backup og meta

เอชไอวี กับ เอดส์ ต่างกันอย่างไร

เอชไอวี กับ เอดส์ ต่างกันอย่างไร

เอชไอวี กับ เอดส์ ต่างกันอย่างไร เอชไอวีกับเอดส์มีความแตกต่างกันเนื่องจาก เอชไอวี (HIV; Human Immunodeficiency Virus) เป็นชื่อของเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งหมายถึง เชื้อไวรัสที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของคนบกพร่อง และเป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายได้ในคนเท่านั้น ส่วนเอดส์ หมายถึง อาการของร่างกายที่แสดงภาวะของโรคหลังจากได้รับเชื้อเอชไอวีเป็นเวลานานและร่างกายถูกเชื้อไวรัสทำลายจนอ่อนแอ โดยจะนับว่าผู้ป่วยเป็นโรคเอสด์ก็ต่อเมื่อติดเชื้อเอชไอวีและแสดงอาการอย่างรุนแรงในระยะสุดท้ายของโรค

[embed-health-tool-ovulation]

เอชไอวี กับ เอดส์ ต่างกันอย่างไร

เอชไอวี คือไวรัส ไม่ใช่โรค

เอชไอวี หรือ HIV (Human Immunodeficiency Virus) ซึ่งหมายถึง “เชื้อไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องในคน” หรือ “ไวรัสภูมิคุ้มกันเสื่อมในคน” เนื่องจากไวรัสเอชไอวีเป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายได้ในคนเท่านั้น และเมื่อร่างกายได้รับเชื้อเอชไอวี เชื้อโรคจะเข้าไปโจมตีระบบภูมิคุ้มกัน จนส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเสื่อมถอย

โดยปกติแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะสามารถจัดการกับเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ แต่เชื้อเอชไอวีนี้ถือเป็นข้อยกเว้นเพราะเป็นเชื้อที่ค่อนข้างร้ายแรง ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจึงต้องรับประทานยาหลายชนิด เพื่อขัดขวางวงจรชีวิตของเชื้อไวรัสเอชไอวีเพื่อร่างกายจะได้สามารถควบคุมเชื้อไวรัสนี้ไม่ให้ทำลายระบบอวัยวะต่าง ๆ

เอดส์ คือภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี

ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะยังไม่นับว่าเป็นผู้ป่วยโรคเอสด์ เนื่องจากอาการของการติดเชื้อเอชไอวี สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ระยะติดเชื้อเฉียบพลัน

ผู้ที่ได้รับเชื้อเอชไอวีเข้าร่างกายจะมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นขึ้น ซึ่งอาการจะแสดงออกมาภายใน 2-4 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ และเชื้อจะแพร่กระจายไปทั่วร่างกายอย่างรวดเร็ว

ระยะที่ 2 ระยะติดเชื้อเรื้อรัง หรือระยะไม่แสดงอาการ

ในระยะนี้ เชื้อไวรัสเอชไอวีจะแพร่กระจายไปทั่วร่างกายอย่างช้า ๆ ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีบางคนไม่มีอาการหรือสัญญาณของการติดเชื้อให้เห็น หากไม่รักษาด้วยยาต้านไวรัสในกลุ่ม ARV หลายชนิดรวมกัน หรือที่เรียกว่า Antiretroviral therapy (ART) ก็อาจทำให้การติดเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ระยะลุกลาม หรือระยะสุดท้ายได้ภายในเวลา 10 ปีหรือเร็วกว่านั้น และสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้โดยง่าย แต่หากรักษาด้วยยาต้านไวรัส การติดเชื้อก็อาจไม่ลุกลามและคงอยู่ในระยะนี้ไปได้หลายสิบปี และอาจลดโอกาสแพร่เชื้อได้ด้วย

ระยะที่ 3 ระยะโรคเอดส์ (AIDS)

ผู้ป่วยในระยะนี้จะถือว่าเป็นผู้ป่วยโรคเอดส์ (AIDS; Acquired Immune Deficiency Syndrome) หมายถึง ผู้ที่มีกลุ่มอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี นั่นเอง

โรคเอดส์ถือเป็นการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในระยะสุดท้าย เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันถูกไวรัสเอชไอวีทำลายจนเสียหายร้ายแรง ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับโรคติดเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic Infection) เช่น วัณโรค ปอดบวม รวมถึงโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง นอกจากจะติดเชื้อโรคเหล่านี้ได้ง่ายกว่าคนปกติแล้ว ผู้ป่วยในระยะโรคเอดส์ยังจะมีอาการรุนแรง เรื้อรัง และมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่า จึงต้องรักษาด้วยการรับประทานยาหลายชนิดในปริมาณมาก ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระยะเอดส์สามารถแพร่เชื้อเอชไอวีให้ผู้อื่นได้ง่ายมาก และหากไม่รักษา ส่วนใหญ่จะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 3 ปี

ติดเชื้อเอชไอวี ไม่จำเป็นต้องเป็นเอดส์เสมอไป

เอชไอวีคือเชื้อไวรัส ส่วนเอดส์คือกลุ่มอาการที่เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี แต่ก็ใช่ว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนจะต้องเป็นโรคเอดส์เสมอไป เพราะหากผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และดูแลสุขภาพร่างกายตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้หลายปี โดยที่การติดเชื้อไม่พัฒนาไปสู่ระยะที่ 3 หรือระยะที่เป็นโรคเอดส์ ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีชีวิตอยู่ได้นานพอ ๆ กับผู้ที่ไม่ติดเชื้อเลยทีเดียว

การวินิจฉัยผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์

การติดเชื้อไวรัสเอชไอวีสามารถวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจเลือดและน้ำลาย เพื่อหาว่ามีแอนติบอดีหรือภูมิต้านทานที่ระบบภูมิคุ้มกันสร้างขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับไวรัสชนิดนี้หรือไม่ แต่การจะตรวจหาภูมิต้านเอชไอวี (HIV antibody test) ให้ได้ผลที่ถูกต้อง ต้องตรวจหลังจากติดเชื้อมาแล้วหลายอาทิตย์ ต่างจากการวินิจฉัยอีกหนึ่งวิธี คือ การตรวจจับแอนติเจน ที่สามารถตรวจพบเชื้อเอชไอวีหลังจากรับเชื้อเพียงไม่กี่วันเท่านั้น

แต่สำหรับการวินิจฉัยเอดส์ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคเอดส์ได้จากการนับจำนวนเซลล์ที่มีซีดีโฟร์ (CD4) ซึ่งมักจะพบบนผิวเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกาย คนปกติที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีจะมีซีดีโฟร์ 500-1,200 เซลล์/ลบ.มม. แต่ผู้ป่วยเอดส์จะมีซีดีโฟร์ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. และอีกปัจจัยที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยเอดส์ก็คือ สังเกตอาการแทรกซ้อน หากผู้ติดเชื้อเอชไอวีป่วยเป็น โรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่เกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรียที่ปกติไม่อันตรายต่อร่างกายคนปกติ นั่นอาจหมายถึงการติดเชื้อเข้าสู่ระยะสุดท้าย หรือระยะเอดส์แล้ว

เอชไอวีแพร่เชื้อทางไหนได้บ้าง

เชื้อไวรัสเอชไอวีสามารถแพร่กระจายในคนได้ ผ่านการแลกเปลี่ยนของเหลวในร่างกาย ซึ่งเกิดจากการทำกิจกรรมเหล่านี้

กิจกรรมทางเพศ

เชื้อเอชไอวีสามารถแพร่ผ่านของเหลวในร่างกาย เช่น น้ำอสุจิ ของเหลวในช่องคลอด ดังนั้น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเชื้อนี้อยู่ในร่างกาย แล้วทำกิจกรรมทางเพศ หรือมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะทางปาก ทางช่องคลอด ทางทวารหนัก โดยไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงยางอนามัย แผ่นยางอนามัย ก็อาจแพร่เชื้อเอชไอวีสู่อีกฝ่ายได้

การตั้งครรภ์หรือคลอดลูก

แม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีหรือเป็นเอดส์อาจส่งต่อเชื้อไวรัสให้ลูกได้ทั้งตอนที่ลูกอยู่ในท้อง ตอนคลอดลูก หรือตอนให้นมลูก

การให้เลือด

การติดเชื้อไวรัสเอชไอวีอาจเกิดขึ้นจากการให้เลือดได้ แต่ในปัจจุบันความเสี่ยงนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก เนื่องจากการบริจาคเลือดและการให้เลือดนั้นมีการคัดกรองที่เข้มงวด และได้มาตรฐานมากขึ้น

การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน

การใช้อุปกรณ์ฉีดยาร่วมกับคนอื่น สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้ ผู้ที่ต้องใช้เข็มฉีดยา เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และผู้ที่ต้องใช้ของมีคมและอาจสัมผัสกับเลือด เช่น ช่างสัก ช่างเจาะหู ผู้รับบริการสักหรือผู้รับการเจาะหู จึงต้องระวังการติดเชื้อจากสาเหตุนี้เป็นพิเศษ ควรสวมถุงมือป้องกันทุกครั้งเมื่อต้องสัมผัสกับผู้ป่วยหรือผู้เข้ารับบริการ

เอดส์กับเอชไอวี รักษาไม่หายแต่ป้องกันได้

ในอดีตผู้ติดเชื้อเอชไอวีมักพัฒนาเข้าสู่ระยะเอดส์ภายใน 2-3 ปีหลังติดเชื้อ และหากเป็นระยะเอดส์ก็มักอยู่ได้ไม่เกิน 3 ปี แต่ในปัจจุบัน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ระยะเอดส์น้อยลง เนื่องจากได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เริ่มต้นจากการใช้ยาต้านไวรัสในกลุ่ม ARV หลายชนิดรวมกัน ซึ่งจะต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดการดื้อยา และจำเป็นต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิต

การติดเชื้อเอชไอวีนั้นรักษาไม่หาย แต่วิธีต่อไปนี้อาจช่วยป้องกันได้

  • รับประทานยาเพร็พ (Pre-exposure prophylaxis; PrEP) เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสโรค หากรับประทานยาเป็นประจำทุกวันวันละ 1 เม็ด จะช่วยป้องกันได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
  • รับประทานยาเป๊ป (Post-exposure prophylaxis; PEP) เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกรณีฉุกเฉิน โดยจะต้องรับประทานยานี้ให้เร็วที่สุด คือภายใน 72 วันหลังพบความเสี่ยง และต้องรับประทานยาติดต่อกัน 28 วัน โดยองค์การอนามัยโลก (World health organization; WHO) เผยว่า ยาเป๊ปอาจช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
  • ใช้อุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ใช้อุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น แผ่นยางอนามัย ถุงยางอนามัย ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • หากตรวจพบว่าติดเชื้อเอชไอวีตอนตั้งครรภ์ ควรเข้ารับการรักษาในทันที เช่น การใช้ยา และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันทารกในครรภ์ได้รับผลกระทบจากเชื้อเอชไอวี
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสของเหลวจากร่างกายผู้อื่น หากเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ควรสวมถุงมือ หน้ากากอนามัย หรือเครื่องป้องกันการติดเชื้ออื่น ๆ ตลอดการปฏิบัติหน้าที่ หรือหากของเหลวจากร่างกายผู้อื่นมาสัมผัสตัวเรา ควรรีบทำความสะอาดบริเวณนั้นโดยเร็วที่สุด
  • อย่าใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อผ่านการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน รวมถึงอุปกรณ์ฉีดยาอื่น ๆ ด้วย เช่น ในคลินิกที่ไม่ได้มาตรฐานที่ใช้เข็มฉีดยาซ้ำ หรือในกลุ่มผู้เสพยาเสพติดผ่านทางการใช้เข็ฒฉีดยา

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Are HIV and AIDS?. https://www.hiv.gov/hiv-basics/overview/about-hiv-and-aids/what-are-hiv-and-aids. Accessed March 10, 2022.

The Stages of HIV Infection. https://aidsinfo.nih.gov/understanding-hiv-aids/fact-sheets/19/46/the-stages-of-hiv-infection. Accessed March 10, 2022.

HIV and AIDS. https://www.nhs.uk/conditions/hiv-and-aids. Accessed March 10, 2022.

HIV/AIDS. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/hiv-aids. Accessed March 10, 2022.

About HIV. https://www.cdc.gov/hiv/basics/whatishiv.html. Accessed March 10, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/04/2023

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปัญหาผิวจากเชื้อเอชไอวี เกิดขึ้นเพราะอะไร และรักษาได้อย่างไรบ้าง

ยาต้านไวรัส เอชไอวี ทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยเอชไอวี


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา