เรามักเคยได้ยินว่าการดื่มน้ำน้อยหรือดื่มน้ำไม่เพียงพอจะก่อให้เกิด ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) และภาวะขาดน้ำจะส่งผลเสียต่อร่างกายซึ่งอาจรุนแรงจนเสียชีวิตได้ แต่…รู้หรือไม่ว่า ไม่ใช่แค่เพียงการดื่มน้ำน้อยเท่านั้นที่ส่งผลต่อสุขภาพ เพราะการ ดื่มน้ำมากเกินไป ก็อาจเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพได้เหมือนกัน เพราะอาจเสี่ยงที่จะเกิด ภาวะการดื่มน้ำมากเกินไป ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายถึงแก่ชีวิตเช่นเดียวกัน แต่ภาวะการดื่มน้ำมากเกินไปคืออะไรและมีผลเสียต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง มาติดตามกันได้ที่บทความนี้จาก Hello คุณหมอ
ภาวะการดื่มน้ำมากเกินไป คืออะไร
หากร่างกายของเรามีปริมาณน้ำในร่างกายสูงจนเกินพิกัด ไม่ว่าจะมาจากการดื่มน้ำหรือการรับประทานอาหาร แต่ถ้าทำให้ระดับน้ำในร่างกายพุ่งสูงขึ้นก็เสี่ยงที่จะเกิด ภาวะการดื่มน้ำมากเกินไป (Overhydration) หรือบางครั้งอาจเรียกว่า ภาวะน้ำเป็นพิษ หรือบางครั้งก็เรียก ภาวะน้ำเกิน
การที่ร่างกายมีน้ำมากเกินไปจนกระทั่งไตไม่สามารถจะกำจัดออกไปได้หมด หรือร่างกายไม่สามารถลำเลียงออกไปได้มากพอ จะทำให้ปริมาณของเกลือและอิเล็กโทรไลต์ (Electrolytes) อื่นๆ ในร่างกายเกิดการเจือจาง ซึ่งเมื่อร่างกายมีการเจือจางเกลือหรือโซเดียมมากจนเกินไปก็เสี่ยงที่จะเกิดภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia) ตามมา และถ้าอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายมีการเจือจางและลดต่ำลงอย่างรวดเร็วก็อาจอันตรายถึงชีวิตได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะการดื่มน้ำมากเกินไปหรือภาวะน้ำเป็นพิษ เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น
- ดื่มน้ำบ่อยตลอดทั้งวัน และดื่มโดยที่ไม่รู้สึกกระหายน้ำ
- ดื่มน้ำจนกว่าสีของปัสสาวะจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองใส เพราะถ้าหากสีคล้ำจะหมายถึงร่างกายขาดน้ำ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องดื่มน้ำจนกระทั่งปัสสาวะเปลี่ยนสี แต่ควรดื่มให้เพียงพอ หรือดื่มน้ำเมื่อรู้สึกกระหาย
- ดื่มน้ำ 1 ลิตร ต่อชั่วโมง หรือมากกว่า
- อาการทางสุขภาพบางประการอาจมีผลทำให้รู้สึกกระหายน้ำมากเป็นพิเศษ
- ยารักษาโรคบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้รู้สึกกระหายน้ำ
ใครบ้างที่เสี่ยงมี ภาวะน้ำเป็นพิษ
ภาวะน้ำเกินมักจะเกิดขึ้นได้ในหมู่นักกีฬา หรือผู้ที่ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมอย่างหนัก และมีการดื่มน้ำเป็นจำนวนมากในช่วงก่อนหรือในขณะที่ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรม เช่น
- ผู้ที่วิ่งมาราธอนเป็นระยะทางที่ยาวกว่า 26.2 ไมล์
- ไตรกีฬาคนเหล็ก (Ironman triathletes)
- นักรักบี้
- นักกีฬาพายเรือ
- นักปั่นจักรยาน
- ทหารที่ทำการฝึกซ้อม
- นักเดินทางไกล
- นักปีนเขา
เราจะป้องกันไม่ให้เกิดภาวะการดื่มน้ำมากเกินไปได้อย่างไรบ้าง
- หากไม่รู้ว่าต้องดื่มน้ำตอนไหน ให้สังเกตจากความกระหายน้ำของตนเอง หรืออาจสังเกตจากสีของปัสสาวะ ถ้าปัสสาวะมีสีเข้มแปลว่าร่างกายขาดน้ำ ให้ดื่มน้ำ
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่มากกว่า 1 ลิตร ภายใน 1 ชั่วโมง เพราะเสี่ยงที่จะทำให้ร่างกายมีน้ำมากเกินไปจนเสี่ยงเกิด ภาวะน้ำเป็นพิษ
- หากต้องการดื่มน้ำในขณะออกกำลังกาย ควรดื่มน้ำระหว่าง 2-4 แก้ว ต่อชั่วโมง เพื่อความสมดุล
- หากมีการออกกำลังกายมากกว่า 1 ชั่วโมง การดื่มเครื่องดื่มสำหรับการออกกำลังกาย เช่น เกลือแร่ เพราะเครื่องดื่มสำหรับการออกกำลังกายจะมีส่วนผสมของน้ำตาลและอิเล็กโทรไลต์ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม เพื่อช่วยป้องกันร่างกายจากการสูญเสียน้ำจนอาจทำให้กระหายน้ำมากกว่าปกติ
- หากรู้สึกว่าตนเองกระหายน้ำมากเกินไปจนผิดปกติ ควรไปพบคุณหมอเพื่อระับการวินิจฉัยและรับการรักษา
[embed-health-tool-bmr]