backup og meta

LGBTQ คืออะไร ข้อเท็จจริงและความเข้าใจผิด ๆ

LGBTQ คืออะไร ข้อเท็จจริงและความเข้าใจผิด ๆ

LGBTQ คือ กลุ่มความหลากหลายทางเพศต่าง ๆ ในสังคม โดยจำแนกตามรสนิยมทางเพศ สังคมไทยในปัจจุบันยอมรับบุคคลกลุ่ม LGBTQ มากขึ้น แต่ยังมีความเข้าใจผิดบางประการ ซึ่งจำเป็นที่คนในสังคมควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ ระมัดระวังการเหยียดเพศโดยไม่ตั้งใจ เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข

[embed-health-tool-ovulation]

LGBTQ ย่อมาจากอะไร

LGBTQ คือ ตัวย่อของรสนิยมเพศทางเลือกหลัก ๆ ในสังคม ดังนี้

  • L ย่อมาจาก เลสเบี้ยน (Lesbian) หมายถึงผู้หญิงซึ่งชอบผู้หญิงด้วยกัน
  • G ย่อมาจาก เกย์ (Gay) หมายถึง ผู้ชายที่ชอบผู้ชายด้วยกัน
  • B ย่อมาจาก ไบเซ็กชวล (Bisexual) หมายถึง คนที่ชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิง
  • T ย่อมาจาก ทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) หมายถึง กลุ่มคนข้ามเพศ หรือผู้ที่มีเพศสภาพและเพศกำเนิดไม่สอดคล้องกัน เป็นได้ทั้งผู้ชายที่อยากเป็นผู้หญิง และผู้หญิงที่อยากเป็นผู้ชาย ทั้งในกรณีแปลงเพศแล้วและยังไม่แปลงเพศ
  • Q ย่อมาจาก เควียร์ (Queer) หมายถึง ผู้ที่ไม่จำกัดเพศ ไม่นิยามตัวเองว่าเป็นแบบใดแบบหนึ่ง

นอกจากกลุ่มรสนิยมทางเพศหลัก ๆ ที่กล่าวมา ในสังคมยังมีรสนิยมเพศทางเลือกรูปแบบอื่นอีก เช่น เอเซ็กชวล (Asexual) หรือการไม่ฝักใฝ่เรื่องเพศ แพนเซ็กชวล (Pansexual) หรือการมีความรักแบบไม่จำกัดเพศ นอน-ไบนารี (Non-Binary) หรือการมีสำนึกทางเพศที่มองว่าตัวเองไม่อยู่ในขั้วของความเป็นชายหรือหญิง

ความเข้าใจผิดต่าง ๆ เกี่ยวกับ LGBTQ

ในปัจจุบัน แม้กลุ่ม LGBTQ จะได้รับการยอมรับและแสดงตัวได้อย่างค่อนข้างเปิดเผยในสังคมไทย แต่ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับกลุ่ม LGBTQ ก็ยังคงอยู่ เช่น

ความเชื่อผิด ๆ: LGBTQ เป็นผู้ปกครองที่ดีไม่ได้

ความเป็นจริง: ผู้ที่เป็น LGBTQ สามารถสร้างครอบครัวและเป็นผู้ปกครองที่เลี้ยงเด็กให้มีความสุขและสำเร็จได้ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่สรุปว่าครอบครัวซึ่งมีผู้ปกครองเป็นคนต่างเพศและครอบครัวที่มีผู้ปกครองเป็นเพศเดียวกัน แทบไม่มีความแตกต่างกันในการเลี้ยงเด็กให้เติบโตในสังคม

หรือแม้กระทั่งมีงานวิจัยที่ระบุว่า กลุ่ม LGBTQ อาจเป็นผู้ปกครองที่ดีกว่า เพราะกลุ่ม LGBTQ มักตั้งใจและวางแผนทั้งด้านสถานะการเงิน สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย ที่จะมีลูกทั้งด้วยการรับเด็กเป็นลูกบุญธรรมหรือทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งน้อยรายที่จะมีลูกด้วยความไม่ตั้งใจ แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบและการเตรียมพร้อมเป็นอย่างดีในการดูแลบุตร การเตรียมตัวและความพร้อมนี้เองที่ชี้ให้เห็นว่า ชาว LGBTQ สามารถมีครอบครัวที่อบอุ่นและเป็นผู้ปกครองที่ดีได้

ความเชื่อผิด ๆ: เด็กซึ่งถูกเลี้ยงโดยผู้ปกครอง LGBTQ มีแนวโน้มเป็น LGBTQ

ความเป็นจริง: จริง ๆ แล้วเด็กส่วนใหญ่ที่มีผู้ปกครองเป็นชาว LGBTQ กลับมีรสนิยมทางเพศชอบเพศตรงข้าม มีการสำรวจประชากรเด็กในสหรัฐอเมริกากว่า 6 ล้านคนซึ่งมีผู้ปกครองเป็นชาว LGBTQ พบว่า โดยส่วนใหญ่ พวกเขาชอบเพศตรงข้ามมากกว่า อาจเกิดจากการที่ผู้ปกครองซึ่งเป็น LGBTQ สอนให้เด็ก ๆ ไม่ตัดสินหรือเลือกรักใครจากเรื่องเพศอย่างเดียว แต่ให้สำรวจความรู้สึกของตัวเองและให้ดูว่าคนที่พวกเขาชอบเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมแบบไหนมากกว่า อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วยในการเลือกที่จะชอบหรือไม่ชอบใคร

ความเชื่อผิด ๆ: ความสัมพันธ์ของ LGBTQ ไม่ยืนยาว

ความเป็นจริง: คู่รักในกลุ่ม LGBTQ มักมีความสัมพันธ์ระยะสั้น หรือเปลี่ยนคู่รักบ่อย ทั้งนี้เป็นเพราะหลายปัจจัย ทั้งด้วยสภาพสังคมที่กดดัน การไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว ก่อให้เกิดความเครียดซึ่งกระทบต่อความสัมพันธ์ในระยะยาว สอดคล้องกับ การศึกษาหนึ่งในปี พ.ศ. 2560 โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัย โบว์ลิง กรีน สเตด (Bowling Green State University) ในสหรัฐอเมริกา พบว่า ความมั่นคงในคู่รักชายรักชายนั้นน้อยกว่าในคู่รักต่างเพศและหญิงรักหญิง โดยสาเหตุมาจากชายรักชายมักมีความเครียด ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะความรักและความสัมพันธ์ของกลุ่ม LGBTQ เท่านั้นที่มักไม่ยืนยาว ในคู่รักที่ชอบเพศตรงข้ามพบว่ามีอัตราการเลิกคบหรือหย่าร้างไม่ต่างกัน ตัวอย่างในการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ (University of Illinoi) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Developmental Psychology ในปี พ.ศ. 2551 พบว่าระดับความมุ่งมั่นในความรักและความพึงพอใจในชีวิตคู่ ระหว่างคู่รักต่างเพศและเพศเดียวกัน ไม่มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ รสนิยมทางเพศไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลให้ความสัมพันธ์ไม่ยืนยาว อาจรวมถึงทัศนคติ ความชอบ ฐานะทางการเงิน และอื่น ๆ

ความเชื่อผิด ๆ: เกย์มักออกสาวและเลสเบียนจะเข้มแข็งเหมือนผู้ชาย

ความเป็นจริง: สังคมมักเหมารวมว่าผู้ชายที่เป็นเกย์ ต้องแต่งตัวหรือออกท่าทางคล้ายผู้หญิง หรือหากเป็นเลสเบี้ยน ผู้หญิงคนนั้นจะต้องแสดงออกหรือมีท่าทางที่เข้มแข็ง ความเป็นจริง ไม่ใช่เกย์ทุกคนจะมีลักษณะคล้ายผู้หญิงหรือเลสเบี้ยนจะดูเข้มแข็งเหมือนผู้ชาย ท่าทาง คำพูด การแสดงออก ไม่อาจสะท้อนรสนิยมทางเพศได้ และที่สำคัญ ทุกคนต่างมีบุคลิกลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

นอกจากนี้ การแต่งกายข้ามเพศไม่ได้แปลว่าเป็น LGBTQ เสมอไป เนื่องจากอาจเป็นเพียงรสนิยมส่วนบุคคลเท่านั้น ดังนั้น การเหมารวมอาจนำไปสู่ความเข้าใจที่ผิด ๆ ได้

ความเชื่อผิด ๆ: คนเลือกที่จะเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนได้

ความเป็นจริง: ปัจจุบัน ยังมีความเชื่อที่ว่า LGBTQ นั้นเลือกได้ว่าจะเป็นหรือไม่เป็น แต่ผลการศึกษาจำนวนมากชี้ว่า คน ๆ หนึ่ง เป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนเนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น สิ่งแวดล้อม อารมณ์ ฮอร์โมน โดยเฉพาะยีน หรืออาจกล่าวได้ว่า รสนิยมทางเพศนั้นส่งต่อกันผ่านพันธุกรรม คนในครอบครัวที่ลูกชายคนโตเป็นเกย์ น้องชายก็อาจมีแนวโน้มที่จะเป็นเกย์หรือมีรสนิยมทางเพศแบบ LGBTQ เช่นกัน  ดังนั้น รสนิยมรักร่วมเพศไม่ใช่ “ตัวเลือก” ที่เลือกจะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ แต่อาจเป็นเรื่องที่ “born to be”

ความเชื่อผิด ๆ: LGBTQ รักษาให้หายได้

ความเป็นจริง: LGBTQ เป็นรสนิยม ไม่ใช่โรค และไม่ใช่อาการป่วย ตามที่วารสาร WAS News ของ สมาคมสุขภาพทางเพศแห่งโลก พ.ศ. 2554 ได้ระบุว่า รักร่วมเพศไม่ใช่โรค หลักฐานอย่างเป็นทางการคือ ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต พ.ศ. 2516 และองค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2533 ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า รักร่วมเพศนั้นเป็นลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต

การรักษาให้หายจึงไม่ใช่เรื่องจำเป็น โดยเฉพาะการรักษาด้วยการบำบัดเพศวิถี (Conversion Therapy) ซึ่งเป็นการบำบัดด้วยรูปแบบหรือวิธีการใด ๆ ก็ตาม โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศ หรือไม่ให้แสดงเอกลักษณ์ทางเพศออกมา  เช่น การสวดมนต์ ทำร้ายร่างกาย หรือให้อดอาหาร ทั้งนี้ การบำบัดเพศวิถีถูกสั่งห้ามแล้วในสหราชอาณาจักรตั้งแต่ พ.ศ. 2561

ความเชื่อผิด ๆ: ไบเซ็กชวลและแพนเซ็กชวลเป็นสิ่งที่เหมือนกัน

ความเป็นจริง: แม้ในกลุ่มชาว LGBTQ เองนั้นอาจนิยามหรือให้ความหมายของ 2 คำนี้แตกต่างกัน แต่โดยพื้นฐานแล้วผู้นิยามตัวเองเป็นไบเซ็กชวลนั้นมักชอบเพศชายหรือเพศหญิง  แต่ในขณะเดียวกันก็ยังอาจหมายรวมถึง ผู้ที่ชื่นชอบคนที่มีเพศเดียวกับตนเอง หรือชอบคนที่มีเพศตรงกันข้ามกับตนเองด้วยก็ได้  ในขณะที่คนที่เรียกตนเองว่าเป็นแพนเซ็กชวลจะรู้สึกดึงดูดได้กับทุกเพศ โดยไม่ระบุว่าต้องเป็นเพศเดียวกับตนเอง เพศตรงข้าม หรือเพศทางเลือก เนื่องจากบุคคลแพนเซ็กชวลจะรักหรือชอบบุคคลใดบุลคลหนึ่ง โดยปราศจากข้อกำหนดตายตัวว่าจะต้องเป็นเพศใด

ความเชื่อผิด ๆ: ทรานส์เจนเดอร์ทุกคนอยากแปลงเพศ

ความเป็นจริง: ปัจจุบัน มีทรานส์เจนเดอร์จำนวนไม่น้อยเลือกรับประทานฮอร์โมนเพศตรงข้าม เพื่อให้มีลักษณะของเพศซึ่งตัวเองอยากเป็น และตัดสินใจแปลงเพศในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ยังมีทรานส์เจนเดอร์อีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ต้องการตัดอวัยวะเพศ แปลงอวัยวะเพศ เสริมหน้าอก หรือทำให้ร่างกายของตัวเองเปลี่ยนไปแบบถาวร และเลือกแสดงจุดยืนทางเพศของตน ผ่านการแต่งกายข้ามเพศ การแสดงออกทางความคิดเห็น และวิธีอื่น ๆ รวมทั้งผู้ที่ไม่ต้องการแสดงออกทางรสนิยมทางเพศ ซึ่งเป็นสิทธิ์ตามชอบและรสนิยมของแต่ละบุคคล

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

LGBTQ myths debunked with science and facts. https://www.washingtonblade.com/2021/06/17/lgbtq-myths-debunked-with-science-and-facts/. Accessed January 27, 2022

WHAT THE ‘Q’ IN LGBTQ STANDS FOR, AND OTHER IDENTITY TERMS EXPLAINED. https://edition.cnn.com/interactive/2019/06/health/lgbtq-explainer/#:~:text=LGBTQ%3A%20The%20first%20four%20letters,queer%2C%E2%80%9D%20or%20sometimes%20both.. Accessed January 27, 2022

สุขภาพของคนข้ามเพศ (TRANSGENDER) ต้องดูแลทั้งกายและใจ. https://www.phyathai.com/article_detail/3616/th/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A8_(TRANSGENDER)_%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%83%E0%B8%88?branch=PYT3. Accessed January 27, 2022

Conversion Therapy. https://www.stonewall.org.uk/campaign-groups/conversion-therapy.

LGBTQ ความหลากหลายที่ต้องเข้าใจ. https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/LGBTQ. Accessed January 27, 2022

What Is Homosexuality?. https://www.webmd.com/sex/what-is-homosexuality. Accessed January 27, 2022

MYTHS & FACTS. https://gilbertcentre.ca/get-informed/lgbtq-info/myths-and-facts/. Accessed January 27, 2022

WHAT IS LGBTQ? https://gaycenter.org/about/lgbtq/. Accessed 5 July, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/01/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

Pansexual คืออะไร รูปแบบรสนิยมทางเพศมีอะไรบ้าง

เลสเบี้ยน กับปัญหาสุขภาพที่ควรระวัง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา