backup og meta

ลูกตื่นกลางดึก และคำแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 21/03/2022

    ลูกตื่นกลางดึก และคำแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่

    ลูกตื่นกลางดึก เป็นเรื่องปกติที่คุณพ่อคุณแม่อาจพบเจอ โดยเฉพาะในเด็กทารกแรกเกิด ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น สภาพแวดล้อมที่รบกวนการนอนหลับ รู้สึกหิว ไม่สบายตัวจากการเจ็บป่วย อีกทั้งการที่ลูกตื่นกลางดึกบ่อยครั้งอาจส่งผลให้คุณพ่อคุณแม่นอนพักผ่อนไม่เต็มที่ จนเกิดความเครียด รู้สึกเหนื่อยล้า ดังนั้น จึงควรดูแลตัวเอง เพิ่มความผ่อนคลาย และนอนหลับให้เพียงพอ

    ลูกตื่นกลางดึก เกิดจากอะไร

    ลูกตื่นกลางดึกอาจเกิดจากหลายปัจจัย ดังต่อไปนี้

    • อยู่ในช่วงปรับตัว เพราะทารกแรกเกิดจำเป็นต้องใช้เวลาในการปรับตัวกับโลกภายนอกหลังคลอด จึงอาจยังไม่รู้เวลาการนอนที่เหมาะสม ส่งผลให้อาจตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง
    • รู้สึกหิว พบได้บ่อยในเด็กทารก เนื่องจากลูกน้อยมีกระเพาะอาหารขนาดเล็ก ทำให้จุอาหารได้น้อย ย่อยอาหารได้เร็ว ลูกจึงอาจรู้สึกหิวบ่อยจนทำให้ตื่นกลางดึก ทารกที่รู้สึกหิวมักจะตื่นและส่งสัญญาณด้วยการร้องไห้ให้คุณพ่อคุณแม่ทราบ
    • ฟันเริ่มงอก เมื่อลูกอายุได้ 4-6 เดือน ฟันจะเริ่มงอก ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเจ็บและปวดเหงือก จึงทำให้ลูกมักสะดุ้งตื่นกลางดึก
    • นอนกลางวันมากเกินไป ถึงแม้ทารกจะต้องการเวลานอนมากถึง 16 ชั่วโมง/วัน แต่การนอนในแต่ละครั้งใช้เวลาสั้น ๆ เท่านั้น ดังนั้น จึงไม่ควรปล่อยให้นอนช่วงกลางวันนานเกินไป นอกจากนี้ สำหรับลูกอยู่ในช่วงวัยที่มีความคล่องตัว มีการเคลื่อนไหว อาจรู้สึกเหนื่อยล้าจากการเล่นระหว่างวัน ทำให้อาจเผลองีบหลับในตอนกลางวันเป็นเวลานาน จนทำให้ไม่รู้สึกง่วงเมื่อถึงเวลาที่ควรนอน หรือตื่นขึ้นกลางดึก
    • มีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก ทารกอาจมีระบบย่อยอาหารที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้การย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี หรืออาจเป็นเพราะกลืนอากาศมากเกินไปขณะกินนมจึงทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร สำหรับเด็กในช่วงวัยอื่นที่กำลังห่วงเล่น อาจรีบร้อนรับประทานอาหารอย่างรวดเร็ว ทำให้กลืนอากาศเข้าไปมาก นำไปสู่การเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร จนอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องอืด ไม่สบายท้อง รบกวนการนอน และทำให้ตื่นขึ้นมาตอนดึก
    • สภาพแวดล้อม เช่น อากาศภายในห้องร้อนเกินไป เสียงรบกวน แสงไฟ การเคลื่อนไหวของคุณพ่อคุณแม่ อาจรบกวนการนอนของลูก และทำให้ลูกตื่นกลางดึก
    • เจ็บป่วย เช่น มีไข้ ท้องเสีย หายใจไม่สะดวก อาจทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายตัว รบกวนการนอนหลับ จนลูกตื่นกลางดึก
    • ความวิตกกังวล เหตุการณ์บางอย่างอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของลูก เช่น พ่อแม่ทะเลาะกัน การใช้ความรุนแรงกับลูก ต่อว่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งอาจทำให้ลูกมีอาการวิตกกังวล เครียด และจดจำ จนเก็บไปฝันร้ายและทำให้ลูกตื่นกลางดึก

    วิธีช่วยให้ลูกหลับสนิท

    วิธีช่วยให้ลูกน้อยหลับสนิทตลอดคืน อาจทำได้ดังนี้

    • เปิดเพลงกล่อมเด็กเบา ๆ หรือเล่านิทาน ระหว่างพาลูกเข้านอน ซึ่งอาจทำพร้อมกันขณะที่อุ้มลูก หรือไกวเปลลูก
    • ใช้จุกนมหลอกอาจช่วยให้ลูกนอนหลับสนิทมากขึ้น
    • ทำให้ลูกรู้สึกสบายตัวก่อนเข้านอนด้วยการอาบน้ำ ชำระสิ่งสกปรกและคราบเหงื่อให้ลูก
    • ลดการเคลื่อนไหว ลดเสียงรอบข้าง หรี่ไฟในห้องให้สลัว เพื่อป้องกันการกระตุ้นให้ลูกตื่น ทำให้ลูกหลับสนิท
    • ควรนำของเล่น ผ้าห่ม ตุ๊กตา และหมอนข้างนุ่ม ๆ ล้อมรอบตัวลูก เพื่อให้รู้สึกเหมือนมีคนอยู่เคียงข้าง แต่ควรระวังไม่ให้อยู่ใกล้ใบหน้ามากเกินไป เพราะอาจเสี่ยงทำให้ลูกหายใจไม่ออก
    • ฝึกกิจวัตรการนอนหลับให้ลูก เพื่อให้ลูกจดจำช่วงเวลาที่ควรนอน เช่น ตอนกลางวันอาจเล่นกับลูก พูดคุยให้มาก ๆ เพื่อให้ลูกจดจำว่านี่คือช่วงเวลาตื่น และกล่อมลูกนอนเมื่อถึงเวลากลางคืน
    • ไม่ควรปล่อยให้ลูกนอนตอนกลางวันนานเกินไป เพราะอาจทำให้สะดุ้งตื่นตอนกลางคืน
    • สำหรับลูกที่มีความเครียดและความวิตกกังวลจากเหตุการณ์ที่กระทบต่อจิตใจ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำในการดูแลลูกอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ หากลูกสะดุ้งตื่นกลางดึกอย่างรุนแรง ควรปลอบลูกด้วยการโอบกอด หรืออุ้มลูกและตบหลังเบา ๆ เพื่อให้ลูกรู้สึกสบายใจและปลอดภัย

    คำแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องดูแลลูกตื่นกลางคืน

    การดูแลลูกที่ตื่นกลางดึกบ่อย โดยเฉพาะช่วงวัยทารกแรกเกิด อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกเครียด อ่อนเพลีย ดังนั้น จึงควรปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้

    • ทำความเข้าใจรูปแบบการนอนของลูก เพื่อวางแผนการพักผ่อนหลังจากกล่อมลูกหลับ คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามงีบหลับในทุกช่วงเวลาที่มีโอกาส
    • อาจลดการทำงานบ้านลงและหันมานอนพักผ่อนให้มากขึ้น อาจสลับเวรกันทำงานบ้าน หรือช่วยกันทำงานบ้านแทนที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนคนเดียว
    • แบ่งหน้าที่หรือจัดเวลากับคนรักเพื่อสลับกันดูแลลูกตื่นกลางดึก เช่น คุณแม่อาจปั๊มนมเตรียมไว้ช่วงเวลากลางวัน ส่วนกลางดึกเมื่อลูกตื่นก็ให้คุณพ่อรับผิดชอบหน้าที่ในการตื่นมาป้อนนม
    • ขอความช่วยเหลือจากบุคคลรอบข้างให้ช่วยดูแลทารก เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย เพื่อให้ตนเองได้นอนหลับพักผ่อน หรือออกไปทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อคลายเครียดบ้าง
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะอาจส่งผลให้นอนไม่หลับ
    • ลดการเล่นโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ หรือดูโทรทัศน์ก่อนนอน
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ อาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เหนื่อยน้อยลง ซึ่งสามารถทำได้ทุกช่วงเวลา แม้แต่การเดินออกไปซื้อของใช้ข้างนอกก็เป็นการออกกำลังกายในรูปแบบหนึ่ง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 21/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา