อาการโรคเอดส์ผู้หญิง อาจมีแสดงอาการที่แตกต่างจากผู้ชายเล็กน้อย เช่น ตกขาวผิดปกติ ประจำเดือนมาไม่ปกติ โดยโรคเอดส์ (AIDS) หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่มักแพร่เชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ การส่งผ่านไวรัสจากแม่สู่ลูกระหว่างตั้งครรภ์ การคลอด หรือให้นมลูก
[embed-health-tool-ovulation]
โรคเอดส์เกิดจากอะไร
เอดส์ คือ ระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี โดยการติดเชื้อเอชไอวีแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกเริ่มติดเชื้อ ระยะอาการสงบ และระยะเอดส์ การติดเชื้อเอชไอวีใน 2 ระยะแรก อาการอาจยังไม่ปรากฏแน่ชัด แต่อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แต่หากการติดเชื้อเข้าสู่ระยะที่ 2 หรือระยะเอดส์ ระบบภูมิคุ้มกันจะถูกทำลายอย่างรุนแรง หรือที่เรียกว่า ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจทำให้ติดเชื้อโรคอื่น ๆ และเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื้อหุ้มสมองอักเสบ ได้ง่ายขึ้น โดยเชื้อเอชไอวีสามารถติดต่อได้ผ่านเลือด น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งในช่องคลอด น้ำนมของผู้ติดเชื้อ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีตรวจพบเชื้อตั้งแต่ในระยะแรก แต่รักษาและควบคุมอาการของโรคได้เป็นอย่างดี ก็อาจไม่ทำให้การติดเชื้อลุกลามหรือรุนแรงจนถึงระยะสุดท้าย หรือระยะโรคเอดส์
อาการโรคเอดส์ผู้หญิง
ผู้หญิงเสี่ยงติดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้ หากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อโดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นทางปาก ทางช่องคลอด หรือทางทวารหนัก และผู้หญิงอาจมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อเอชไอวีระหว่างมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากน้ำอสุจิสามารถอยู่ภายในช่องคลอดได้หลายวันหลังจากมีเพศสัมพันธ์ นั่นหมายความว่า หากในน้ำอสุจิมีเชื้อไวรัสเอชไอวี ก็อาจทำให้เชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายผู้หญิงได้นานขึ้น หากผู้หญิงป่วยเป็นโรคเอดส์ อาจมีอาการดังนี้
อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเอดส์
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องเสียรุนแรงและเรื้อรัง
- กลืนลำบาก
- ไอเรื้อรัง และหายใจถี่
- น้ำหนักลด
- ปวดศีรษะรุนแรง
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- รู้สึกสับสน มึนงง
- ความจำเสื่อมระยะสั้น
อาการโรคเอดส์ผู้หญิงที่แตกต่างจากผู้ชาย
ปวดท้องน้อย
หนึ่งในสัญญาณการติดเชื้อในมดลูก รังไข่ และท่อนำไข่ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับโรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ โดยอาจมีอาการ เช่น
- ตกขาวผิดปกติ
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจจะมาน้อยหรือมาก หรืออาจไม่มีประจำเดือนมาในรอบเดือนนั้น
- ปวดเวลามีเพศสัมพันธ์
- บริเวณปากช่องคลอดอาจมีอาการบวม แดง และคัน
อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในระยะแรก
ในระยะแรกอาการอาจไม่ค่อยแสดงออกมาให้สังเกตเห็น แต่บางคนก็อาจมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น
- มีไข้
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
- ต่อมน้ำเหลืองบวม
- ผื่นขึ้นตามตัว รอบปาก และบริเวณอวัยวะเพศ
อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้มักหายไปภายในไม่กี่สัปดาห์ ในบางกรณี อาการอาจปรากฏขึ้นอีกครั้ง เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี
ต่อมน้ำเหลืองบวม
ต่อมน้ำเหลืองมีอยู่ทั่วร่างกาย เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ และยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน หากเชื้อเอชไอวีแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ระบบภูมิคุ้มกันจะทำงานและส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อเอชไอวี
การติดเชื้อ
เนื่องจากภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ อาจทำให้ติดเชื้อต่าง ๆ และเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น โดยการติดเชื้อที่พบบ่อยในผู้ป่วยเอดส์ผู้หญิง เช่น โรคปอดบวม วัณโรค เยื้อหุ้มสมองอักเสบ รวมถึงการติดเชื้อในช่องคลอด เช่น ภาวะช่องคลอดอักเสบ
อย่างไรก็ดี อาการที่กล่าวมาข้างต้นอาจมาจากโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน หากมีความกังวลว่าจะติดเชื้อเอชไอวีหรือเป็นโรคเอดส์ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อทำการวินิจฉัย
วิธีการป้องกันโรคเอดส์
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและยังไม่มีการรักษาโรคเอดส์ให้หายขาด แต่อาจมีวิธีลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้ เช่น
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ โดยควรใช้ถุงยางอนามัยใหม่ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นทางทวารหนัก ทางช่องคลอด หรือทางปาก ซึ่งผู้หญิงสามารถใช้ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงเพื่อป้องกันได้เช่นกัน
- ใช้เข็มฉีดยาสะอาดเท่านั้น หากจำเป็นต้องใช้เข็มฉีดยา ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าเข็มนั้นปลอดเชื้อ ไม่ควรใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่นหรือใช้เข็มฉีดยาซ้ำโดยเด็ดขาด และทางที่ดี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว มีดโกน ร่วมกับผู้อื่นด้วย
- หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้มากกว่าปกติ
- ใช้ยา PrEP (PreExposure Prophylaxis) เป็นการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีสำหรับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อ และเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัส ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีในการป้องการติดเชื้อเอชไอวี
ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยเปลี่ยนคู่นอนเป็นประจำ หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ควรตรวจเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งหรือตรวจคัดกรองการติดเชื้อที่คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย หรือในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนที่เชื่อถือได้