backup og meta

ประจำเดือนเป็นสีดำ ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่

ประจำเดือนเป็นสีดำ ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่

ประจำเดือนเป็นสีดำ อาจเป็นเลือดเก่าที่ตกค้างในมดลูก หรือเลือดที่ใช้เวลานานกว่าที่จะออกจากช่องคลอด ซึ่งมีลักษณะเป็นสีดำคล้ายกากกาแฟ และมักจะไม่เป็นอันตรายใด ๆ อย่างไรก็ตาม ประจำเดือนสีดำก็อาจเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพ เช่น การอุดตันภายในช่องคลอด การแท้งบุตร โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น หากมีประจำเดือนเป็นสีดำ ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องคลอดอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด

[embed-health-tool-ovulation]

ประจำเดือนคืออะไร

ประจำเดือน คือ เลือดและเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดออกมาทางช่องคลอด โดยปกติในแต่ละเดือนร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ออกมาเพื่อกระตุ้นให้รังไข่ปล่อยไข่ออกมา และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับตั้งครรภ์ แต่หากไม่เกิดการตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนจะลดลง และส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกและไหลออกมาเป็นประจำเดือน

สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนเป็นสีดำ

ประจำเดือนเป็นสีดำ คือเลือดเก่าที่ตกค้างอยู่ภายในช่องคลอด และใช้เวลานานกว่าที่จะไหลออกมาทางช่องคลอด ผสมเข้ากับตกขาว ทำให้เลือดเปลี่ยนจากสีแดงหรือสีชมพูเป็นสีน้ำตาลหรือสีแดงเข้มจนถึงสีดำเข้มคล้ายกับกากกาแฟ

ประจำเดือนเป็นสีดำ อันตรายต่อสุขภาพหรือไม่

ประจำเดือนสีดำมักไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากพบว่ามีเลือดหรือตกขาวสีดำไหลออกทางช่องคลอดหลังหมดประจำเดือน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ แสบช่องคลอด กลิ่นไม่พึงประสงค์ ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนของสภาวะต่าง ๆ ดังนี้

  • สิ่งแปลกปลอมอุดตันภายในช่องคลอด เช่น อุปกรณ์คุมกำเนิด ถุงยางอนามัย ผ้าอนามัยแบบสอด ที่ตกค้างภายในช่องคลอดและทำให้เยื่อบุช่องคลอดเกิดความระคายเคืองจนเกิดการติดเชื้อ สังเกตได้จากการมีกลิ่นไม่พึงประสงค์บริเวณช่องคลอด อาการคันช่องคลอดและผิวรอบ ๆ ช่องคลอดบวม ผื่นขึ้นที่อวัยวะเพศ ปัสสาวะลำบาก
  • การตั้งครรภ์ การฝังตัวของตัวอ่อนอาจส่งผลให้มีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อย ซึ่งหากเลือดใช้เวลานานกว่าที่จะไหลออกจากช่องลอดก็อาจทำให้เลือดมีสีดำได้ แต่ต้องสัมพันธ์กับการขาดประจำเดือนถึงคิดถึงภาวะนี้
  • การแท้งบุตร อาจส่งผลให้มีเลือดออกทางช่องคลอดคล้ายประจำเดือน ซึ่งอาจมีสีแดงเข้มจนถึงดำขึ้นกับปริมาณเลือดที่ออก พร้อมกับอาการปวดท้องอย่างรุนแรง
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม อาจส่งผลให้มีเลือดออกทางช่องคลอดและตกขาวมีสีผิดปกติ ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น เจ็บปวดขณะปัสสาวะ คันช่องคลอด มีเลือดออกระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • มะเร็งปากมดลูก บางคนอาจมีอาการเลือดออกผิดปกติระหว่างเป็นประจำเดือนหรือหลังการมีเพศสัมพันธ์ที่อาจสังเกตจากเลือดที่ปนกับตกขาวสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ในขณะที่บางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ

อาการประจำเดือนเป็นสีดำผิดปกติที่ควรพบคุณหมอ

การมีประจำเดือนสีดำ สีน้ำตาล สีชมพู และสีแดง เป็นเรื่องที่ปกติ แต่หากมีอาการผิดปกติร่วมด้วย ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพื่อตรวจเช็กร่างกายรวมถึงสุขภาพช่องคลอด

อาการผิดปกติที่ควรสังเกต มีดังนี้

  • อาการตกขาวผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็น ตกขาวเป็นก้อนสีขาวหนาเหมือนแป้งเปียก ตกขาวมีสีเหลือง เขียว เทา และดำ ประจำเดือนมามากจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง
  • ปวดเกร็งท้องรุนแรง
  • มีไข้ วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย และเหนื่อยล้า
  • เจ็บหน้าอกหรือหายใจลำบากระหว่างเป็นประจำเดือนหรือหลังเป็นประจำเดือน
  • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือประจำเดือนขาดนานกว่า 3 เดือน
  • รอบเดือนสั้นกว่า 21 วัน หรือเป็นประจำเดือนหลายครั้งภายในเดือนเดียว

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Amenorrhea. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/amenorrhea/symptoms-causes/syc-20369299. Accessed May 13, 2022 

Overview-Periods. https://www.nhs.uk/conditions/periods/. Accessed May 13, 2022  

Menstrual cycle: What’s normal, what’s not. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/womens-health/in-depth/menstrual-cycle/art-20047186. Accessed May 13, 2022  

What to Know About the Color of Period Blood. https://www.webmd.com/women/what-to-know-color-period-blood. Accessed May 13, 2022  

The Menstrual Cycle: An Overview. https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=menstrual-cycle-an-overview-85-P00553. Accessed May 13, 2022 

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/06/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ช่องคลอดสุขภาพดี ต้องกินอาหารแบบไหนถึงจะเหมาะสม

ลิ่มเลือดประจำเดือน เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา