backup og meta

ปวดท้องเมนส์ สาเหตุและวิธีบรรเทาอาการที่ควรรู้

ปวดท้องเมนส์ สาเหตุและวิธีบรรเทาอาการที่ควรรู้

อาการ ปวดท้องเมนส์ เป็นอาการที่พบได้บ่อยในช่วงก่อนและระหว่างเป็นเมนส์ อาการนี้เกิดขึ้นเมื่อมดลูกบีบรัดตัวและคลายตัวออกทำให้เลือดไม่ไหลไปเลี้ยงมดลูกชั่วคราว นอกจากปวดบริเวณท้องแล้ว อาการปวดยังอาจลามไปที่หลังและต้นขา และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ อารมณ์แปรปรวน อาการปวดท้องเมนส์สามารถบรรเทาได้ด้วยการออกกำลังกาย การรับประทานยาแก้ปวด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากปรับพฤติกรรมเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมและรับการรักษาที่เหมาะสม

[embed-health-tool-ovulation]

สาเหตุที่ทำให้ ปวดท้องเมนส์

อาการปวดท้องเมนส์เกิดจากมดลูกหลั่งสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้มดลูกบีบรัดและคลายตัวในช่วงที่มีเมนส์ เพื่อขับเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาเป็นเมนส์หรือเลือดประจำเดือนในแต่ละเดือน เมื่อผนังกล้ามเนื้อมดลูกบีบรัดตัวและคลายตัวอย่างต่อเนื่องอาจทำให้ปริมาณเลือดและออกซิเจนที่ไปเลี้ยงมดลูกลดลงชั่วคราว เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดท้องเมนส์ได้

อาการปวดท้องเมนส์เริ่มเมื่อไหร่

อาการปวดท้องเมนส์ในแต่ละรอบเดือนจะเริ่มต้นก่อนเมนส์ประมาณ 1-2 วัน และอาจมีอาการปวดเป็นเวลา 2-5 วัน และจะปวดมากเป็นพิเศษในช่วงที่เมนส์มามาก อาการปวดท้องอาจลามไปยังหลังส่วนล่างและต้นขา และอาจมีอาการอื่น ๆ ที่เรียกว่าอาการก่อนเมนส์มา (Premenstrual syndrome หรือ PMS) ร่วมด้วย อาทิ

  • ปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดหลัง
  • ท้องอืด
  • ท้องเสีย
  • อารมณ์แปรปรวน

ผู้หญิงอาจเริ่มมีอาการปวดท้องเมนส์ตั้งแต่ในวัยที่เริ่มต้นมีประจำเดือน และอาการปวดอาจน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้น และบางรายอาจไม่ปวดประจำเดือนอีกเลยหลังจากตั้งครรภ์และคลอดบุตร

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ปวดท้องเมนส์

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ปวดท้องเมนส์ มีดังนี้

  • เมนส์มามากและมาหลายวัน
  • เป็นซีสต์ เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst)
  • มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

วิธีบรรเทาอาการ ปวดท้องเมนส์

วิธีบรรเทาอาการปวดท้องเมนส์ อาจทำได้ดังนี้

  • ประคบบริเวณหน้าท้องหรือหลังด้วยถุงน้ำร้อนหรือแผ่นประคบร้อน ระวังไม่ให้ถุงน้ำร้อนสัมผัสกับผิวโดยตรง เพราะน้ำร้อนอาจหกออกจากถุงและลวกผิวได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ ระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่รัดแน่น
  • อาบน้ำอุ่นเพื่อให้ร่างกายผ่อนคลายและลดอาการปวด
  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน พาราเซตามอล อาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเมนส์ได้
  • งดสูบบุหรี่ทั้งก่อนและขณะเป็นเมนส์
  • สำหรับผู้ที่ไม่ประสงค์จะมีบุตร คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อปรับสมดุลของฮอร์โมนและลดอาการปวดท้องเมนส์
  • ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดิน จ๊อกกิ้ง โยคะ พิลาทิส ในระหว่างเป็นเมนส์ อาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเมนส์ได้
  • นวดคลึงบริเวณหน้าท้องเบา ๆ อาจช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว รู้สึกผ่อนคลาย และปวดท้องเมนส์น้อยลง

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

อาการปวดท้องเมนส์อาจบรรเทาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรับประทานยาแก้ปวด อย่างไรก็ตาม หากปวดท้องเมนส์รุนแรง หรือมีอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของภาวะผิดปกติที่ควรไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมและรักษาตามสาเหตุของการเกิดโรค

  • เมนส์มามากและมาไม่ปกติ
  • เมนส์มาหลายครั้งต่อเดือน
  • มีตกขาวผิดปกติ
  • รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือหลังมีเพศสัมพันธ์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Menstrual cramps. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/menstrual-cramps/symptoms-causes/syc-20374938. Accessed June 10, 2022

What is PMS (Premenstrual Syndrome)? https://www.plannedparenthood.org/learn/health-and-wellness/menstruation/what-can-i-do-about-cramps-and-pms. Accessed June 10, 2022

Period Pain. https://medlineplus.gov/periodpain.html. Accessed June 10, 2022

Dysmenorrhea: Painful Periods. https://www.acog.org/womens-health/faqs/dysmenorrhea-painful-periods. Accessed June 10, 2022

Period pain. https://www.nhs.uk/conditions/period-pain. Accessed June 10, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/07/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธี แก้ปวดท้องประจําเดือน ที่ควรรู้

ปวดท้องประจำเดือน สาเหตุ และวิธีบรรเทาอาการ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 29/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา