เวลาที่คนเราป่วย โรคภัยไข้เจ็บแต่ละโรคมักมีอาการร่วม และสามารถนำไปสู่โรคอื่นๆ ได้ไม่ยาก ไม่แปลกที่เมื่อคุณมีปัญหาสุขภาพกาย ปัญหาสุขภาพจิตหรืออารมณ์ก็อาจตามมา ยกตัวอย่างภาวะหรือโรคที่พบเจอกันได้บ่อย อย่างอาการ ปวดเรื้อรังกับโรคซึมเศร้า ที่หลายๆ อาจยังไม่รู้ว่าทั้งสองโรคนี้เกี่ยวข้องกัน แต่จะเกี่ยวข้องกันอย่างไร Hello คุณหมอมี ข้อมูลมาแบ่งปัน ดังต่อไปนี้
ทำความรู้จักกับอาการปวดเรื้อรัง
อาการปวดเรื้อรัง หรือความปวดเรื้อรัง (Chronic pain) เป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นนานกว่า 3 เดือน โดยอาจปวดเป็นพักๆ หรือปวดต่อเนื่องก็ได้ อาการปวดเรื้อรังส่วนใหญ่ไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่อาจเกิดจากเพราะปัญหาสุขภาพ หรือโรคภัยไข้เจ็บ เช่น เส้นประสาทถูกทำลาย โรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ โรคเบาหวาน อาการปวดเรื้อรังที่พบได้บ่อยๆ เช่น ปวดศีรษะ ปวดหลัง อาการปวดจากโรคมะเร็ง อาการปวดจากโรคข้ออักเสบ อาการปวดที่เกิดจากสภาพจิตใจ ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้สูงอายุ แต่ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุ หรือมีน้ำหนักตัวเกินก็เสี่ยงมีอาการนี้ได้เช่นกัน
โรคซึมเศร้า… โรคทางอารมณ์
โรคซึมเศร้า (Depression) คือ ความผิดปกติทางอารมณ์ ที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรม ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีอาการ เช่น เศร้า เสียใจ หมดสนุกกับกิจกรรมที่เคยโปรดปราน น้ำหนักขึ้นๆ ลงๆ นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป เหนื่อยล้า หมดพลัง หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นคิดสั้นฆ่าตัวตาย โรคซึมเศร้าสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้อีกมากมาย ทั้งยังส่งผลกระทบกับชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้ด้วย
อาการ ปวดเรื้อรังกับโรคซึมเศร้า เกี่ยวข้องกันอย่างไร
จากการศึกษาพบว่า 30-50% ของผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง จะมีความปกติทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวลร่วมด้วย อาการปวดเรื้อรังเป็นอาการที่เกิดขึ้นยาวนาน ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวัน หรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ และอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ปัญหาการนอน ความเครียด ปัญหาด้านการกิน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ล้วนแต่นำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ทั้งสิ้น
นอกจากอาการปวดเรื้อรังจะส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้าแล้ว โรคซึมเศร้าก็สามารถส่งผลให้ปวดเรื้อรังได้เช่นกัน ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีอาการทางกายที่ไม่ทราบสาเหตุ เช่น ปวดศีรษะ ปวดหลัง ซึ่งหากเป็นบ่อย ๆ หรือมีอาการยาวนาน อาการปวดเหล่านั้นก็สามารถกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังได้
วิธีรับมือกับทั้งสองอาการ
ทั้งความปวดเรื้อรังและโรคซึมเศร้า ต่างก็เป็นอาการเจ็บป่วยที่รักษาให้หายขาดได้ยากทั้งคู่ แต่สามารถบรรเทาและทำให้อาการดีขึ้นได้ โดยผู้ให้บริการด้านสุขภาพมักจะใช้วิธีรักษาเหล่านี้ร่วมกัน
- การใช้ยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants) ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาได้ทั้งอาการปวดเรื้อรังและโรคซึมเศร้า
- บำบัดด้วยการพูดคุย หรือที่เรียกว่า จิตบำบัด (Psychotherapy) อาจช่วยให้เปลี่ยนวิธีคิด เรียนรู้เทคนิคการแก้ปัญหาเมื่อเกิดอาการ และช่วยป้องกันอาการโรคซึมเศร้าในอนาคต
- ใช้เทคนิคลดความเครียด เช่น เคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ ออกกำลังกาย ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ นั่งสมาธิ คิดบวก เขียนบันทึกประจำวัน โดยคุณสามารถปรึกษานักบำบัดเพื่อให้ช่วยแนะนำกิจกรรมที่เหมาะสมกับคุณได้
หากคุณมีอาการปวดเรื้อรังและโรคซึมเศร้า โปรดอย่าลังเลที่จะแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบ เพื่อที่แพทย์จะได้ให้คำแนะนำและรักษาได้อย่างถูกวิธีและทันท่วงที
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด