backup og meta

ภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้ อันตรายจากดอกไม้ที่คนเป็นภูมิแพ้ต้องระวัง

ภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้ อันตรายจากดอกไม้ที่คนเป็นภูมิแพ้ต้องระวัง

อาการ ภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้ เป็นหนึ่งในอาการภูมิแพ้ที่พบมากที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา ละอองเกสรเล็ก ๆ ที่แทบจะมองรูปร่างไม่ออก แต่กลับสามารถที่จะก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ ถือเป็นอีกหนึ่งอาการภูมิแพ้ที่ควรระวัง วันนี้ Hello คุณหมอ จะพามาทำความรู้จักกับโรคภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้กันให้ดีขึ้นกันนะคะ

ภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้ เกิดขึ้นได้อย่างไร

โรคภูมิแพ้ละอองของเกสรดอกไม้ คือ อาการภูมิแพ้ที่ได้รับการจัดเอาไว้ว่าเป็นหนึ่งในอาการภูมิแพ้ตามฤดูกาล เนื่องจากอาการของภูมิแพ้นั้นสามารถเป็นได้ทั้งฤดูฝน ฤดูร้อน และฤดูหนาว สำหรับในบ้านเราซึ่งเป็นเมืองร้อน ดอกไม้ต่าง ๆ สามารถที่จะเติบโตได้ดี มีดอกไม้ให้เราเห็นอยู่ทั่วทุกมุมเมืองและตลอดทั้งปี โดยต้นเหตุของการแพ้เกสรดอกไม้นั้น ก็มาจากต้นไม้ ดอกไม้ วัชพืช และต้นหญ้า พืชเหล่านี้จะมีเกสรขนาดเล็ก เบา และแห้ง สามารถที่จะปลิวไปกับสายลมได้

หากผู้ที่มีอาการภูมิแพ้สูดดมและหายใจเอาละอองเหล่านี้เข้าไป ระบบภูมิคุ้มกันก็จะทำการปกป้องร่างกายทันที เพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อไวรัส และแบคทีเรียที่เข้ามา แต่สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ละอองเกสรดอกไม้นั้น ระบบภูมิคุ้มกันจะไปตีความให้ละอองเกสรดอกไม้ที่ไม่มีอันตรายใด ๆ ว่า เป็นสิ่งแปลกปลอม แล้วจึงปล่อยสารเคมีออกมาเพื่อที่จะกำจัดสิ่งแปลกปลอมดังกล่าว ร่างกายจึงเกิดปฏิกิริยาที่ต่อต้านกับละอองเกสรเหล่านั้น จนแสดงอาการแพ้ออกมานั่นเอง

อาการของ ภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้ มีอะไรบ้าง

อาการโดยทั่วไปของโรคภูมิแพ้ที่เรารู้จักกันดี คือ

  • ไอ
  • คัดจมูกและจาม
  • คันคอ
  • คันดวงตา
  • น้ำตาไหล
  • น้ำมูกไหล
  • มีผื่นแดง

แต่สำหรับลักษณะอาการของภูมิแพ้ละอองเกสรของดอกไม้ ยังมีอาการอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาด้วย ดังนี้

  • มีอาการไซนัสอักเสบ จนทำให้เกิดอาการปวดบริเวณใบหน้า
  • ดวงตามีอาการบวม
  • ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีฟ้า โดยเฉพาะบริเวณใต้ดวงตา
  • ตาแดงและมีน้ำตาไหล
  • การทำงานของต่อมรับรสและการดมกลิ่นลดลง
  • มีอาการหอบหืด

จะรู้ตัวได้อย่างไรว่ามีความเสี่ยงต่อการแพ้ละอองเกสรดอกไม้

คุณสามารถที่จะเข้ารับการตรวจหาภูมิแพ้ได้จากสถานพยาบาลต่าง ๆ โดยคุณหมออาจใช้วิธีดังต่อไปนี้

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยการสะกิด (Skin Prick Test) หรือ (SPT)

โดยแพทย์จะหยดน้ำยาสำหรับทำการทดสอบลงบนแขน จากนั้นจะใช้เข็มสะกิดเข้าที่ตรงกลางของน้ำยาที่ได้หยดลงไป หากคุณมีอาการแพ้ จะพบว่ามีอาการบวมแดง และคันในบริเวณที่ได้หยดน้ำยาสำหรับทำการทดสอบ

การวัดค่า อิมมูโนโกลบูลิน อี ในเลือด (Specific IgE Blood Test)

แพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ โดยการหยดสารก่อภูมิแพ้ลงไปในตัวอย่างเลือด เพื่อที่จะวัดปริมาณของแอนติบอดี (Antibody) ที่เลือดของคุณผลิตขึ้นมาสำหรับป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อต่าง

จะดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อพบว่าเป็นโรคภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้

วิธีง่าย ๆ ที่สามารถจะป้องกันตนเองได้ในขั้นต้น คือ

เช็กสภาพอากาศก่อนออกจากบ้านเสมอ

โดยเฉพาะหากเป็นวันที่สภาพอากาศแห้ง และมีลมแรง ย่อมเสี่ยงที่จะได้รับละอองเกสรดอกไม้ รวมถึงเช็กสภาพแวดล้อมของสถานที่ ที่จำเป็นต้องไปทำกิจกรรมตามปกติด้วยว่าเป็นอย่างไร เสี่ยงต่ออาการภูมิแพ้หรือไม่

หลีกเลี่ยงเกสรดอกไม้

การหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ คือวิธีที่ดีที่สุดที่จะไม่ทำให้สุขภาพย่ำแย่ แต่ถ้าหากหลีกเลี่ยงได้ยาก หรือเป็นเหตุการณ์กะทันหันที่ยากจะหลีกเลี่ยง ควรพกหน้ากากอนามัยติดตัวไว้เสมอ

สวมหมวกและแว่นตา

หากต้องไปในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการเผชิญกับหมู่มวลดอกไม้ ควรพกแว่นตาและหมวกติดตัวไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกสรดอกไม้เข้าตา หรือสะสมอยู่ที่เส้นผม เพราะแม้จะกลับจากสถานที่นั้นแล้ว ก็ยังเสี่ยงที่จะมีละอองเกสรของดอกไม้ติดตัวกลับมาด้วย

รับประทานยา

เมื่อเกิดอาการภูมิแพ้ สิ่งที่จะยับยั้งอาการไม่ให้รุนแรงก็คือ การรับประทานยาที่คุณหมอจัดสั่งมาให้ และควรพกยานี้ติดตัวไว้เสมอ

เข้ารับการรักษากับคุณหมอ

การไปพบคุณหมอ เป็นการป้องกันและการรักษาที่ดีที่สุด หากอาการภูมิแพ้ของคุณยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจทำการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ ได้แก่

  • การล้างจมูก (Nasal irrigation)
  • ฉีดวัคซีนแก้ภูมิแพ้ (Allergy shots)
  • แนะนำให้ซื้อยาที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งยา (Over-the-counter drugs) หรือ (OTC) โดยตัวยาที่ว่าคือยาแอนตี้ฮิสตามีน (Antihistamines)
  • หากยาที่ซื้อโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาไม่ได้ผล แพทย์อาจจำเป็นต้องพิจารณาจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

หลังจากรับประทานยาที่ช่วยสำหรับอาการภูมิแพ้แล้วไม่รู้สึกดีขึ้น อาการแพ้ของคุณไม่ลดลง และรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ควรไปพบคุณหมอทันที

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Pollen Allergies. https://www.healthline.com/health/allergies/pollen. Accessed December 19, 2019.

Pollen Allergy. https://www.aafa.org/pollen-allergy/. Accessed December 19, 2019.

Pollen Allergies Overview. https://www.webmd.com/allergies/pollen_allergies_overview#1. Accessed December 19, 2019.

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/07/2020

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

หอบหืดจากภูมิแพ้ โรคนี้มีอาการ สาเหตุ และวิธีการรักษายังไงบ้างนะ

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังจากการแพ้อาหาร เกิดขึ้นได้อย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 01/07/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา