กินยาคุมฉุกเฉิน แต่ ประจำเดือนไม่มา หรือประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังตั้งครรภ์ ตั้งครรภ์นอกมดลูก หรืออาจเกิดจากผลข้างเคียงของการใช้ยา ดังนั้น หากกินยาคุมฉุกเฉินแล้วประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดกระปริบกระปรอยนานกว่า 1 สัปดาห์ และมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงร่วมด้วย ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยเร็ว
[embed-health-tool-ovulation]
ประเภทของยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมี 2 ประเภท ได้แก่
- ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel)
เป็นยาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่นิยมใช้ในประเทศไทย ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจอเตอโรน (Progesterone) สังเคราะห์ ยา 1 กล่อง มี 1 แผง แต่ละแผงจะมีเม็ดยาอยู่ 2 เม็ด เม็ดละ 750 ไมโครกรัม ควรรับประทานภายใน 72 ชั่วโมง นับจากวันที่มีเพศสัมพันธ์ และควรรับประทานเม็ดแรกไม่เกิน 12 ชั่วโมง หรืออาจรับประทาน 2 เม็ดพร้อมกัน หากมีอาการอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมงหลังรับประทานยา ควรรับประทานยาใหม่อีกครั้ง แต่ไม่ควรรับประทานเกิน 4 เม็ด หรือ 2 กล่อง ภายในระยะเวลา 1 เดือน
- ยูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal Acetate)
เป็นยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดใหม่ ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงกว่าลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) โดยควรรับประทานภายใน 120 ชั่วโมงนับจากวันที่มีเพศสัมพันธ์
กินยาคุมฉุกเฉิน ประจำเดือนไม่มา เกิดจากอะไร
ยาคุมฉุกเฉิน คือ ยาคุมกำเนิดที่เหมาะสำหรับผู้ที่เผชิญเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น ถุงยางอนามัยแตกขณะมีเพศสัมพันธ์ ถุงยางอนามัยหลุดจากการสวมใส่ไม่ถูกวิธี รวมไปถึงผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่มีการป้องกัน หรือลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดตั้งแต่ 3 เม็ดขึ้นไป ยาคุมฉุกเฉินมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ช่วยชะลอการตกไข่ ช่วยไม่ให้อสุจิเดินทางมาผสมกับไข่ได้ แต่ขณะเดียวกันก็อาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาหรือมากว่าช้ากว่าปกติ จนผู้ใช้สงสัยว่าตั้งครรภ์หรือไม่
สาเหตุที่กินยาคุมฉุกเฉินแล้วประจำเดือนไม่มาอาจเกิดจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ในยาคุมเข้าไปเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกายเพื่อช่วยชะลอการตกไข่ ซึ่งอาจกระตุ้นเกิดการเปลี่ยนแปลงของรอบเดือน ส่งผลให้ประจำเดือนเดือนถัดไปคลาดเคลื่อน
นอกจากนี้ ประจำเดือนจะมาช้าหรือเร็วยังขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคลด้วย หากเป็นผู้ที่มีประจำเดือนมาไม่ปกติอยู่แล้ว หรือเครียดจัดในช่วงนั้น อาจทำให้ประจำเดือนรอบถัดไปมาช้าหรือคลาดเคลื่อนหลายวัน สำหรับผู้ที่มีประจำเดือนปกติ รอบเดือนถัดไปประจำเดือนอาจมาเร็วหรือล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ หากสงสัยว่าตั้งครรภ์หรือไม่ อาจตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง หรือเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดโดยคุณหมอ
ผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉิน
ผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉิน มีดังนี้
- ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
- เหนื่อยล้า
- คลื่นไส้ อาเจียน
- รู้สึกไม่สบาย
- ปวดท้องน้อย
- เจ็บเต้านม
- มีเลือดออกระหว่างรอบเดือน หรือประจำเดือนมามาก
อาการหลังจากใช้ยาคุมฉุกเฉิน ที่ควรเข้าพบคุณหมอ
หากเกิดอาการต่อไปนี้หลังรับประทานยาคุมฉุกเฉินลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) หรือยาคุมฉุกเฉินยูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal Acetate) 2-3 ชั่วโมง ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพจากคุณหมอทันที เพราะอาจเสี่ยงเกิดภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
- รู้สึกไม่สบาย เจ็บป่วย
- ปวดท้องน้อยกะทันหัน
- ประจำเดือนรอบถัดไปมาช้าเกิน 7 วัน
วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ
นอกจากการรับประทานยาคุมฉุกเฉินเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ ยังมีวิธีคุมกำเนิดในรูปแบบอื่น ๆ ที่สามารถทำได้ ดังนี้
- ห่วงอนามัยคุมกำเนิด (IUD) คือ ห่วงอนามัยขนาดเล็กที่มีลักษณะเป็นตัว T ที่คุณหมอจะใส่ไว้บริเวณปากมดลูก เพื่อทำให้สเปิร์มเข้าไปผสมกับไข่ได้ยากขึ้น อุปกรณ์นี้สามารถอยู่ในร่างกายได้นานถึง 10 ปี โดยไม่จำเป็นต้องถอดออกจนกว่าจะครบกำหนด
- ยาคุมกำเนิดแบบฉีด เป็นการฉีดฮอร์โมนโปรเจสตินเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อชะลอการตกไข่ในแต่ละรอบเดือน และทำให้เมือกที่ปากมดลูกหนาขึ้น เพื่อไม่ให้สเปิร์มเดินทางผ่านปากมดลูกเข้าไปผสมกับไข่ได้ แต่อาจออกฤทธิ์ได้นาน 8-10 สัปดาห์เท่านั้น จึงจำเป็นต้องเข้ารับการฉีดบ่อยครั้ง
- การฝังยาคุมกำเนิด เป็นทางเลือกการคุมกำเนิดในระยะยาวประมาณ 1-3 ปี โดยคุณหมอจะฝังแท่งพลาสติกขนาดเล็กใต้ท้องแขน แท่งพลาสติกจะปล่อยฮอร์โมนโปรเจนตินในปริมาณต่ำออกมาเรื่อย ๆ เพื่อทำให้มูกของมดลูกหนา และชะลอการตกไข่
- วงแหวนคุมกำเนิด เป็นอุปกรณ์คุมกำเนิดทรงวงแหวน ทำจากพลาสติกทรงวงแหวน ยืดหยุ่นได้ดี บรรจุฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจนเตอโรนที่ช่วยยับยั้งการตกไข่ และทำให้เยื่อบุมดลูกบางลง เพื่อทำให้ตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิฝังตัวได้ยากขึ้น แต่อาจจำเป็นต้องถอดออกทุกครั้งในช่วงมีประจำเดือนก่อนใส่กลับเข้าไปใหม่ หลังจากประจำเดือนหมด 1 สัปดาห์
- แผ่นแปะคุมกำเนิด เป็นวิธีที่ค่อนข้างสะดวกมาก เพียงแค่แปะแผ่นคุมกำเนิดลงบนผิวหนังบริเวณที่มีขนน้อยและแห้งก็ช่วยคุมกำเนิดได้ แผ่นแปะคุมกำเนิดประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจนเตอโรนที่ส่งผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อยับยั้งการตกไข่ในแต่ละเดือน
- ถุงยางอนามัย ปัจจุบันถุงยางอนามัยมีทั้งของผู้ชายและผู้หญิง ช่วยป้องกันไม่ให้สเปิร์มเข้าไปผสมกับไข่ได้ อีกทั้งยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส (Syphilis) การติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
- ยาฆ่าอสุจิ เป็นยาที่ควรใช้ก่อนมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 1 ชั่วโมง โดยวางไว้ในช่องคลอดและปล่อยทิ้งไว้ 6-8 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ เพื่อฆ่าเชื้ออสุจิ
- ฝาครอบปากมดลูก คือ อุปกรณ์คุมกำเนิดลักษณะคล้ายถ้วย ทำจากซิลิโคน โดยต้องสอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อครอบปากมดลูกไว้ก่อนมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันอสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ และควรปล่อยทิ้งไว้ 6 ชั่วโมง เพื่อให้สารฆ่าเชื้ออสุจิที่เคลือบฝาครอบไว้ออกฤทธิ์