backup og meta

แว่นกันแดด ช่วยป้องกันโรคที่เกี่ยวกับดวงตาได้จริงหรือ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 02/02/2021

    แว่นกันแดด ช่วยป้องกันโรคที่เกี่ยวกับดวงตาได้จริงหรือ

    แว่นกันแดด ไม่ได้มีไว้สวมใส่เพื่อความสวยงามอย่างเดียว เนื่องจากมีหลักฐานยืนยันว่า การสวมแว่นกันแดดช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นต้อกระจกด้วย ถ้าอยากรู้ว่าข้อมูลนี้ชัวร์หรือมั่วนิ่ม ก็เชิญอ่านรายละเอียดด้านล่างนี้ได้เลย

    ลดความเสี่ยงในการเป็นต้อกระจก ด้วยการใส่ แว่นกันแดด

    แสงแดดมีส่วนอย่างมากที่จะให้เกิดปัญหาต้อกระจกขึ้นมาได้ ซึ่งอาการของโรคต้อกระจกก็คือ ทำให้เลนส์ดวงตาเกิดความพร่ามัว ทำให้ความสามารถในการมองเห็นของเราลดลง โรคต้อกระจกเป็นโรคที่พบได้บ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนสูงอายุ แต่การใส่แว่นกันแดดจะช่วยยับยั้งการพัฒนาของโรค ซึ่งอาจมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้ตาบอดได้

    นอกจากนี้ รังสีอัลตร้าไวโอเลตยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม (Macular degeneration) เนื้องอกบริเวณดวงตา และมะเร็งดวงตาบางชนิดที่พบได้ไม่บ่อยด้วย ซึ่งการใส่แว่นกันแดดนั้นมักจะทำกันในช่วงหน้าร้อน หรือเวลาไปเที่ยวทะเลเท่านั้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าความเสี่ยงของรังสียูวีในแสงแดดไม่ได้มีเพียงในฤดูกาลใดฤดูกาลหนึ่งเท่านั้นนะ แต่ควรใส่แว่นกันแดดเป็นประจำในทุกฤดูกาลเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ต้องเจอกับแสงแดดจ้าๆ อย่างในบ้านเราทุกวัน

    เลือกแว่นกันแดดที่มีคุณภาพ

    ก็อย่างที่รู้ๆ กันนั่นแหละว่า แว่นกันแดดในยุคนี้มีให้เลือกหลากหลายแบบและหลายหลายราคา คือมีราคาตั้งแต่ไม่กี่ร้อยบาทไปจนถึงหลักหมื่นหลักแสนเลยที่เดียว ถึงแม้แว่นกันแดดแบรนด์เนมจะทำขึ้นจากวัสดุชั้นดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยสกัดกั้นแสงยูวีอย่างได้ผลนะ ฉะนั้น อย่าไปคิดว่ายิ่งมีราคาแพงก็ยิ่งต้องเป็นของดี ซึ่งราคาที่แพงนั้นอาจมาจากกรอบหรือชื่อแบรนด์มากกว่า ฉะนั้น ก็เลือกแว่นกันแดดที่มีราคากลางๆ ดีว่า เพราะอาจจะมีคุณภาพเทียบเท่าของแพงก็ได้  แต่แว่นกันแดดราคาถูกๆ ตามตลาดนัด แว่นพวกนั้นอาจไม่ได้ช่วยป้องกันแสงยูวีในแสงแดดให้คุณเลยก็ได้นะ

    การปกป้องผิวรอบดวงตา

    อีกปัจจัยหนึ่งที่ควรพิจารณาก็คือ แว่นกันแดดนั้นๆ ช่วยปกป้องผิวรอบดวงตาด้วยหรือเปล่า เพราะผิวในบริเวณนั้นก็ทาครีมกันแดดได้ลำบากเหมือนกัน ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้เลือกแว่นกันแดดขนาดใหญ่ๆ เพื่อช่วยปกป้องผิวในบริเวณนั้น พร้อมๆ กับช่วยลดรังสียูวีที่จะลอดเข้ามาทางด้านข้างของแว่นด้วย

    ส่วนคนที่อยากมีความมั่นใจว่า แว่นกันแดดอันนั้นสามารถป้องกันรังสียูวีได้อย่างดีล่ะก็ ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการมองหาร้านที่มีเครื่องวัดแสงยูวี เพื่อจะได้ทำการทดสอบว่า แว่นกันแดดอันนั้นสามารถบล็อกรังสียูวีได้ดีขนาดไหน คนที่ใส่คอนแทคเลนส์สามารถเลือกแว่นกันแดดโดยทั่วๆ ไปได้ตามใจชอบ แต่คอนแทคเลนส์บางยี่ห้อก็มีคุณสมบัติในการป้องกันรังสียูวีเหมือนกันนะ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบอกว่า คอนแทคเลนส์ชนิดนี้ก็ช่วยปกป้องดวงตาของคุณได้เหมือนกัน

    สรุปก็คือ แว่นกันแดดที่มีคุณภาพดีจะช่วยลดแสงยูวีที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตาของเราได้ ซึ่งนั่นจะทำให้เราไม่ต้องเสี่ยงที่จะเป็นโรคต้อกระจก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าผู้สูงอายุทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ นอกจากนี้การสวมแว่นกันแดดยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมให้เกิดขึ้นช้าลงด้วย แถมยังช่วยปกป้องผิวรอบดวงตา ฉะนั้นหาแว่นกันแดดเหมาะๆ มาใส่กันดีกว่า

    เคล็ดลับในการเลือกแว่นกันแดดที่มีคุณภาพ

  • มองหาแว่นกันแดดที่ช่วยป้องกันรังสียูวีเอ และรังสียูวีบีได้ 99 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์
  • อย่าเลือกแว่นกันแดดโดยพิจารณาที่ความมืด หรือสีของเลนส์ เพราะเล่นสีมืดๆ ไม่ได้ช่วยสกัดกั้นรังสียูวีได้ดีกว่าเลนส์สีใสๆ คุณควรอ่านรายละเอียดที่ฉลากแว่นให้ดีก่อน ก็จะช่วยให้คุณเลือกแว่นกันแดดที่มีคุณภาพได้ดีกว่า
  • ถ้าพูดถึงเรื่องขนาด ยิ่งใหญ่ก็ยิ่งดี เพราะจะช่วยป้องกันแสงยูวีได้ดีกว่า ซึ่งก็หมายความว่าแว่นขนาดใหญ่ๆ จะช่วยลดแสงยูวีที่ลอดเข้ามาทางด้านข้างแว่นได้ จงจำเอาไว้ว่ารังสียูวีไม่ได้ส่องเข้ามาตรงๆ ได้ทางเดียว แต่อาจสะท้อนเข้ามาจากกระจกรถยนต์ หรือผิวน้ำก็ได้
  • ถ้าคุณต้องมีการนั่งเรือหรือขับรถบ่อยๆ ก็ควรเลือกเลนส์ชนิด Polarized หรือเลนส์ตัดแสงที่มีคุณสมบัติในการช่วยลดแสงจ้าและแสงสะท้อนได้เป็นอย่างดี
  • จงจำไว้ว่าราคาไม่ใช่ตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพในการป้องกันแสงยูวี ซึ่งผลการศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่า แว่นกันแดดที่มีราคาแพงบางยี่ห้อ จะป้องกันรังสียูวีได้น้อยกว่าแว่นกันแดดที่มีราคาถูกกว่า ดังนั้นควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ถ้าคุณต้องการเลือกแว่นกันแดดที่เหมาะกับตัวเอง
  • Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 02/02/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา