backup og meta

เด็กฟันผุ สาเหตุ และการป้องกันที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

เด็กฟันผุ สาเหตุ และการป้องกันที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

เด็กฟันผุ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย เกิดจากแบคทีเรีย หรือคราบจุลินทรีย์ ทำปฏิกิริยากับน้ำตาลจากอาหารและเครื่องดื่ม กลายเป็นกรดที่กัดกร่อนสารเคลือบฟันชั้นนอกลึกถึงฟันชั้นใน จนนำไปสู่อาการฟันผุ

สาเหตุที่ทำให้ เด็กฟันผุ

สาเหตุที่ทำให้เด็กฟันผุ คือการก่อตัวของแบคทีเรีย โดยเกิดขึ้นจากอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น ลูกอม เค้ก ซีเรียล ขนมปัง นม โซดา น้ำผลไม้ ที่ก่อให้เกิดน้ำตาลติดอยู่ตามพื้นผิวฟันและซอกฟัน ซึ่งแบคทีเรีย อาหาร และน้ำลาย ที่อยู่ในช่องปากทั้งหมดจะทำปฏิกิริยากันจนเกิดเป็นกรด หรือคราบพลัคเกาะติดกับฟัน หากปล่อยไว้นาน แบคทีเรียจะค่อย ๆ กัดกร่อนสารเคลือบฟันที่ทำหน้าที่ปกป้องฟันชั้นต่าง ๆ และก่อให้เกิดฟันผุได้ในที่สุด

อาการเด็กฟันผุ

ฟันผุในเด็กระยะแรกอาจไม่แสดงอาการใด ๆ ต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำจึงจะทราบได้ว่าเด็กฟันผุ แต่หากแบคทีเรียกัดกร่อนชั้นฟันมากขึ้น อาจก่อให้เกิดอาการที่สังเกตได้ ดังต่อไปนี้

  • มีจุดสีขาวบริเวณฟัน เนื่องจากสารเคลือบฟันถูกกัดกร่อน และอาจทำให้เด็กเสียวฟันได้
  • มีรูสีน้ำตาลอ่อนบนฟัน หากรูลึกขึ้น จะเปลี่ยนจากสีน้ำตาลอ่อนเป็นน้ำตาลเข้ม และสีดำ ตามลำดับ
  • ปวดบริเวณรอบฟัน
  • เสียวฟันเมื่อรับประทานอาหาร เช่น ขนมหวาน เครื่องดื่มร้อน เครื่องดื่มเย็น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็กฟันผุ

เด็กทุกคนมีแบคทีเรียในช่องปาก จึงทำให้เสี่ยงฟันผุได้ทุกคน แต่ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ อาจส่งผลให้เด็กฟันผุได้ไวขึ้น

  • รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและแป้งเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน
  • รับประทานของว่างระหว่างวัน เนื่องจากกรดที่ทำร้ายฟันสามารถอยู่ได้นาน 1 ชั่วโมง การเพิ่มของว่างอาจเป็นการทำให้แบคทีเรียทำปฏิกิริยา และสร้างกรดทำลายพื้นผิวฟันอย่างต่อเนื่อง
  • แปรงฟันไม่ครบตามเกณฑ์ที่แนะนำ ปกติแล้วเด็กควรแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและก่อนนอน
  • ใช้ยาสีฟันที่ไม่มีฟลูออไรด์
  • ไม่พาเด็กเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ

เด็กฟันผุ รักษาอย่างไร

การรักษาฟันผุขึ้นอยู่กับช่วงอายุของเด็ก และอาการฟันผุที่เด็กเป็น โดยวิธีรักษาฟันผุในเด็กที่คุณหมอนิยมใช้ มีอยู่ 3 วิธี ดังนี้

  1. การอุดฟัน เป็นการใช้วัสดุ เช่น อะคริลิก เรซิน โลหะ เติมเต็มลงในรูฟันผุ
  2. การเคลือบฟัน คุณหมออาจใช้เทคนิคอินเลย์ ออนเลย์ วีเนียร์ และเลือกใช้วัสดุสำหรับสร้างฟันให้ดูเหมือนฟันจริง เช่น เซรามิก คอมโพสิต นำมายึดติดกับฟันเดิม เพื่อต่อเติมโพรงฟัน
  3. การถอนฟัน วิธีนี้อาจใช้สำหรับภาวะฟันผุที่รุนแรงจนรักษาด้วยการอุดฟันไม่ได้

การป้องกันเด็กฟันผุ

คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยป้องกันอาการฟันผุให้ลูกได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ฝึกสุขอนามัยให้เด็ก สอนให้เด็กแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่ประกอบด้วยฟลูออไรด์ ทำความสะอาดลิ้นและเหงือกอย่างถูกวิธี วันละ 2 ครั้ง สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ให้ใช้ยาสีฟันปริมาณเท่าเมล็ดข้าว เมื่อเด็กอายุครบ 3 ขวบจึงปรับให้ใช้ยาสีฟันปริมาณเท่าเมล็ดถั่ว และควรใช้ไหมขัดฟันทุกวันในเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไป
  • ป้องกันการแพร่กระจายของแบคทีเรีย คุณพ่อคุณแม่ควรระวังไม่ให้ลูกใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารร่วมกับบุคคลอื่น ๆ
  • หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น อาหารที่มีน้ำตาลสูงอย่างน้ำผลไม้ ลูกอม วิตามิน เพราะอาจทำให้เด็กเสี่ยงฟันผุได้ หากเลี่ยงได้ยาก คุณพ่อคุณแม่ควรกำชับให้เด็กแปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทาน เพื่อขจัดคราบน้ำตาลตามผิวฟัน และซอกฟัน
  • พาเด็กเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปาก การตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุก ๆ 6 เดือน อาจทำให้ทราบถึงว่าเด็กมีปัญหาช่องปาก เช่น ฟันผุ หรือไม่ และสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Tooth Decay in Children.  https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?ContentTypeID=90&ContentID=P01848. Accessed September 23, 2021

Tooth decay. https://www.nhs.uk/conditions/tooth-decay/. Accessed September 23, 2021

Children’s Oral Health. https://www.cdc.gov/oralhealth/basics/childrens-oral-health/index.html. Accessed September 23, 2021

Keeping Your Child’s Teeth Healthy. https://kidshealth.org/en/parents/healthy.html. Accessed September 23, 2021

Tooth decay. https://www.gosh.nhs.uk/conditions-and-treatments/general-medical-conditions/tooth-decay/. Accessed September 23, 2021

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/09/2021

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

สุขภาพฟันเด็ก กับปัญหาและสาเหตุที่แค่แปรงฟันอย่างเดียวอาจไม่พอ

แปรงฟันแห้ง คืออะไร ดีต่อสุขภาพฟันเด็กอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/09/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา