backup og meta

ห่วง อนามัย ประโยชน์และผลข้างเคียง

ห่วง อนามัย ประโยชน์และผลข้างเคียง

ห่วง อนามัย หรือห่วงคุมกำเนิด เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ใส่เข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ จัดเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง และสามารถใช้ป้องกันการตั้งครรภ์ได้นาน 3-10 ปี หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่ประเภทของห่วงอนามัยที่ใช้ ห้วงอนามัยมี 2 ชนิด ได้แก่ ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดง และห่วงอนามัยชนิดมีฮอร์โมน ทั้งนี้ ห่วงอนามัยไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ จึงควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันโรค และการใช้ห่วงอนามัยอาจมีผลข้างเคียงบางประการ เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือในบางกรณีอาจเกิดการอักเสบ ซึ่งควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อป้องกันภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน หรือภาวะสุขภาพอื่น ๆ ที่รุนแรง

ห่วง อนามัย คืออะไร

ห่วงอนามัย หรือห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device หรือ IUD) คือ อุปกรณ์ขนาดเล็กที่ใช้สอดเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อช่วยคุมกำเนิด มีหลายชนิดและรูปร่าง เช่น รูปตัวที รูปตัวยู รูปตัววาย ห่วงอนามัยช่วยป้องกันไม่ให้อสุจิเข้ามาผสมกับไข่จึงช่วยลดโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ ทั้งนี้ การใส่และถอดห่วงอนามัยควรทำโดยคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

ห่วงอนามัยมี 2 ประเภท ได้แก่

  • ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง

มีส่วนประกอบของทองแดงที่เป็นสารออกฤทธิ์ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้หญิงที่ไม่ต้องการคุมกำเนิดด้วยใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด ในช่วงแรก ห่วงอนามัยจะปล่อยทองแดงออกมาวันละ 40-50 ไมโครกรัม จากนั้นจะค่อย ๆ ปล่อยทองแดงออกมาน้อยลงเพื่อให้สามารถออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้ตลอดอายุการใช้งาน ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงสามารถใช้คุมกำเนิดได้ทันทีหลังใส่เข้าโพรงมดลูก นอกจากจะใช้คุมกำเนิดระยะยาวแล้ว ยังสามารถใช้เป็นยาคุมฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพสูงได้ด้วย โดยควรใช้ภายใน 5 วันหลังมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน

  • ห่วงอนามัยชนิดมีฮอร์โมน

เป็นอุปกรณ์คุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ซึ่งเป็นฮอร์โมนในกลุ่มโปรเจสติน (ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสังเคราะห์) ฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลจะช่วยเพิ่มปริมาณและทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้นขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิผสมเข้ากับไข่ได้ ทั้งยังทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลงจนตัวอ่อนฝังตัวได้ยากขึ้นด้วย ห่วงอนามัยชนิดนี้มีขนาดของฮอร์โมนต่างกันไป เช่น ชนิดมีฮอร์โมน 13.5 มิลลิกรัม ชนิดมีฮอร์โมน 19.5 มิลลิกรัม ชนิดมีฮอร์โมน 52 มิลลิกรัม ซึ่งปริมาณของฮอร์โมนจะส่งผลต่อระยะเวลาในการออกฤทธิ์คุมกำเนิดด้วย

ปริมาณของฮอร์โมนที่ปล่อยออกในช่วงแรกจะแตกต่างกันไปตามปริมาณฮอร์โมนในห่วงอนามัย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ห่วงอนามัยชนิดมีฮอร์โมนไม่ว่าจะในปริมาณเท่าใด ก็จะค่อย ๆ ปล่อยฮอร์โมนน้อยลงเพื่อให้ออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้ตลอดอายุการใช้งานเช่นเดียวกับห่วงอนามัยหุ้มทองแดง ห่วงอนามัยชนิดมีฮอร์โมนสามารถทำงานได้ทันทีหากใส่ในช่วงที่มีประจำเดือน แต่หากใส่ในช่วงเวลาอื่น อาจต้องรอประมาณ 7 วันจึงจะเริ่มออกฤทธิ์คุมกำเนิด ในระหว่างนั้นควรคุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัย

ประสิทธิภาพของ ห่วง อนามัย

ห่วงอนามัยมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงและใช้งานสะดวก หากใส่ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงภายใน 5 วัน (120 ชั่วโมง) หลังการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันก็สามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ โดยทั่วไป ห่วงอนามัยสามารถใช้ได้นาน 3-10 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของห่วงอนามัย หากต้องการคุมกำเนิดด้วยห่วงอนามัยอย่างต่อเนื่อง ควรเปลี่ยนห่วงอนามัยใหม่ทันทีเมื่อหมดอายุการใช้งาน

ห่วง อนามัย เหมาะหรือไม่เหมาะกับใคร

ผู้ที่เหมาะจะใช้ห่วงอนามัย

ห่วงอนามัยเหมาะสำหรับผู้หญิงที่ต้องการคุมกำเนิดชั่วคราวเป็นเวลานาน เมื่อหยุดใช้ห่วงอนามัยแล้วก็สามารถวางแผนมีบุตรได้ทันที การคุมกำเนิดด้วยห่วงอนามัยปลอดภัยต่อผู้ที่ให้นมบุตรและผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ทั้งยังเหมาะสำหรับผู้ที่มีคู่นอนเพียงคนเดียว เนื่องจากไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ นอกจากนี้ ห่วงอนามัยทั้งชนิดหุ้มทองแดงและชนิดมีฮอร์โมนยังอาจเหมาะกับผู้ที่มีผลข้างเคียงเมื่อใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วย เนื่องจากไม่มีฮอร์โมนดังกล่าวเป็นส่วนประกอบ

ผู้ที่ไม่เหมาะในการใช้ห่วงอนามัย

  • ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งมดลูก
  • ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ผู้ที่ติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • ผู้ที่มีมดลูกรูปร่างผิดปกติ
  • ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์
  • ผู้ที่แพ้ทองแดง หรือมีภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย (Wilson’s Disease) ไม่ควรใช้ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง

ข้อดีของการใช้ห่วงอนามัย

ข้อดีของการใช้ห่วงอนามัย มีดังนี้

  • สามารถใช้คุมกำเนิดได้เป็นเวลานานหลายปี
  • เป็นอปุกรณ์ที่ใช้งานได้สะดวก ไม่ยุ่งยาก เมื่อใส่ห่วงอนามัยแล้วก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะลืมกินยาคุมกำเนิด
  • ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงที่กำลังให้นมบุตร
  • สามารถใช้ร่วมกับยารักษาโรคได้ ไม่ทำให้ประสิทธิภาพของห่วงอนามัยลดลง
  • สามารถใส่ห่วงอนามัยได้ทันทีหลังการแท้งบุตร
  • ห่วงอนามัยชนิดมีฮอร์โมน อาจช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้

ความเสี่ยงในการใช้ห่วง อนามัย

การใช้ห่วงอนามัย อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะสุขภาพ ดังนี้

  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้

ผลข้างเคียงของการใช้ห่วง อนามัย

ผลข้างเคียงของห่วงอนามัย อาจมีดังนี้

ผลข้างเคียงของการใช้ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง

  • ในช่วง 3 เดือนแรกอาจมีเลือดออกจากช่องคลอดบ่อยครั้ง เมื่อผ่านไปสักพักรอบเดือนจะกลับมาเป็นปกติ
  • มีประจำเดือนมามากกว่าปกติ

ผลข้างเคียงของการใช้ห่วงอนามัยชนิดมีฮอร์โมน

  • หลังการใส่ครั้งแรก ผู้หญิงบางคนอาจปวดท้องคล้ายปวดประจำเดือนเป็นเวลา 2-3 วัน
  • ห่วงอนามัยอาจหลุดออกมาเอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในช่วง 3 เดือนแรกหลังใส่เข้าไปในโพรงมดลูก
  • ปริมาณประจำเดือนของผู้ใส่ห่วงอนามัยอาจเปลี่ยนแปลง ในช่วง 3-6 เดือนแรกอาจมีเลือดประจำเดือนในปริมาณมาก หลังจากนั้นปริมาณประจำเดือนอาจลดลงหรืออาจไม่มีเลย
  • อาจเจ็บหน้าอก ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน ซึ่งอาการเหล่านี้อาจหายไปเองเมื่อใช้ไปสักระยะ

[embed-health-tool-ovulation]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ห่วงอนามัย…สำหรับการคุมกำเนิดระยะยาว. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/566/คุมกำเนิด-ห่วงอนามัย/. Accessed June 14, 2022

Intrauterine device (IUD). https://www.nhs.uk/conditions/contraception/iud-coil/. Accessed June 14, 2022

Birth Control and the IUD (Intrauterine Device). https://www.webmd.com/sex/birth-control/iud-intrauterine-device. Accessed June 14, 2022

IUD. https://www.plannedparenthood.org/learn/birth-control/iud. Accessed June 14, 2022

Contraception – intrauterine devices (IUD). https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/contraception-intrauterine-devices-iud. Accessed June 14, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/03/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

กิน ยาคุมฉุกเฉิน แล้ว ประจำเดือน ไม่มา มีสาเหตุมาจากอะไร

ยาคุมแบบแปะ มีข้อดี ข้อเสีย และวิธีใช้อย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา