backup og meta

กินยาคุมฉุกเฉินแล้วเลือดออก เกิดจากอะไร และผลข้างเคียงที่ควรรู้

กินยาคุมฉุกเฉินแล้วเลือดออก เกิดจากอะไร และผลข้างเคียงที่ควรรู้

ยาคุมฉุกเฉิน เป็นวิธีคุมกำเนิดในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือเกิดความผิดพลาดในการคุมกำเนิด ทั้งนี้ไม่ควรกินยาคุมฉุกเฉินติดต่อกันบ่อย ๆ เนื่องจากมีระดับฮอร์โมนสูงกว่ายาคุมกำเนิดทั่วไปจึงอาจทำให้ระดับฮอร์โมนแปรปรวน และเกิดผลข้างเคียง เช่น กินยาคุมฉุกเฉินแล้วเลือดออก ประจำเดือนมาไม่ปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ ปวดท้อง เป็นตะคริว จึงควรใช้ในกรณีจำเป็นเท่านั้น และใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่น เช่น สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงกว่า ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย

[embed-health-tool-ovulation]

ยาคุมฉุกเฉิน คืออะไร

ยาคุมฉุกเฉิน (Morning-after pill หรือ Emergency contraceptive pill) เป็นยาคุมกำเนิดแบบเม็ดที่ใช้ป้องกันการตั้งครรภ์ในกรณีฉุกเฉิน มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ 75-85% เมื่อกินยาคุมฉุกเฉินชนิดลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ภายใน 72 ชั่วโมง ( 3 วัน) และเมื่อกินยาคุมฉุกเฉินชนิดยูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal acetate) ภายใน 120 ชั่วโมง (5 วัน) หลังมีเพศสัมพันธ์ โดยวิธีการกินสามารถกินครั้งเดียวทั้ง 2 เม็ด หรือจากกินทีละเม็ดห่างกัน 12 ชั่วโมงก็ได้ ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินอาจขึ้นอยู่กับความเร็วในการกินยาหลังมีเพศสัมพันธ์ ยิ่งกินยาเร็วเท่าไหร่ก็อาจยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้มากขึ้นเท่านั้น และไม่ควรกินมากกว่า 2 แผงภายในรอบเดือนเดียว เพราะอาจส่งผลต่อระบบฮอร์โมนได้

ยาคุมฉุกเฉิน ทำงานอย่างไร

การทำงานของยาคุมฉุกเฉินจะขึ้นอยู่กับระยะรอบเดือน หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันในช่วงที่มดลูกยังไม่ปล่อยไข่ไปยังท่อนำไข่แล้วกินยาคุมฉุกเฉิน ยาคุมฉุกเฉินอาจช่วยชะลอการไข่ตก (Ovulation) เพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิไปผสมกับไข่ แต่หากไข่ผสมกับอสุจิแล้ว ยาคุมฉุกเฉินจะไปเพิ่มความเหนียวของมูกปากมดลูกเเละทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง จนไข่ที่ผสมแล้วเดินทางไปยังโพรงมดลูกและฝังตัวที่ผนังมดลูกได้ยากขึ้น แต่หากไข่ที่ผสมแล้วฝังตัวเข้ากับโพรงมดลูกก่อนกินยาคุมฉุกเฉิน ก็อาจทำให้ไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ อย่างไรก็ตาม ควรรีบกินยาคุมฉุกเฉินทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์

ยาคุมฉุกเฉินเหมาะสำหรับใคร

ยาคุมฉุกเฉิน เป็นการคุมกำเนิดที่ไม่เหมาะใช้ในระยะยาว เนื่องจากมีระดับฮอร์โมนสูงกว่ายาคุมกำเนิดแบบเม็ดที่รับประทานแบบรายเดือน จึงทำให้เสี่ยงเกิดปัญหาในระบบสืบพันธุ์ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์นอกมดลูก อีกทั้งการคุมกำเนิดฉุกเฉินยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์น้อยกว่าการคุมกำเนิดแบบอื่น จึงควรใช้ในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น เช่น

  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และไม่ได้ใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ เช่น ห่วงอนามัย ถุงยางอนามัย
  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอม ทำให้ไม่สามารถใช้การคุมกำเนิดได้ตามปกติ
  • สงสัยว่าการคุมกำเนิดที่ใช้อยู่ไม่ได้ผล เช่น ถุงยางแตก ถุงยางหลุด ลืมกินยาคุมกำเนิด ลืมฉีดยาคุมกำเนิด
  • นับระยะปลอดภัยผิด

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่ควรกินยาคุมฉุกเฉินในกรณีต่อไปนี้

  • รู้ตัวว่าตั้งครรภ์อยู่หรือสงสัยว่าตัวเองตั้งครรภ์
  • มีประวัติแพ้ยาคุมฉุกเฉิน หรือไวต่อส่วนประกอบในยาคุมฉุกเฉิน
  • มีประวัติเลือดออกทางช่องคลอดที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยจากคุณหมอ

อย่างไรก็ตาม การกินยาคุมกำเนิดเพียงอย่างเดียวอาจช่วยป้องกันได้แค่การตั้งครรภ์เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted infections หรือ STIs) เช่น โรคเริม โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม โรคซิฟิลิส โรคหูดหงอนไก่ ที่เกิดจากการสัมผัสเชื้อโดยตรงหรือรับเชื้อจากการร่วมเพศกับคนที่ติดเชื้อ ดังนั้น หากไม่ได้มีคู่นอนเพียงคนเดียว ควรสวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง โดยทั่วไป ถุงยางอนามัย 1 ชิ้น สามารถใช้งานได้ประมาณ 30 นาที หากครบกำหนดเวลา ควรเปลี่ยนไปใช้ถุงยางชิ้นใหม่

กินยาคุมฉุกเฉินแล้วเลือดออก เกิดจากอะไร

โดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงหลายคนสามารถกินยาคุมฉุกเฉินเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ได้โดยไม่พบอาการข้างเคียง แต่บางคนก็อาจพบอาการผิดปกติ เช่น กินยาคุมฉุกเฉินแล้วเลือดออก มีจุดเลือดกะปริบกะปรอยหรือเลือดไหลออกจากช่องคลอดผิดปกติ เนื่องจากยาคุมฉุกเฉินทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเสียสมดุล ส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอก จึงมีเลือดออกมาจากช่องคลอด โดยอาการอาจเกิดขึ้นภายใน 1 สัปดาห์หลังกินยา นอกจากนี้ ยาคุมฉุกเฉินยังอาจทำให้ประจำเดือนในรอบต่อไปเปลี่ยนแปลง เช่น มาเร็วหรือช้ากว่าปกติ มามากหรือน้อยกว่าปกติ

แต่หากสังเกตว่าประจำเดือนมาช้ากว่าปกติเกิน 3 สัปดาห์ ร่วมกับมีจุดเลือดออก อาจเป็นอาการของเลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation bleeding) ที่เกิดจากตัวอ่อนฝังตัวเข้ากับผนังมดลูกจนทำให้หลอดเลือดฝอยภายในมดลูกแตกออกและมีหยดเลือดออกจากช่องคลอด จึงควรใช้ที่ตรวจการตั้งครรภ์ (Pregnancy test) เพื่อยันยืนว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นหรือไม่

ผลข้างเคียงของการกินยาคุมฉุกเฉิน

นอกจากเลือดออกทางช่องคลอดแล้ว การกินยาคุมฉุกเฉิน อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อไปนี้ได้ด้วย

  • คลื่นไส้
  • ปวดท้อง
  • เป็นตะคริว
  • อ่อนเพลีย
  • วิงเวียนศีรษะ
  • คัดตึงเต้านม
  • อาเจียน

หากกินยาคุมฉุกเฉินแล้วอาเจียนออกมาภายใน 2 ชั่วโมงหลังกินยา ควรกินยาคุมฉุกเฉินซ้ำอีกครั้งพร้อมยาแก้อาเจียน เพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมตัวยาได้ดีขึ้นและช่วยให้ยาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หากมีเพศสัมพันธ์หลังจากที่กินยาคุมฉุกเฉินไปแล้วไม่จำเป็นต้องกินยาคุมฉุกเฉินซ้ำเพราะจะไม่ได้ส่งผลให้คุมกำเนิดเพิ่มขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Levonorgestrel Emergency Contraception: Plan B. https://www.webmd.com/sex/birth-control/plan-b. Accessed February 13, 2023

Morning-After Pill. https://my.clevelandclinic.org/health/treatments/23386-morning-after-pill. Accessed February 13, 2023

Morning-after pill. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/morning-after-pill/about/pac-20394730. Accessed February 13, 2023

Emergency Contraception. https://www.plannedparenthood.org/planned-parenthood-massachusetts/online-health-center/planned-parenthood-services-birth-control-abortion-std-hiv-pregnancy-health-care/emergency-contraception-study-and-video. Accessed February 9, 2023

‘Morning after’ pill (emergency contraception pill). https://www.healthdirect.gov.au/morning-after-pill. Accessed February 13, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/02/2024

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

หลั่งใน แล้ว กินยาคุมฉุกเฉินแบบเม็ดเดียว ป้องกันการตั้งครรภ์ได้หรือไม่

กินยาคุมฉุกเฉิน ควรกินอย่างไรให้ถูกวิธี


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/02/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา