backup og meta

วิธีกินยาคุมฉุกเฉิน ที่ถูกต้อง และผลข้างเคียง

วิธีกินยาคุมฉุกเฉิน ที่ถูกต้อง และผลข้างเคียง

ยาคุมฉุกเฉิน เป็นยาคุมกำเนิดที่ใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เช่น ถุงยางอนามัยขาด นับหน้า 7 หลัง 7 ผิด ถูกล่วงละเมิดทางเพศ อย่างไรก็ดี วิธีกินยาคุมฉุกเฉินเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจใช้ยาคุมชนิดนี้ เพราะหากกินยาคุมฉุกเฉินผิดวิธี หรือกินบ่อยเกินไป อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

[embed-health-tool-ovulation]

ยาคุมฉุกเฉิน คืออะไร 

ยาคุมฉุกเฉิน คือ ยาคุมกำเนิดชนิดหนึ่ง ที่อาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น หลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือเกิดความผิดพลาดในการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น ถุงยางอนามัยขาดหรือรั่ว ลืมกินยาคุมกำเนิดชนิดรายเดือนติดต่อกัน 2 เม็ดขึ้นไป รวมถึงการถูกล่วงละเมิดทางเพศ 

ยาคุมฉุกเฉินมีตัวยาลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยชะลอกระบวนการตกไข่ของผู้หญิง โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ยาคุมฉุกเฉินสามารถลดโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ถึง 95% หากกินภายใน 120 ชั่วโมง (5 วัน) หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือเกิดความผิดพลาดในการคุมกำเนิด แต่หากกินยาคุมฉุกเฉินภายใน 24 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้

วิธีกินยาคุมฉุกเฉิน

ยาคุมฉุกเฉินที่จำหน่ายในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. ยาคุมฉุกเฉินชนิดเม็ดเดียว มีตัวยาฮอร์โมนลีโวนอร์เจสเตรล 1.5 มิลลิกรัม คือ กินครั้งเดียว 1 เม็ด ภายใน 72 ชั่วโมง หรือทันทีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ 
  2. ยาคุมฉุกเฉินชนิด 2 เม็ด กล่องละ 1 แผง แต่ละแผงมียาคุมฉุกเฉิน 2 เม็ด ประกอบด้วยฮอร์โมนลีโวนอร์เจสเตรล เม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม ควรกินยาเม็ดแรกอย่างช้าไม่เกิน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ และกินยาเม็ดที่ 2 ห่างจากเม็ดแรกประมาณ 12 ชั่วโมง 

ยาคุมฉุกเฉินทั้งชนิดเม็ดเดียว หรือชนิด 2 เม็ดอาจมีผลข้างเคียงทำให้คลื่นไส้ อาเจียน หากมีอาการอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากกินยา จำเป็นที่จะต้องกินยาใหม่อีกครั้ง เพราะร่างกายอาจยังดูดซึมยาได้ไม่เต็มที่ จึงอาจลดประสิทธิภาพของยา และอาจทำให้ตั้งครรภ์ได้

ผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉิน 

ผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉินมักเป็นอาการที่ไม่ค่อยรุนแรง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดท้อง ประจำเดือนอาจมาเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ควรกินยาคุมฉุกเฉินบ่อย เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของตัวยาลดลง และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงขึ้น เช่น รังไข่ผิดปกติ เยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติ การตั้งครรภ์นอกมดลูก 

ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินเมื่อใด 

ควรใช้ยาคุมฉุกเฉิน ในกรณีฉุกเฉิน เช่น 

  • ถุงยางอนามัยขาด หรือใช้ถุงยางอนามัยผิดวิธี เช่น ถอดถุงยางอนามัยหลังอวัยวะเพศอ่อนตัว เพราะอาจทำให้อสุจิไหลเข้าไปในช่องคลอด ซึ่งอาจส่งผลให้ตั้งครรภ์ได้  
  • ลืมกินยาคุมกำเนิดชนิดรายเดือนตั้งแต่ 2 เม็ดขึ้นไป หรืออย่างน้อย 2-3 เม็ดติดต่อกัน
  • นับระยะปลอดภัย หรือที่เรียกว่า หน้า 7 หลัง 7 ผิด 
  • มีเพศสัมพันธ์ช่วงเวลาตกไข่พอดี 
  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
  • มีเพศสัมพันธ์แล้วแตกใน 
  • ไดอะแฟรม หรือหมวกครอบปากมดลูกหลุดขณะมีเพศสัมพันธ์ 
  • มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่พึงประสงค์ หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ยาคุมฉุกเฉิน … เรื่องจริงที่ผู้หญิงต้องรู้. http://healthydee.moph.go.th/view_article.php?id=1031. Accessed October 14, 2021 

Emergency Contraception. https://kidshealth.org/en/teens/contraception-emergency.html. Accessed October 14, 2021 

Levonorgestrel Emergency Contraception. https://www.webmd.com/sex/birth-control/plan-b. Accessed October 14, 2021 

Emergency contraception. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/emergency-contraception. Accessed October 14, 2021 

Emergency contraception (morning after pill, IUD). https://www.nhs.uk/conditions/contraception/emergency-contraception/. Accessed October 14, 2021 

เวอร์ชันปัจจุบัน

21/06/2022

เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาคุมกำเนิด กับ การตั้งครรภ์ และข้อควรรู้ก่อนใช้ยา

ยาคุมแบบ21เม็ด ยาคุมแบบ28เม็ด แตกต่างกันอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 21/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา