backup og meta

พักกลางวัน แค่ลุกออกไปกินข้าวนอกออฟฟิศ สุขภาพก็ฟิตขึ้นได้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 02/02/2021

    พักกลางวัน แค่ลุกออกไปกินข้าวนอกออฟฟิศ สุขภาพก็ฟิตขึ้นได้

    พักกลางวัน คือช่วงเวลาที่เหล่าพนักงานออฟฟิศทั้งหลายตั้งหน้าตั้งตาคอย เพราะจะได้พักกินข้าวเที่ยงหลังจากที่นั่งทำงานกันมาตลอดช่วงเช้า เมื่อถึงช่วงพักกลางวัน คุณก็ควรลุกออกจากโต๊ะทำงาน ไปเดินเล่น กินอาหารกลางวันนอกออฟฟิศบ้าง อย่ามัวแต่อุดอู้อยู่ในออฟฟิศ หรือนั่งกินข้าวที่โต๊ะ เพราะข้อดีของการไปกินข้าวนอกออฟฟิศในช่วงพักกลางวัน ไม่ใช่แค่ช่วยให้ท้องอิ่ม แต่ยังส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจอีกมากมายหลายประการ 

    ประโยชน์ของการออกจากออฟฟิศช่วง พักกลางวัน

    ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด

    ความตึงเครียดอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพกาย เช่น อาการนอนไม่หลับ หงุดหงิด อ่อนเพลีย และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคเครียด โรคซึมเศร้า ได้อีกด้วย ในช่วงเวลาทำงาน ถึงอาจไม่สะดวกผ่อนคลายความตึงเครียดด้วยการออกกำลังกาย เล่นโยคะ แต่การปลีกตัวจากสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียด เช่น การทำงาน ในช่วงพักกลางวัน ก็สามารถช่วยบรรเทาความเครียดได้ในระดับหนึ่ง หลังจากกินข้าวเที่ยงแล้ว คุณอาจเดินเล่นผ่อนคลายสักพัก ค่อยกลับเข้าออฟฟิศ ก็จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้

    ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

    การนั่งทำงานอยู่กับที่เป็นเวลาหลายชั่วโมง นอกจากจะทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนถูกกดทับจนตึงเครียดแล้ว ยังทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวกด้วย ฉะนั้น เมื่อถึงเวลาพักกลางวัน คุณควรลุกจากโต๊ะทำงาน ออกไปกินข้าวนอกออฟฟิศ การออกไปเดินบ้าง แม้จะแค่ระยะเวลาสั้นๆ ในระหว่างหยุดพักกลางวัน ก็ถือเป็นการยืดกล้ามเนื้อที่ดี ช่วยกระตุ้นระบบหมุนเวียนของเลือด ข้อต่อได้เคลื่อนไหว ซึ่งจะช่วยลดอาการตะคริวและป้องกันอุบัติเหตุได้

    ช่วยให้เราไม่กินมากเกินไป

    การออกไปกินข้าวเที่ยงข้างนอกออฟฟิศ จะช่วยให้เรากินอย่างมีสติ มีสมาธิจดจ่ออยู่กับการกินอาหาร ซึ่งสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เรากินมากเกินไปได้ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโภชนาการเผยว่า การกินไปด้วยทำงานไปด้วย มักทำให้เรากินมากเกินไป เนื่องจากไม่รู้ตัวว่าอิ่มแล้ว นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า กว่าสมองจะรู้ว่ากินอิ่มแล้วนั้น ต้องใช้เวลาถึง 20 นาที ฉะนั้น หากคุณมีงานมาทำให้ไขว้เขวในขณะกินข้าว คุณก็มีแนวโน้มจะกินอะไรเกินกว่าที่ร่างกายต้องการได้ ต่างกับการออกไปกินอาหารกลางวันนอกออฟฟิศ ที่ส่วนใหญ่แล้วเราจะกินแบบมีสติ ค่อยๆ กินได้เพราะไม่รู้สึกเร่งรีบ หรือมีงานมากดดัน

    ช่วยเติมพลังความคิด

    มนุษย์ทุกคนมีพลังงานความคิดกันในปริมาณหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถเพ่งความสนใจ มีความคิดสร้างสรรค์ และตัดสินใจอะไรๆ ได้ ดังนั้น หากเรานั่งทำงานตลอดทั้งวัน ไม่ออกไปพักกลางวัน หรือผ่อนคลายบ้าง พลังความคิดที่มีก็อาจจะหมดลง และทำให้งานไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ยิ่งเราใช้เวลาพักนานเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยให้มีพลังความคิดเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น การทำงานก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งช่วงเวลาที่เราสามารถพักจากงานได้นานที่สุดในเวลาทำงาน ก็คือช่วงพักกลางวันนั่นเอง 

    ช่วยป้องกันอาการอ่อนล้า

    การพักกลางวันอาจดูเหมือนเป็นแค่เวลาช่วงสั้นๆ แต่ก็ช่วยให้เราหลายอ่อนเพลีย และมีแรงฮึดในการทำงานต่อช่วงบ่ายได้ หลายคนอาจจะคิดว่า การนั่งกินข้าวเที่ยงที่โต๊ะทำงานพร้อมทำงานไปด้วย หรือนั่งทำงานจนลืมเวลาพักกลางวัน คงไม่ได้ส่งผลเสียอะไรต่อสุขภาพ แต่หากทำไปนานๆ ก็สามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ได้มากมาย เช่น อาการอ่อนเพลีย กรดไหลย้อน อาการปวดเรื้อรัง และส่งผลกระทบต่อการทำงานได้ด้วย

    ช่วยให้มีความคิดสร้างสรรค์

    การได้กินอาหารที่เราชอบ ได้เดินช้อปปิ้งในตลาดนัดใกล้ๆ ออฟฟิศ หรือการทำอะไรที่ทำให้คุณมีความสุขในช่วงเวลาพักกลางวันครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมงนั้น ล้วนส่งผลดีต่อสุขภาพของเราทั้งสิ้น เพราะสุขภาพกายใจที่ดี ย่อมส่งผลให้มีพลังบวก และก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งส่งผลให้งานของคุณออกมาดีขึ้น

    การกินอาหารที่โต๊ะทำงานอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

    บางคนอาจจำไม่ได้แล้วว่าทำความสะอาดโต๊ะทำงาน หรือปัดฝุ่นอุปกรณ์บนโต๊ะครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า บริเวณโต๊ะทำงานของเรานั้นเต็มไปด้วยเชื้อโรค และเชื้อโรคอาจชุกชุมมากกว่าฝารองนั่งชักโครกด้วยซ้ำ โดยเฉพาะคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ที่มีร่องเล็กร่องน้อยเต็มไปหมด ซึ่งไม่ใช่แค่เก็บฝุ่น แต่ยังอาจมีเศษอาหารและเชื้อโรคสะสมอยู่มากมาย หากคุณกินอาหารที่โต๊ะทำงาน ก็เท่ากับเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ทางที่ดี หากคุณไม่อยากเจ็บป่วย ก็ควรออกไปกินข้าวนอกออฟฟิศให้เป็นเรื่องเป็นราวดีกว่า

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 02/02/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา