ตาบอดสี เป็นภาวะบกพร่องของประสาทสัมผัสการรับรู้สึก อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทำให้มีการมองเห็นสีที่ผิดปกติตั้งแต่กำเนิด แต่ก็อาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น การ ทดสอบตาบอดสี ทำได้ด้วยการทำแบบทดสอบแยกสีในแผ่นกระดาษ ในหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือการใช้เครื่องมือแยกสี โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการตาบอดสีไม่สามารถรักษาให้หายได้ ยกเว้นภาวะที่เกิดจากการใช้ยาหรือเกิดจากปัญหาของดวงตาที่เพิ่งมีขึ้นในภายหลัง คุณหมออาจวางแผนการรักษาให้การมองเห็นสีดีขึ้น
[embed-health-tool-bmi]
ตาบอดสี คืออะไร
ภาวะตาบอดสี (Color Blindness) คือ ความผิดปกติของดวงตาในการตอบสนองต่อความยาวคลื่นแสงต่าง ๆ โดยทั่วไป แสงที่มีความยาวคลื่นของทุกสีจะเดินทางเข้าสู่ดวงตาทางกระจกตาผ่านทางเลนส์ตาและวุ้นตาเข้าไปยังเซลล์รูปกรวยในดวงตาที่อยู่บริเวณจุดรับภาพของจอประสาทตาหรือเรตินา (Retina) เซลล์รูปกรวยจะมีความไวต่อแสงความยาวคลื่นสั้น (สีน้ำเงิน) ปานกลาง (สีเขียว) หรือยาว (สีแดง) ที่ทำให้สามารถรับรู้สีได้ตามปกติ แต่หากเซลล์รูปกรวยขาดสารเคมีที่ไวต่อความยาวคลื่นอย่างน้อย 1 ชนิด ก็จะส่งผลให้การรับรู้สีแตกต่างไปจากคนทั่วไป
ตาบอดสี เกิดจากอะไร
ตาบอดสี เป็นความผิดปกติที่สืบทอดทางพันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นตาบอดสีมักจะมีโอกาสเป็นตาบอดสีได้มากกว่าคนทั่วไป และมักมีภาวะนี้ตั้งแต่กำเนิดและส่งผลต่อดวงตาทั้ง 2 ข้าง ตามปกติแล้วความรุนแรงจะไม่เพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้นและพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง สำหรับผู้ที่มีภาวะนี้ในภายหลังอาจเกิดได้เมื่อสมองหรือดวงตาได้รับความเสียหาย ซึ่งทำให้การมองเห็นสีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ตาบอดสีมักทำให้สับสนในการแยกแยะสีในชีวิตประจำวันและมองเห็นสีบางสีที่ไม่สดใสเท่าผู้ที่มีสายตาปกติ คนส่วนใหญ่ที่ตาบอดสีไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสีแดงและสีเขียวบางเฉดได้ ในบางกรณีซึ่งพบได้ไม่บ่อย คนตาบอดสีจะไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างเฉดสีฟ้าและสีเหลืองได้ ทั้งนี้ ผู้ที่ตาบอดสีไม่ได้มีความเสี่ยงในการสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอด
ประเภทของตาบอดสี
ตาบอดสี อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
- ตาบอดสีแดง-เขียว เป็นลักษณะที่พบได้บ่อยที่สุด โดยผู้ที่ตาบอดสีจะแยกความแตกต่างระหว่างสีแดงและสีเขียวได้ยากกว่าปกติ
- ตาบอดสีน้ำเงิน-เหลือง เป็นลักษณะที่พบได้ไม่บ่อย ผู้ที่ตาบอดสีจะแยกความแตกต่างระหว่างสีน้ำเงินกับสีเขียว และความแตกต่าของสีเหลืองกับสีแดงได้ยากกว่าปกติ
- ตาบอดสีอย่างสมบูรณ์ พบได้ยากมาก ผู้ที่ตาบอดสีโดยสมบูรณ์ จะมองไม่เห็นหรือแยกแยะสีได้เลย เนื่องจากไม่มีเซลล์รูปกรวยเลย และมีเพียงเซลล์รูปแท่งที่ทำให้มองสีเป็นสีขาวและสีดำ
ทดสอบตาบอดสี ทำอย่างไร
ทดสอบตาบอดสี อาจแบ่งได้ 3 ประเภท ซึ่งจะมีวิธีการทดสอบที่แตกต่างกัน ดังนี้
แบบทดสอบอิชิฮาระ (Ishihara color test)
เป็นแบบทดสอบที่คิดค้นโดยนายแพทย์ชิโนบุ อิชิฮาระ (Shinobu Ishihara) ซึ่งเป็นวิธีทดสอบตาบอดสีที่ได้รับความนิยมสูงสุด ใช้ในการตรวจหาตาบอดสีแดง-เขียว ซึ่งคุณหมอจะให้ผู้ทดสอบมองชุดวงกลมหลากสีหลาย ๆ วงที่ประกอบกันเป็นวงใหญ่วงเดียว หรือที่เรียกว่าเพลต (Plates) ในแต่ละเพลตจะมีวงกลมบางจุดที่ก่อตัวเป็นรูปร่างหรือตัวเลข 1 หรือ 2 หลัก หากผู้ทดสอบมีปัญหาในการแยกแยะสีแดงและสีเขียว จะทำให้มองเห็นรูปร่างของตัวเลขได้ยากกว่าปกติ หรืออาจไม่มองเห็นตัวเลขเหล่านั้นเลยก็เป็นได้
แบบทดสอบเคมบริดจ์ (Cambridge color test)
เป็นแบบทดสอบที่คล้ายคลึงกับแบบทดสอบอิชิฮาระ แบบทดสอบเคมบริดจ์จะทดสอบในคอมพิวเตอร์เท่านั้น ผู้ทดสอบจะต้องหารูปตัว C ที่มีสีแตกต่างจากพื้นหลัง และกดปุ่มใดปุ่มหนึ่งใน 4 ปุ่ม เพื่อระบุว่าตัวอักษร C หันไปในทิศทางใด ซึ่งจะปรากฏขึ้นแบบสุ่มไปเรื่อย ๆ และจะมีการระบุผลการทดสอบซึ่งจะแจ้งว่าผู้ทดสอบเป็นผู้ที่มีตาบอดสีหรือไม่
การทดสอบด้วยเครื่องอโนมาโลสโคป (Anomaloscope)
เป็นการทดสอบด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ช่วยประเมินประสิทธิภาพของการแยกแยะสีแดงและสีเขียวของผู้ทดสอบ คุณหมอจะให้ผู้ทดสอบมองผ่านช่องมองภาพซึ่งจะมีวงกลมปรากฏให้เห็น ครึ่งบนของวงกลมเป็นไฟสีเหลือง ในขณะที่ครึ่งล่างจะมีไฟสีแดงและสีเขียว ผู้ทดสอบจะต้องหมุนลูกบิดของครื่องอโนมาโลสโคปจนวงกลมทั้ง 2 มีฝั่งมีสีและความสว่างเท่ากัน