แน่นอนว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักอาการ ท้องอืด เพราะอย่างน้อย ต้องมีสักครั้งหนึ่งที่คุณเกิดอาการนี้ อาการท้องอืด สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ในบางครั้ง ก็สามารถหายไปได้เอง แต่ในบางกรณี อาการเกิดอาจขึ้นติดต่อกันนานผิดปกติ ซึ่งนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนบางอย่างจากร่างกายว่า กำลังมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นมากกว่าท้องอืดธรรมดาทั่วๆ ไป
ท้องอืด อาการและวิธีการรักษา
ผู้ที่มีอาการท้องอืด จะรู้สึกปวดท้องส่วนบน คือบริเวณระหว่างใต้ลิ้นปี่และเหนือสะดือ จุกเสียด มีลมในท้อง ต้องเรอบ่อยๆ บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อิ่มเร็ว หรืออาจมีอาการแน่นท้อง แม้กินอาหารเพียงเล็กน้อย และแสบบริเวณหน้าอกร่วมด้วย ท้องอืด อาการและวิธีการรักษา จะมีอะไรบ้างวันนี้ Hello Khunmor จะพามาดูกัน
ท้องอืดเกิดจากอะไรได้บ้าง
อาการท้องอืด สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- พฤติกรรมการรับประทาน เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของอาการท้องอืด สำหรับคนทั่วไปเลยทีเดียว การกินอาหารอย่างเร่งรีบ เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด การกินอาหารไม่เป็นเวลา การกินอาหารปริมาณมากเกินไป รวมทั้งการนอนราบทันทีหลังกินอาหารเสร็จ นอกจากนี้ หลายคนคงอาจคิดไม่ถึงว่า การดื่มเครื่องดื่มผ่านหลอด การดูดอมยิ้ม การเคี้ยวหมากฝรั่ง หรือแม้กระทั่งการพูดมาก ก็ทำให้ท้องอืดได้ เพราะว่าเป็นการ “กินลม” หรือนำอากาศเข้าท้อง อาจทำให้เกิดลมในกระเพาะมากเกินไปนั่นเอง
- โรคในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ โรคแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ มะเร็งกระเพาะอาหาร พยาธิในทางเดินอาหาร เป็นต้น
- โรคและภาวะสุขภาพอื่นๆ ที่มีอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคเกี่ยวกับตับอ่อน โรคเบาหวาน และโรคต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
- การรับประทานยารักษาโรคบางชนิด มีตัวยาที่รักษาโรคต่างๆ ที่มีผลต่อการทำงานของกระเพาะอาหาร และทำให้เกิดอาการท้องอืด เช่น ยาแก้ปวดข้อทั้งหลายจะทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ ขณะที่ ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท หรือยาปฏิชีวนะบางชนิด จะทำให้กระเพาะและลำไส้บีบตัวน้อยลง
- เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีนเป็นส่วนผสม เช่น เหล้า เบียร์ ชา กาแฟ น้ำอัดลม จะทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ การสูบบุหรี่ ก็เป็นสาเหตุของอาการท้องอืดได้เช่นกัน
- อาหารบางประเภท เช่น อาหารรสจัด จะทำให้เยื่อบุอาหารอักเสบ อาหารไขมันสูง ทำให้กระเพาะทำงานหนักเพราะย่อยยาก และอาหารประเภทนม เป็นต้น การรับประทานอาหารเหล่านี้ในปริมาณมาก หรือบ่อยเกินไปจะส่งผลให้เกิดอาการท้องอืดเพิ่มขึ้นได้
ท้องอืดเป็นสัญญาณเตือนของโรคอะไรบ้าง
ปัญหาที่พบบ่อยในคนที่มีอาการท้องอืดบ่อยๆ ได้แก่ โรคกระเพาะ ซึ่งอาจเป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบ หรืออาจจะเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินน้ำดี เช่น เป็นนิ่วในถุงน้ำดี
ในผู้สูงอายุนั้น อาการท้องอืด เป็นสัญญาณหนึ่งของมะเร็งในช่องท้อง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่เคยมีอาการมาก่อน โดยมักมีอาการท้องอืดในช่วงเวลาสั้นๆ และอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลด ซีด ซึ่งหากพบว่ามีอาการเหล่านี้ ควรจะรีบพบคุณหมอทันที
การรับมือเบื้องต้นกับอาการท้องอืด ทำอย่างไรได้บ้าง
หากมีอาการท้องอืดเป็นครั้งคราว ในเบื้องต้น อาจแก้ไขด้วยตนเองโดยการใช้ยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาขับลม หรือ ยาธาตุน้ำแดง หรือไม่ก็อาจหาซื้อ ยาลดกรด ที่มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป ที่มีคุณสมบัติบรรเทาอาการกรดไหลย้อนจากกรดเกิน ขับลม รวมทั้งบรรเทาอาการที่เกิดจากแผลในกระเพาอาหาร
หลักการสังเกตง่ายๆ สำหรับการเลือกซื้อยาลดกรด คือ ยาประเภทนี้มักประกอบด้วย 2 ตัวยาสำคัญซึ่งใช้เป็นสูตรผสมกัน ได้แก่ อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (aluminium hydroxide) และ แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (magnesium hydroxide) ข้อดีของยา 2 ตัวนี้ คือ จะออกฤทธิ์เฉพาะที่กระเพาะอาหาร จึงไม่รบกวนสมดุลกรด-ด่างในร่างกาย และมีผลต่อระบบขับถ่ายน้อย กล่าวคือ ลดการเกิดอาการท้องผูกและท้องเสียที่อาจเป็นผลข้างคียงของการใช้ยา 2 ชนิดนี้
นอกจากนี้ ยังมีตัวยา ไซเม็ททิโคน (simethicone) หรือ ไดเมทิลโพลีไซโลเซน (dimethyl polysiloxane, MPS) มักนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสทธิภาพของยาลดกรด ตัวยานี้มีคุณสมบัติลดแรงตึงผิวที่ทำให้ฟองและแก๊สในกระเพาะอาหารสามารถระบายออกจากอาหารที่กำลังถูกย่อยได้ จึงใช้บรรเทาอาการท้องอืดอย่างได้ผล
โดยส่วนใหญ่ ยาลดกรด มักมาในรูปแบบเม็ด ซึ่งวิธีการใช้ยาคือ ต้องเคี้ยวก่อน แล้วค่อยกลืน แต่ในปัจจุบัน มีบางยี่ห้อ ที่พัฒนามาในรูปยาเม็ดแตกตัวเร็ว จึงไม่จำเป็นต้องเคี้ยวก็ได้ ทำให้กินง่ายมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรอ่านคำแนะนำบนฉลากยาให้ละเอียด ว่ามีคำระบุว่า “เคี้ยวยา” ก่อนรับประทานหรือไม่
อาการท้องอืดแบบไหน ที่ต้องไปพบคุณหมอ
คุณควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม หากคุณมีอาการอื่นๆ ร่วมกับอาการท้องอืดดังต่อไปนี้
- น้ำหนักลด
- มีอาการซีด
- ถ่ายอุจจาระดำ
- อาเจียนติดต่อกัน หรือกลืนอาหารไม่ได้
- ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือมีก้อนในท้อง
- ปวดท้องมาก
- ท้องอืด แน่นท้อง มากผิดปกติ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
สนับสนุนโดย GedGoodLife.com
[embed-health-tool-bmr]