดับฮอร์โมน อุณหภูมิร่างกาย ระดับความดันโลหิต โดยอาจมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เป็นตัวกระตุ้นส่งผลให้ปวดหัวร่วมด้วย เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้ยารักษาโรคบางชนิด

  • ปวดหัวจากการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน 

ปวดหัวจากการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การออกกำลังกาย การยกของหนัก การจ้องหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานาน ความเครียด ดื่มน้ำและพักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ อาจส่งผลให้มีอาการปวดหัวตุ๊บๆ ในระยะสั้นประมาณ 1-2 วัน และอาจหายได้เองหรือรับประทานยาแก้ปวด แต่หากมีอาการที่นานกว่านั้นควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว

อาการปวดหัวตุ๊บๆ ที่ควรเข้าพบคุณหมอ

อาการปวดหัวตุ๊บๆ ที่ควรเข้าพบคุณหมอ มีดังนี้

  • มีอาการปวดหัวที่ทำให้ตื่นกลางดึก
  • มีอาการปวดหัวทันทีเมื่อตื่นนอนตอนเช้า
  • ปวดหัวกะทันหัน
  • อาการปวดหัวที่แย่ลงและเป็นต่อเนื่องหลายวัน
  • อาการปวดเมื่อมีอาการไอและอาเจียน
  • อาการปวดหัวพร้อมกับมีปัญหาการเคลื่อนไหวของลูกตา และมองเห็นเป็นภาพซ้อน
  • มีปัญหาในการสื่อสารและจดจำ
  • ร่างกายอ่อนแรง
  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส

วิธีรักษาอาการปวดหัวตุ๊บๆ 

วิธีรักษาอาการปวดหัวตุ๊บๆ มีดังนี้

วิธีรักษาอาการปวดหัวตุ๊บๆด้วยเทคนิคทางการแพทย์

  • ยากลุ่มทริปแทน (Triptans) เช่น ซูมาทริปแทน (Sumatriptan) ริซาทริปแทน (Rizatriptan) อัลโมทริปแทน (Almotriptan) นาราทริปแทน (Naratriptan) ซอลมิทริปแทน (Zolmitriptan) โฟรวาทริปแทน (Frovatriptan) และอีลีทริปแทน (Eletriptan) ที่มีในรูปแบบเม็ด พ่นจมูกและฉีด เพื่อช่วยอาการปวดหัวตุ๊บๆ ปวดไมเกรน โดยต้องได้รับการอนุญาตจากคุณหมอและไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจวาย
  • ยาอูโบรเกเพนท์ (Ubrogepant) เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการไมเกรนเฉียบพลัน และปวดหัวตุ๊บๆ เพื่อบรรเทาอาการปวดรับประทานวันละ 1 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนด เนื่องจากบางคนอาจมีอาการปวดหัวรุนแรงที่จำเป็นต้องรับประทานยานี้ 2 ครั้ง/วัน
  • ยาลาสมิดิตัน (Lasmiditan) มีในรูปแบบเม็ด ช่วยลดอาการปวดศีรษะตุ๊บๆ ที่ควรรับประทานวันละ 1 ครั้ง และไม่ควรรับประทานมากกว่า 1 เม็ดภายใน 24 ชั่วโมง หรือตามที่คุณหมอแนะนำ ยานี้อาจส่งผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึม ไม่มีสมาธิ หายใจลำบาก มองเห็นเป็นภาพหลอน ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรเมื่อรับประทานยานี้เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุหรือแจ้งอาการให้คุณหมอทราบหากรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อปรับเปลี่ยนยาใหม่ให้เหมาะสม
  • ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน (Dihydroergotamine) เป็นยาในรูปแบบฉีดและแบบสูดพ่นในจมูกเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดหัว 
  • ยาออกทรีโอไทด์ (Octreotid) เป็นยาในรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อบริเวณก้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวคลัสเตอร์ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดหัว
  • ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) เนื่องจากเป็นยาที่อาจทำให้เกิดการเสพติดได้ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อยารักษาอาการปวดหัวอื่น ๆ และควรใช้ตามที่คุณหมอแนะนำ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดหัวตุ๊บๆ
  • ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ เช่น โปรคลอเปอราซีน (Prochlorperazine) คลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine) เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้และอาเจียนจากอาการปวดหัวมักใช้ควบคู่กับยาแก้ปวด
  • การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเส้นประสาท เป็นการผ่าตัดที่ฝังขั้วไฟฟ้าขนาดเล็กไว้ใต้ผิวหนังใกล้กับเส้นประสาทท้ายทอย เพื่อส่งคลื่นไฟฟ้าไปยังเส้นประสาทท้ายทอยที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหัว
  • การฉีดยาบล็อกเส้นประสาท โดยคุณหมอจะฉีดเข้าไปเส้นประสาทบริเวณท้ายทอย เพื่อช่วยลดอาการตึงเครียดของเส้นประสาทและบรรเทาอาการปวดหัว

วิธีรักษาอาการปวดหัวตุ๊บๆด้วยตัวเอง

  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น อะเซตามินโนเฟน (Acetaminophen) นาพรอกเซน (Naproxen) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) แอสไพริน (Aspirin) ที่มีในรูปแบบเม็ด แคปซูล และสารละลาย ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดหัว รวมถึงปวดประจำเดือน ปวดกล้ามเนื้อ และอาจช่วยลดไข้ โดยควรรับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง หรือตามที่คุณหมอแนะนำ และดื่มน้ำตามให้มาก ๆ สำหรับเด็กควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินเพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กเป็นกลุ่มอาการเรย์ (Reye’s syndrome) กระทบต่อการทำงานของสมองและนำไปสู่การเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ควรรับประทานยาทั้งเม็ด ไม่ควรบดยา แบ่งยา เพราะอาจทำให้ลดประสิทธิภาพยา 
  • ดื่มน้ำให้มาก ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยบรรเทาความเครียด เพิ่มความผ่อนคลายที่ช่วยให้อาการปวดหัวดีขึ้น 
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี เนื่องจากอหารเหล่านี้อุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหารสำคัญ เช่น วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินอี แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม ที่ช่วยควบคุมการทำงานของเซลล์ในร่างกายในเป็นไปตามปกติ เพิ่มการไหลเวียนของเลือด และต้านอนุมูลอิสระที่ทำให้เซลล์เสื่อมสภาพ ลดความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคหัวใจที่ทำให้มีอาการปวดหัวร่วมด้วย
  • ไม่ควรใช้สายตาจ้องหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานาน เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แท็บเล็ต เพราะการจ้องเป็นเวลานานทำให้สายตารับแสงสีฟ้าเข้าไปทำลายเซลล์ในจอประสาทตา ประสิทธิภาพการมองเห็นลดลงและมีอาการปวดหัวตุ๊บๆที่แย่ลง

นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ป่วยและไม่ใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า ช้อนส้อม จานชาม แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ เพราะอาการปวดหัวอาจเป็นสัญญาณเตือนของการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียที่สามารถแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นได้ อีกทั้งควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีและฉีดวัคซีนตามที่คุณหมอกำหนด เพื่อลดความเสี่ยงการเป็นไข้หวัดหรือโรคต่าง ๆ ส่งผลให้ปวดหัวตุ๊บๆ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Headache Basics. https://www.webmd.com/migraines-headaches/migraines-headaches-basics.Accessed January 15, 2023  

Headaches. https://www.nhs.uk/conditions/headaches/.Accessed January 15, 2023  

Headaches.https://www.mayoclinic.org/symptoms/headache/basics/causes/sym-20050800.Accessed January 15, 2023  

Headaches. https://medlineplus.gov/ency/article/003024.htm.Accessed January 15, 2023  

Headaches. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/headache.Accessed January 15, 2023  

Tension Headaches. https://www.webmd.com/migraines-headaches/tension-headaches.Accessed January 15, 2023  

Migraine. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/migraine-headache/symptoms-causes/syc-20360201.Accessed January 15, 2023  

Sinus headaches https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/sinus-headaches/symptoms-causes/syc-20377580.Accessed January 15, 2023  

Cluster headaches. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cluster-headache/symptoms-causes/syc-20352080.Accessed January 15, 2023  

Lasmiditan. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a620015.html.Accessed January 15, 2023  

Ubrogepant. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a620016.html.Accessed January 15, 2023  

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/01/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ตาพร่ามัวขณะปวดหัว อันตรายมากน้อยแค่ไหน?

ปวดหัวแบบนี้ ใช่ สัญญาณโรคเนื้องอกในสมอง รึเปล่า!!


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา