เวลาที่ร่างกายอยู่ในสภาวะกดดันหรือเครียด ร่างกายจะหลั่งสารที่เรียกว่า คอร์ติซอล ออกมารับมือกับความเครียด แต่ความจริงแล้ว คอร์ติซอลไม่ได้เกี่ยวข้องแค่กับความเครียด แต่ส่งผลกับร่างกายในหลายด้าน การเรียนรู้หน้าที่ต่างๆ ของคอร์ติซอล จึงอาจช่วยให้เราควบคุมระดับฮอร์โมนในร่างกายให้สมดุล เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงได้ง่ายขึ้น
คอร์ติซอล ฮอร์โมนความเครียดมาจากไหน
คอร์ติซอล คือสเตียรอยด์ฮอร์โมน (Steroid hormone) จัดเป็นฮอร์โมนกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ (glucocorticoids) ที่ผลิตจากต่อมหมวกไตชั้นนอก และส่งผ่านไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายผ่านกระแสเลือด เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายหลั่งออกมา เพื่อตอบสนองต่อสภาวะเครียดหรือกดดันต่างๆ จึงมักเรียกกันว่า “ฮอร์โมนความเครียด”
หลากหลายหน้าที่ของคอร์ติซอล
เนื่องจากเซลล์ส่วนใหญ่ในร่างกายมีตัวรับคอร์ติซอล (cortisol receptor) ฮอร์โมนตัวนี้จึงไม่ได้หยุดอยู่แค่ความเครียด แต่ส่งผลกับการทำงานของร่างกายในหลายด้าน ขึ้นอยู่กับประเภทของเซลล์ เช่น
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- ช่วยให้กระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) หรือการเผาผลาญพลังงานในร่างกายคงที่
- ทำหน้าที่เป็นสารต้านการอักเสบ
- ช่วยเรื่องความจำ
- ควบคุมความสมดุลของโซเดียมและของเหลวในร่างกาย
- ช่วยควบคุมความดันโลหิต
- ช่วยให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการเป็นปกติ
มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ได้
การหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลส่วนใหญ่ถูกควบคุมโดยสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) และต่อมหมวกไต หรือที่เรียกรวมกันว่า แกนไฮโปทาลามัส-พิทูอิทารี-อะดรีนัล (Hypothalamic–pituitary–adrenal axis / HPA axis) โดยในแต่ละวัน ระดับคอร์ติซอลในร่างกายของเราจะขึ้นลงหลายครั้ง ปกติจะต่ำสุดในช่วงประมาณเที่ยงคืน และจะค่อยๆ ไต่ระดับสูงขึ้น จนถึงระดับสูงที่สุดในช่วงประมาณ 9 โมงเช้า
อย่างไรก็ตาม การใช้ชีวิตที่ผิดปกติ เช่น การทำงานเป็นกะ การนอนกลางวันมากเกินไป รวมไปถึงโรคภัยไข้เจ็บ อย่างโรคเกี่ยวกับต่อมหมวกไต ก็สามารถส่งผลกระทบให้ร่างกายผลิตและใช้คอร์ติซอลในระดับผิดปกติได้ หากร่างกายมีฮอร์โมนคอร์ติซอลอยู่ในระดับน้อยเกินไปหรือมากเกินไป ก็สามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ทั้งสิ้น
หากมีคอร์ติซอลมากเกินไป
การมีคอร์ติซอลในเลือดมากเกินไปเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s disease) ซึ่งมีลักษณะ หรืออาการดังต่อไปนี้
- น้ำหนักขึ้นฮวบฮาบ โดยเฉพาะที่ใบหน้า หน้าอก ช่วงท้อง แต่แขนขากลับเรียวลีบ
- หน้ากลม แก้มแดง
- ความดันโลหิตสูง
- กระดูกพรุน
- ผิวหนังเปลี่ยนแปลง ผิวบางลง ทำให้มีรอยช้ำและรอยแตก
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง
- อารมณ์แปรปรวน เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ฉุนเฉียวง่าย
- หิวน้ำและปัสสาวะบ่อย
นอกจากนี้ ระดับคอร์ติซอลที่สูงเกินไปยังอาจส่งผลให้ไม่มีความต้องการทางเพศ ผู้หญิงมีประจำเดือนไม่ปกติ ประจำเดือนมาน้อยลง จนอาจถึงขั้นไม่มีประจำเดือน หรือที่เรียกว่า ภาวะขาดระดู (amenorrhoea)
หากมีคอร์ติซอลน้อยเกินไป
หากร่างกายมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลน้อยเกินไปเป็นเวลานาน อาจทำให้เป็นโรคแอดดิสัน (Addison’s disease) หรือเกิดภาวะต่อมหมวกไตบกพร่อง (adrenal insufficiency) ซึ่งมีอาการดังนี้
- อ่อนเพลียรุนแรงและเหนื่อยง่าย
- น้ำหนักตัวลด
- วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด โดยเฉพาะเวลายืน
- ความดันโลหิตต่ำ
- ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ผิวหนังบริเวณใบหน้า ลำคอ และหลังมือคล้ำขึ้น
หากคุณสงสัยว่าระดับคอร์ติซอลในร่างกายของตัวเองผิดปกติ คุณควรรีบไปปรึกษาคุณหมอโดยด่วน เพื่อจะได้หาสาเหตุและรักษาได้อย่างทันท่วงที
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด