backup og meta

น้ำมันหอมระเหย บรรเทาอาการซึมเศร้า ได้จริงหรือไม่

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 04/12/2020

    น้ำมันหอมระเหย บรรเทาอาการซึมเศร้า ได้จริงหรือไม่

    น้ำมันหอมระเหยเป็นสารสกัดจากพืชเข้มข้น สามารถใช้ในทางการแพทย์ได้หลายอย่าง นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยยังสามารถใช้ไล่ยุง ช่วยลดอาการปวดหลัง ปวดคอ นอกจากนี้เรายังสามารถใช้ น้ำมันหอมระเหย บรรเทาอาการซึมเศร้า ได้อีกด้วย ซึ่งทาง Hello คุณหมอ มีประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยที่ใช้สำหรับการบำบัดภาวะซึมเศร้ามาฝากกันค่ะ

    น้ำมันหอมระเหย บรรเทาอาการซึมเศร้า มีอะไรบ้าง

    ลาเวนเดอร์

    กลิ่นจากดอกลาเวนเดอร์ เป็นกลิ่นที่ได้รับการยกย่องว่ามีฤทธิ์ช่วยให้รู้สึกสงบ ผ่อนคลาย นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าน้ำมันหอมระเหยจากดอกลาเวนเดอร์มีส่วนช่วยคลายความกังวล ลดความเครียดช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นได้

    กะทือ

    จากการศึกษาในปี ค.ศ. 2014 พบว่ากะทือมีคุณสมบัติในการต้านภาวะซึมเศร้า จากการศึกษา นักวิจัยได้ให้หนูทดลองดมน้ำมันหอมระเหยจากกะทือ แล้วพบว่าหนูเหล่านั้นมีความเครียดน้อยลง นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมซึมเศร้าน้อยลง จากการวิจัย นักวิจัยคิดว่าน้ำมันกะทือจะไปกระตุ้นสมองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า ซึ่งจะไปช่วยชะลอการหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียด หรือคอร์ติซอล (Cortisol) ได้

    น้ำมันหอมระเหยจากมะกรูด

    กลิ่นจากพืชตระกูลส้ม อย่างมะกรูดนั้นมีส่วนช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย จากการศึกษาในปี ค.ศ. 2013 พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดมีส่วนช่วยลดความวิตกกังวลในผู้ป่วยที่กำลังรอการผ่าตัดอย่างมีนัยสำคัญมะกรูดอาจช่วยลดการหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียดเมื่อตกอยู่ในช่วงสถานการณ์ที่มีความเครียด

    นอกจากนี้ยังมีน้ำมันหอมระเหยชนิดอื่น ๆ ที่มีส่วนช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายอีกมากมาย เช่น

    • น้ำมันดอกคาโมไมล์
    • น้ำมันดอกมะลิ
    • น้ำมันจากดอกไม้จันทน์
    • กำยาน
    • น้ำมันหอมระเหยดอกส้ม
    • น้ำมันหอมระเหยจากเกรปฟรุต

    ใช้น้ำมันหอมระเหย บรรเทาอาการซึมเศร้า อย่างไรให้ได้ผล

    สารเคมีที่มีอยู่ในน้ำมันหอมระเหยจะทำปฏิกิริยากับร่างกาย เมื่อมีการสูดดมแล้วไปกระตุ้นสมอง หรือการดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือด เมื่อเซลล์เฉพาะทางในส่วนบนของจมูก ตรวจพบกลิ่น เซลล์เหล่านั้นจะทำหน้าที่ในการส่งแรงกระตุ้นไปยังสมองตามเส้นประสาทรับกลิ่น บริเวณจุดรับกลิ่นที่เรียกว่า ออลแฟคทอรี บัลบ์ (Olfactory bulb) เมื่อออลแฟคทอรี บัลบ์ได้รับกลิ่นแล้ว ก็จะเกิดการประมวลผล เกิดแรงกระตุ้นและส่งข้อมูลกลิ่นไปยังส่วนต่าง ๆ ของสมอง เรียกว่าระบบลิมบิก (Limbic system) ซึ่งระบบนี้จะมีหน้าที่ในการควบคุม ดูแลอารมณ์และพฤติกรรม

    กลิ่นเป็นหนึ่งในสัมผัสทั้ง 5 ที่มนุษย์ส่วนใหญ่สามารถรับรู้ได้ กลิ่นสามารถช่วยให้มนุษย์เชื่อมโยงกลิ่นต่าง ๆ กับความทรงจำของตัวเองได้ ซึ่งน้ำมันหอมระเหย เป็นน้ำมันที่สามารถสกัดได้จากธรรมชาติและมีกลิ่นที่หอมเฉาะตัว แตกต่างกันออกไปขึ้น อยู่กับวัตถุดิบที่นำมาสกัด ซึ่งกลิ่นจากน้ำมันหอมระเหยมีส่วนช่วยกระตุ้นอารมณ์ และมีส่วนช่วยบรรเทาความผิดปกติทางอารมณ์ได้ เช่น ภาวะซึมเศร้า จากการศึกษาในปี ค.ศ. 2008 ที่ได้ทำการศึกษาผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ที่ได้รับการนวดมือด้วยน้ำมันหอมระเหยเป็นเวลานานติดต่อกัน 7 วันพบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองรู้สึกเจ็บปวดและมีอาการซึมเศร้าน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด วิธีในการใช้น้ำมันหอมระเหยนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

    • ใช้เครื่องอโรม่ากระจายกลิ่นหรือก้านไม้กระจายกลิ่น
    • หยดน้ำมันหอมระเหยลงในอ่างอาบน้ำ
    • นวดตัวด้วยน้ำมันหอมระเหย

    ข้อควรระวังในการใช้ น้ำมันหอมระเหย บรรเทาอาการซึมเศร้า

    น้ำมันหอมระเหยนั้นอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ดังนั้นก่อนที่จะใช้น้ำมันหอมระเหยชนิดใด ควรมีการเจือจางก่อน เพื่อลดความเข้มข้นลง ก่อนที่จะใช้น้ำมันหอมระเหยกับผิวควรเติมน้ำมันตัวพา 1 ออนซ์ ลงในน้ำมันหอมระเหยทุก ๆ 3 ถึง 6 หยด น้ำมันตัวพาทั่วไป ได้แก่  น้ำมันอัลมอนด์ น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันโจโจบา นอกจากนี้ควรทดสอบโดยการแปะแผ่นทดสอบบริเวณผิวอย่างน้อย 24 ชั่วโมงเพื่อดูว่าผิวหนังมีปฏิกิริยากับน้ำมันหอมระเหยอย่างไร หากมีอาการแพ้ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันหอมระเหยชนิดนั้น ที่สำคัญยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมว่าน้ำมันหอมระเหยนั้นมีปฏิกิริยากับการรักษาและยาอื่น ๆ อย่างไรหรือไม่

    สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ สตรีมีครรภ์และเด็กไม่ควรใช้น้ำมันหอมระเหย ยกเว้นแต่จะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือนักบำบัดที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วเท่านั้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 04/12/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา