backup og meta

คันในช่องคลอด สาเหตุ อาการ และการรักษา

คันในช่องคลอด สาเหตุ อาการ และการรักษา

คันในช่องคลอด เป็นอาการที่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ไม่สะดวก ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ช่องคลอดอักเสบ อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ติดเชื้อในช่องคลอด ดังนั้น หากสังเกตว่ามีอาการระคายเคือง รู้สึกคันรอบช่องคลอดหรือในช่องคลอด รวมถึงมีตกขาวผิดปกติ ควรเข้าพบคุณหมอทันที

[embed-health-tool-ovulation]

คันในช่องคลอด มีสาเหตุมาจากอะไร

สาเหตุที่ทำให้คันในช่องคลอด อาจมีดังนี้

  • วัยหมดประจำเดือนอาจส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้สารหล่อลื่นที่ช่วยทำให้ช่องคลอดชุ่มชื้นลดลง ส่งผลให้เยื่อบุผนังช่องคลอดแห้ง และทำให้มีอาการคันและระคายเคืองช่องคลอด
  • ภาวะช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เกิดจากความไม่สมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอด โดยอาจมีปัจจัยอื่นเป็นตัวกระตุ้น เช่น การมีคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ทำให้ช่องคลอดเกิดการอักเสบและมีอาการคันในช่องคลอด รู้สึกแสบเวลาปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น และตกขาวผิดปกติ
  • การติดเชื้อราในช่องคลอด เกิดขึ้นจากเชื้อราแคนดิดา (Candida) ภายในช่องคลอดเจริญเติบโตมากเกินไป โดยอาจมีปัจจัยอื่นเป็นตัวกระตุ้น เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การใช้ยาปฏิชีวนะ การตั้งครรภ์ ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทำให้เกิดอาการคันในช่องคลอด ผื่นรอบช่องคลอด ตกขาวมีสีขุ่นและเหนียวข้น
  • สารระคายเคืองเช่น ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม สบู่ สารหล่อลื่นบนถุงยางอนามัย ผ้าอนามัย กระดาษชำระที่มีน้ำหอม อาจส่งผลให้เนื้อเยื่อในช่องคลอดเกิดการระคายเคืองและทำให้มีอาการคันในช่องคลอดได้
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อปรสิต เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม เอดส์ ซิฟิลิส เริม หูดหงอนไก่ โรคพยาธิในช่องคลอด ที่อาจทำให้มีอาการระคายเคืองและคันในช่องคลอดหรือบริเวณรอบ ๆ ปากช่องคลอด
  • โรคไลเคนสเคลโรซัส (Lichen sclerosus) เป็นโรคผิวหนังหายากที่พบได้ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ทำให้เกิดรอยสีขาวเป็นหย่อมขึ้นบนผิวหนัง และอาจมีอาการคันในช่องคลอด แสบช่องคลอด  ช่องคลอดเป็นแผลและมีเลือดออก

อาการคันในช่องคลอด มีอะไรบ้าง

อาการคันในช่องคลอด อาจเกิดร่วมกับอาการดังต่อไปนี้

  • ช่องคลอดแห้ง และรู้สึกระคายเคือง
  • รู้สึกเจ็บแสบระหว่างมีเพศสัมพันธ์และปัสสาวะ
  • ผิวรอบช่องคลอดมีอาการอักเสบและบวมแดง
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อย
  • ตกขาวผิดปกติ เช่น ตกขาวสีเหลือง สีเขียว สีเทา หรือสีขาวขุ่นและจับตัวเป็นก้อนหนา
  • ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น

การรักษาอาการคันในช่องคลอด

การรักษาอาการคันในช่องคลอด อาจทำได้ดังนี้

  • สำหรับผู้ที่คันในช่องคลอดเนื่องจากวัยหมดประจำเดือน อาจรักษาด้วยยาฮอร์โมนเอสโตรเจน ในรูปแบบครีมทาช่องคลอด ยาสอด หรือสารหล่อลื่น เพื่อช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมน และช่วยบรรเทาอาการคันในช่องคลอดและรอบช่องคลอด
  • สำหรับผู้ที่คันในช่องคลอดเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในรูปแบบรับประทานหรือครีมทาบริเวณช่องคลอด เช่น เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) คลินดามัยซิน (Clindamycin) ทินิดาโซล (Tinidazole) เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและบรรเทาอาการคันในช่องคลอด
  • สำหรับผู้ที่คันในช่องคลอดเนื่องจากการติดเชื้อรา อาจรักษาด้วยการทาครีมต้านเชื้อรา เช่น ไมโคนาโซล (Miconazole) โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) บูโตโคนาโซล (Butoconazole) ไทโอโคนาโซล (Tioconazole) เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราในช่องคลอด และช่วยบรรเทาอาการคันในช่องคลอด
  • สำหรับผู้ที่คันในช่องคลอดเนื่องจากสารระคายเคืองอาจรักษาได้ด้วยการหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดการระคายเคือง และเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์สูตรอ่อนโยนและปราศจากน้ำหอม เพื่อลดการระคายเคืองช่องคลอดและอาการคันในช่องคลอด
  • สำหรับผู้ที่คันในช่องคลอดเนื่องจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคเริม เอชไอวี คุณหมออาจรักษาด้วยยาต้านไวรัสร่วมกับรักษาตามอาการที่เป็น หากเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคหนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส อาจรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ร่วมกับรักษาตามอาการที่เป็น
  • สำหรับผู้ที่คันในช่องคลอดเนื่องจากโรคไลเคนสเคลโรซัสคุณหมออาจให้รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น ทินิดาโซล เมโทรไนดาโซล ที่ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการระคายเคืองและคันในช่องคลอด

การป้องกันอาการคันในช่องคลอด

การป้องกันอาการคันในช่องคลอด อาจทำได้ดังนี้

  • รับประทานหรือใช้ยารักษาตามที่คุณหมอกำหนด เพื่อลดอาการคันในช่องคลอด
  • ทำความสะอาดบริเวณรอบนอกอวัยวะเพศด้วยน้ำสะอาดและสบู่สูตรอ่อนโยน ไม่ควรแช่น้ำที่มีฟองสบู่นาน ๆ และหลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เพราะอาจทำให้ช่องคลอดระคายเคือง
  • ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและผลิตภัณฑ์ดูแลจุดซ่อนเร้นที่ปราศจากน้ำหอม
  • หลังเข้าห้องน้ำ ควรซับอวัยวะเพศให้แห้งด้วยกระดาษชำระที่ปราศจากน้ำหอม โดยเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ช่องคลอดและป้องกันอาการคันในช่องคลอด
  • ไม่ควรเกาบริเวณอวัยวะเพศและช่องคลอด เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือแผลถลอก และเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • เลือกกางเกงชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้ายที่ระบายอากาศได้ดี และหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อระบายความอับชื้นที่อาจเป็นกระตุ้นให้เชื้อราเจริญเติบโตมากขึ้น นำไปสู่อาการคันในช่องคลอดได้
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่อาจส่งผลให้เกิดอาการคันในช่องคลอด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vaginal Itching, Burning, and Irritation. https://www.webmd.com/women/guide/vaginal-itching-burning-irritation.Accessed September 07, 2022

Vaginitis. https://www.nhs.uk/conditions/vaginitis/.Accessed September 07, 2022

Vaginal itching and discharge – child. https://medlineplus.gov/ency/article/003159.htm.Accessed September 07, 2022

Vaginitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/vaginitis/symptoms-causes/syc-20354707.Accessed September 07, 2022

Treatment Vaginitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/vaginitis/diagnosis-treatment/drc-20354713.Accessed September 07, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/01/2024

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

แสบช่องคลอด สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน

รักษาช่องคลอดอักเสบด้วยตัวเอง ทำได้อย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 08/01/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา