backup og meta

อสุจิเป็นเลือด คือ อะไร เป็นอันตรายหรือไม่

อสุจิเป็นเลือด คือ อะไร เป็นอันตรายหรือไม่

อสุจิเป็นเลือด เป็นภาวะสุขภาพที่อาจไม่อันตราย โดยเลือดที่ปนออกมากับอสุจิอาจมีสีแดงสด สีชมพู สีน้ำตาล บางครั้งอาจมีก้อนเลือดขนาดเล็กปนออกมาด้วย สำหรับสาเหตุของการเกิดอาการอสุจิเป็นเลือดนั้น ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากการติดเชื้อ ปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก ดังนั้น ถ้าเกิดอาการอสุจิเป็นเลือดควรเข้าพบคุณหมอ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-heart-rate]

อสุจิเป็นเลือด คือ อะไร

อสุจิเป็นเลือด คือ อาการที่มีเลือดปนออกกับอสุจิ ซึ่งเลือดอาจมีสีแดงสด สีชมพู สีน้ำตาล บางครั้งอาจมีก้อนเลือดขนาดเล็กปนออกมาด้วย สำหรับสาเหตุของการเกิดอาการอสุจิเป็นเลือดนั้น ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากการติดเชื้อ ปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก โดยอสุจิเป็นเลือดอาจเกิดกับผู้ชายในทุกวับ แต่มักพบในผู้ชายอายุ 30-40 ปี และในผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไปที่มีต่อมลูกหมากโตซึ่งไม่ได้เกิดจากมะเร็ง โดยอาการอสุจิเป็นเลือดอาจหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา

อสุจิเป็นเลือด เกิดจากอะไร

อสุจิเป็นเลือดอาจจากจากหลากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • การติดเชื้อและการอักเสบ

นี่เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุดสำหรับอาการที่อสุจิเป็นเลือด โดยอวัยวะใดอวัยะหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์อาจเกิดการติดเชื้อหรือเกิดการอักเสบขึ้น เช่น อาจมีการอักเสบและติดเชื้อที่ต่อมลูกหมาก หลอดปัสสาวะ หลอดเก็บอสุจิ หลอดนำอสุจิ ต่อมสร้างอสุจิ

  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้อสุจิเป็นเลือด ไม่ว่าจะเป็นโรคหนองในหรือโรคหนองในเทียม ซึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นี้อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและการอักเสบที่อวัยวะของระบบสืบพันธุ์

  • การบาดเจ็บที่บริเวณอวัยอวะเพศ

การบาดเจ็บในที่นี้เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น การบาดเจ็บจากการผ่าตัดเพื่อทำการรักษาที่เกี่ยวข้องกับระบบปัสสาวะ หรืออวัยวะเพศ การทำหมัน การรักษาอาการริดสีดวงทวาร ซึ่งหลังการผ่าตัดหรือการรักษาอาจทำให้มีเลือดปนออกมากับน้ำอสุจิ แต่ก็เพียงชั่วคราวและอาจหาขได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ หรืออาจเกิดจากความบาดเจ็บเนื่องมาจากการสำเร็จความใคร่ที่รุนแรงและบ่อยจนเกินไป หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้อวัยวะสิบพันธุ์ได้รับความกระทบกระเทือน

  • ท่อฉีดอสุจิอุดตัน

ท่อฉีดอสุจิ (Ejaculatory duct) เป็นท่อที่ทำหน้าที่สูบฉีดอสุจิหรือขับน้ำอสุจิ แต่เมื่อท่อฉีดอสุจิเกิดอุดตันก็จะทำให้เส้นเลือดที่อยู่รอบ ๆ ท่อฉีดอสุจิขยายตัวและแตกออกจึงทำให้เลือดไหลออกมาปนกับอสุจิ โดยอาการทางสุขภาพที่มีส่วนทำให้ท่อฉีดอสุจิเกิดการอุดตันคือโรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia หรือ BPH) เมื่อต่อมลูกหมากโตก็จะไปกระทบกับท่อปัสสาวะและมีผลทำให้อสุจิมีเลือดไหลปนออกมา

  • เนื้องอกหรือติ่งเนื้องอก

เนื้องอกเช่นนี้มักจะพบได้ที่ต่อมลูกหมาก หรืออาการทางสุขภาพ เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม แม้เนื้องอกและติ่งเนื้องอกจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีเลือดปนออกมากับน้ำอสุจิ แต่ก็อาจเป็นสาเหตุที่พบได้น้อย

  • ปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือด

บริเวณต่อมและอวัยวะของระบบสืบพันธุ์นั้นมีหลอดเลือดอยู่รายล้อม หากหลอดเลือดมีปัญหา ซึ่งอาจเกิดจากการบาดเจ็บ การอักเสบ การติดเชื้อ ก็มีผลทำให้น้ำอสุจิมีเลือดปนออกมา ได้เหมือนกัน

นอกจากนี้ ยังอาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยอื่น ๆ อีก เช่น

  • การฝังแร่กัมมันตรังสี (Brachytherapy) เพื่อรักษามะเร็ง
  • ติดเชื้อแบคทีเรีย จำพวกคลามัยเดียทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคหนองในเทียมแล้ว ก็ยังมีส่วนทำให้เกิดอาการ น้ำอสุจิมีเลือดปนออกมา ด้วย
  • อัณฑะอักเสบ
  • การใช้รังสีรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
  • เริมที่อวัยวะเพศ
  • โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia)
  • ภาวะปวดอัณฑะแบบเฉียบพลัน (Orchitis)
  • การตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • โรคต่อมลูกหมากอักเสบ
  • การทำหมัน
  • การที่ไม่มีเพศสัมพันธ์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

หรืออาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เป็นไปได้น้อย แต่ก็มีผลให้เกิดปัญหา น้ำอสุจิมีเลือดปนออกมาด้วย เช่น

  • มะเร็งอัณฑะ
  • มีสารแอมีลอยโดซิส (Amyloidosis) สะสมอยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆ มากจนเกินไป
  • โรคพยาธิใบไม้ในเลือด (Schistosomiasis)
  • วัณโรค
  • ผลข้างเคียงจากยาวาร์ฟาริน (Warfarin)

อสุจิเป็นเลือด อันตรายหรือไม่

อสุจิเป็นเลือดอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก อัณฑะอักเสบ การอักเสบ หรือการติดเชื้อต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ความอันตรายขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เลือดไหลปนออกมากับอสุจิ

หากเกิดจากการรักษาโรค การผ่าตัด หรืออาจเกิดขึ้นจากความบาดเจ็บที่อวัยวะเพศชายหรือบริเวณอัณฑะ หากเกิดจากสาเหตุเหล่านี้เพียงไม่นานก็หายเป็นปกติ แต่หากเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ หรือเลือดยังคงปนออกมากับน้ำอสุจิอย่างต่อเนื่อง ก็อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่จำเป็นจะต้องพบคุณหมอ

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

คุณหมออาจรักษาอาการอสุจิเป็นเลือดจากสาเหตุที่ทำให้น้ำอสุจิมีเลือดปนออกมา โดยคุณหมออาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ ยาต้านการอักเสบ หรืออาจมีการแก้ไขที่ต้นตอของปัญหา เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ความดันโลหิตสูง เมื่อต้นตอของปัญหาถูกรักษาแล้ว อาการอสุจิเป็นเลือดก็จะหายไปด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม

  • หากผู้ชายมีอายุที่น้อยกว่า 40 ปี อาการอสุจิเป็นเลือดอาจมีโอกาสที่จะหายไปเองได้โดยไม่ต้องทำการรักษา แต่ถ้าหากผ่านไปหลายวันแล้วยังคงมีเลือดออกมาอยู่ ควรหาเวลาไปพบคุณหมอ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและหาสาเหตุ
  • หากผู้ชายมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และมีเลือดไหลปนออกมาในน้ำอสุจิ นับว่าเป็นช่วงวัยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะพบ มะเร็งต่อมลูกหมาก หากคุณผู้ชายท่านใดอยู่ในช่วงวัยนี้และมีเลือดปนออกมากับน้ำอสุจิ ควรที่จะไปพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาต่อไป

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Blood in Semen (Hematospermia). https://www.webmd.com/men/guide/blood-in-semen-hematospermia-causes-symptoms-tests-treatments#1. Accessed on July 15, 2020.

Blood in semen. https://www.mayoclinic.org/symptoms/blood-in-semen/basics/definition/sym-20050603. Accessed on July 15, 2020.

Blood in semen. https://www.nhs.uk/conditions/blood-in-semen/#:~:text=Common%20causes%20of%20blood%20in,prostatitis%20or%20an%20enlarged%20prostate. Accessed September 17, 2022

Blood in semen. https://www.healthdirect.gov.au/blood-in-semen. Accessed September 17, 2022

Blood in the semen. https://www.mountsinai.org/health-library/symptoms/blood-in-the-semen. Accessed September 17, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/07/2024

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อสุจิแข็งแรง อีกปัจจัยสำคัญของการมีลูกที่ผู้ชายควรใส่ใจ

แพ้น้ำอสุจิ อาการ สาเหตุ และการป้องกัน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 01/07/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา