ผู้หญิงบางคนอาจสงสัยว่า ถ้า เครียด ประจำเดือนเลื่อน กี่วัน? และคำตอบคือ 2-3 วัน หรืออาจมากกว่านั้น ตามระดับความเครียดและปัจจัยแวดล้อมของแต่ละคน ทั้งนี้ หากประจำเดือนเลื่อนประมาณ 2-3 วัน ถือว่าปกติ แต่หากประจำเดือนไม่มาเกิน 3 เดือน ควรไปพบคุณหมอ
[embed-health-tool-ovulation]
ความเครียดทำให้ประจำเดือนเลื่อนได้อย่างไร
ความเครียด เป็นสาเหตุหนึ่งให้ประจำเดือนเลื่อน หรือมาช้ากว่าปกติ เช่นเดียวกับการตั้งครรภ์ การออกกำลังกายอย่างหนัก การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว หรือภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
เมื่อมีความเครียด ต่อมหมวกไตจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมา ซึ่งไปรบกวนการทำงานของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ทำให้การตกไข่หยุดลงชั่วคราว ส่งผลให้ประจำเดือนเลื่อน ไม่มา หรือมาน้อยกว่าปกติ
ถ้า เครียด ประจำเดือนเลื่อน กี่วัน
เมื่อมีความเครียด ประจำเดือนจะมาช้ากว่าปกติประมาณ 2-3 วัน อย่างไรก็ตาม หากมีภาวะเครียดเรื้อรัง ประจำเดือนอาจเลื่อนนานกว่านั้น หรืออาจนานเกินกว่า 1 เดือน
ประจำเดือนเลื่อน เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ
โดยเฉลี่ย ผู้หญิงจะเป็นประจำเดือนทุก ๆ 28 วัน และประจำเดือนอาจเลื่อนได้ราว 1-7 วัน
ทั้งนี้ ลักษณะประจำเดือนเลื่อนหรือมาผิดปกติที่ควรไปพบคุณหมอ ได้แก่
- ประจำเดือนไม่มาติดต่อกัน 3 เดือน หรือมากกว่านั้น
- ระยะห่างระหว่างรอบเดือนน้อยกว่า 21 วัน หรือมากกว่า 35 วัน
- ประจำเดือนมีปริมาณมากหรือน้อยกว่าปกติ
- ประจำเดือนมาพร้อมกับอาการป่วยอื่น ๆ เช่น ไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดท้องอย่างรุนแรง ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
การรักษาอาการประจำเดือนเลื่อนเนื่องจากความเครียด
หากคุณหมอตรวจพบว่าคนไข้ ประจำเดือนเลื่อน เป็นเวลานานเพราะความเครียด คุณหมอจะจ่ายยาคุมกำเนิดให้รับประทาน โดยยาคุมกำเนิดมีฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เป็นส่วนผสม ซึ่งออกฤทธิ์ช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกายเพศหญิง ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติได้
นอกจากนี้ คุณหมออาจแนะนำให้ดูแลตัวเองด้วยวิธีการต่อไปนี้ เพื่อบรรเทาความเครียดหรือลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกาย
- ออกกำลังกาย การออกกำลังกายแบบแอโรบิค หรือการออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน เช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ช่วยลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลและอะดรีนาลีน (Adrenaline) และในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ออกมา ซึ่งจะทำให้รู้สึกผ่อนคลายและมองโลกในแง่ดี อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายหักโหมจะยิ่งเพิ่มความเครียด และส่งผลให้ร่างกายหลั่งคอร์ติซอลออกมามากขึ้น จึงควรออกกำลังกายแต่พอดี
- ควบคุมอาหาร อาหารที่บริโภคในแต่ละมื้อสัมพันธ์กับระดับคอร์ติซอลในร่างกาย การบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยน้ำตาล ธัญพืชขัดสี และไขมันอิ่มตัว มีส่วนทำให้คอร์ติซอลเพิ่มขึ้นได้มากกว่าการบริโภคอาหารประเภทธัญพืชไม่ขัดสี ผลไม้ ผัก หรือไขมันไม่อิ่มตัว
- หัวเราะให้มากขึ้น เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย การหัวเราะจะช่วยกระตุ้นการหลั่งเอนดอร์ฟิน และช่วยลดการหลั่งคอร์ติซอลได้ด้วย
- นอนหลับให้เพียงพอ การนอนหลับอย่างเพียงพอส่งผลให้ระดับคอร์ติซอลในร่างกายไม่ให้สูงเกินไป ในขณะที่การนอนไม่หลับ รวมถึงการทำงานรอบดึก ส่งผลให้ระดับคอร์ติซอลในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนรอบทำงานต่อระดับคอร์ติซอล เผยแพร่ในวารสาร Journal of Nursing Research ปี พ.ศ. 2554 นักวิจัยได้ศึกษาผลการศึกษาหลาย ๆ ชิ้นเกี่ยวกับการนอน และพบว่า พนักงานรอบดึกที่นอนตอนกลางวัน มีระดับคอร์ติซอลสูงกว่าผู้ที่นอนหลับพักผ่อนในช่วงตอนกลางคืน เมื่อคอร์ติซอลเพิ่มสูงขึ้นจะทำให้กระบวนการฟื้นฟูร่างกายระหว่างนอนหลับมีประสิทธิภาพลดลง และยังส่งผลให้เวลานอนโดยเฉลี่ยลดลงจากปกติประมาณ 1-4 ชั่วโมงด้วย