backup og meta

มีตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศหญิง เกิดจากสาเหตุอะไร รักษาอย่างไร

มีตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศหญิง เกิดจากสาเหตุอะไร รักษาอย่างไร

สาเหตุที่ทำให้ มีตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศหญิง อาจมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น การติดเชื้อรา แบคทีเรีย สารระคายเคือง บางคนอาจมีอาการคัน เจ็บแสบอวัยวะเพศ หากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษาอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น มีบุตรยาก ปัญหาสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ อีกทั้งยังอาจทำให้ทารกได้รับเชื้อแม่ขณะคลอดได้ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุของตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศ อาจสามารถช่วยป้องกันจากปัญหานี้ได้

[embed-health-tool-ovulation]

มีตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศหญิง เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร

ตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศหญิง อาจมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ได้แก่

1. หิด

เกิดจากปฏิกิริยาการแพ้ของร่างกายต่อตัวไรที่มีชื่อว่า Sarcoptes scabiei ซึ่งอาศัยอยู่ใต้ผิวหนังกระจายทั่วทุกส่วนของร่างกาย เช่น รอบอวัยวะเพศ บั้นท้าย รักแร้ ข้อพับ รอบเอว มือ โดยสังเกตได้จากอาการดังต่อไปนี้

  • อาการคันรุนแรง โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน
  • ตุ่มน้ำเล็ก ๆ หรือตุ่มนูนบนผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ

วิธีรักษา

  • พอร์เมทริน (Permethrin) คือครีมที่เหมาะสำหรับการรักษาตุ่มบนอวัยะเพศจากโรคหิด เพื่อฆ่าตัวไรและไข่ สามารถใช้ได้กับทุกเพศทุกวัยได้อย่างปลอดภัย รวมถึงสตรีมีครรภ์ และเด็กที่มีอายุ 2 เดือนขึ้นไป 
  • ไอเวอร์เม็กติน (Ivermectin) ยารับประทานที่อาจเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาโรคหิดจากยาชนิดครีม ไม่แนะนำการใช้ยานี้สำหรับสตรีตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตร รวมถึงเด็กที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 15 กิโลกรัม
  • โครตาไมตอน (Crotamiton) มีทั้งในรูปแบบครีมและ โลชั่น ใช้สำหรับรักษาโรคหิดที่ก่อให้เกิดตุ่มบนอวัยวะเพศ ทาวันละ 1 ครั้ง ก่อนการใช้ยาควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย

2. การติดเชื้อราในช่องคลอด

เกิดจากการเจริญเติบโตของเชื้อราแคนดิดา (Candida albicans) ในช่องคลอดมากเกินไป ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ยาคุมกำเนิด ยาปฏิชีวนะ การบำบัดด้วยฮอร์โมนที่เพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และโรคเบาหวาน ที่ส่งผลให้ความสมดุลของยีสต์ในช่องคลอดเสีย และก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • อาการคันระคายเคือง
  • ผื่นบริเวณปากช่องคลอด 
  • ตกขาวหนา ไร้กลิ่น 
  • ช่องคลอดบวมแดง
  • เจ็บแสบช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์หรือปัสสาวะ

วิธีรักษา 

  • กลุ่มยาต้านเชื้อรา เช่น ไมโคนาโซล (Miconazole) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) เทอโคนาโซล (Terconazole) ซึ่งมีทั้งในรูปแบบครีม เจล ยาเม็ด ยาเหน็บ เป็นการใช้ยาสำหรับช่องคลอดระยะสั้นที่อาจช่วยกำจัดเชื้อราภายใน 3-7 วัน เหมาะสำหรับผู้ที่มีการติดเชื้อไม่รุนแรง
  • ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) เป็นยาแบบรับประทานเพียงครั้งเดียว ในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจรับประทานครั้งละ 2 โดส ห่างกัน 3 วัน สตรีที่กำลังตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงเพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายกับทารกในครรภ์

3. เริมที่อวัยวะเพศ

เกิดจากไวรัสเริม (HSV) ที่ร่างกายอาจได้รับผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ผ่านทางแม่สู่ลูกเมื่อคลอดผ่านทางช่องคลอด หรือผ่านทางการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อจากการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว อาการของเริมอาจปรากฏขึ้น 2-12 วัน หลังจากได้รับไวรัส ดังนี้

  • ตุ่มสีแดง หรือสีขาว บริเวณอวัยวะเพศ 
  • แผลพุพอง 
  • ผิวหนังลอกเป็นขุย
  • อาการปวดและคันอวัยวะเพศ

วิธีรักษา

  • ยาต้านเชื้อรา เช่น  วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) ไมโคนาโซล (Miconazole) เทอโคนาโซล (Terconazole) ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir)

4. โรคหูดหงอนไก่

เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยที่สุด  เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human papillomavirus (HPV) ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ส่งผลให้เชื้อไวรัสเจริญเติบโตบริเวณช่องคลอด ก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • อาการคัน รู้สึกไม่สบายบริเวณอวัยวะเพศ
  • อวัยวะเพศบวม 
  • เลือดออกจากช่องคลอด
  • มีตุ่มสีน้ำตาล ชมพู เนื้อ บริเวณอวัยวะเพศ

วิธีรักษา

  • โพโดฟิลลิน (Podophyllin) มีสารออกฤทธิ์ทำลายเนื้อเยื่อตุ่มหูดที่อวัยวะเพศ สำหรับสตรีตั้งครรภ์อาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยง เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ นอกจากนี้สตรีที่อยู่ระหว่างช่วงให้นมบุตรอาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่ชี้ว่าโพโดฟิลลินจะให้ความปลอดภัยเพราะยาอาจซึมเข้าสู่น้ำนมระหว่างให้นมบุตรได้
  • อิมิควิโมด (Imiquimod) คือยาที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับหูดบริเวณอวัยวะเพศ 
  • กรดไตรคลอโรอะเซติก (Trichloroacetic Acid) ช่วยรักษาหูด แต่อาจส่งผลให้ผิวหนังที่ได้รับผลกระทบเกิดการระคายเคือง
  • ไซนีคาเทชิน (Sinecatechins) ครีมรักษาหูดที่อวัยวะเพศภายนอกหรือรอบ ๆ ทวาร ช่องคลอด อาจมีผลข้างเคียงทำให้ผิวแดง แสบร้อน เล็กน้อยไม่รุนแรง

5. โรคหูดข้าวสุก

เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Molluscum Contagiosum Virus ที่อาจส่งผลกระทบต่อผิวหนังทั่วทั้งร่างกาย เช่น หน้าท้อง แขน ขา คอ ใบหน้า และอวัยวะเพศ อาการของโรคหูดข้าวสุกสังเกตจาก

  • ตุ่มนูนสีขาว ชมพู เนื้อ มีรอยบุ๋มตรงกลางตุ่มเล็กน้อย
  • เจ็บแสบ และอาการคันอวัยวะเพศ 

วิธีรักษา 

  • อิมิควิโมด (Imiquimod) เหมาะสำหรับการใช้รักษาหูดที่อวัยวะเพศเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับหูด
  • กรดไตรคลอโรอะเซติก (Trichloroacetic Acid) ใช้รักษาหูดข้าวสุก หูดหงอนไก่ แต่อาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ได้รับผลกระทบเล็กน้อย
  • โพโดฟิลลิน (Podophyllin) ช่วยทำลายเนื้อเยื่อตุ่มหูดที่อวัยวะเพศ สำหรับสตรีตั้งครรภ์และอยู่ระหว่างช่วงให้นมบุตรอาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ และสารออกฤทธิ์ของยาซึมเข้าสู่น้ำนม
  • ไซนีคาเทชิน (Sinecatechins) ช่วยรักษาหูดที่อวัยวะเพศภายนอกช่องคลอด 

สำหรับผู้ที่เป็นหูดบริเวณอวัยวะเพศ หากอาการของหูดไม่ตอบสนองต่อยา คุณหมออาจรักษาด้วยการผ่าตัด เลอเซอร์ การใช้การจี้ด้วยไฟฟ้า และหรือการใช้ความเย็นจากไนโตรเจนเหลวเพื่อกำจัดตุ่มหูดออก

6. ผิวหนังอักเสบจากอาการแพ้

ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับทำความสะอาดร่างกายและดูแลจุดซ่อนเร้น เช่น สบู่ น้ำมันหอมระเหย โลชั่น อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศ นำไปสู่อาการคัน อวัยวะเพศบวม ผื่นแดง 

วิธีรักษา

  • ครีมสเตียรอยด์ ครีมหรือขี้ผึ้งสเตียรอยด์เฉพาะที่อาจช่วยบรรเทาอาการผื่นผิวหนัง โดยควรทา 1-2 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 2-4 สัปดาห์
  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ คุณหมออาจให้ยาเม็ดมารับประทานเพื่อบรรเทาอาการคัน และช่วยต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรีย

ป้องกันตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศสำหรับผู้หญิง

วิธีป้องกันตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศหญิง มีดังนี้

  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส เช่น ไวรัสเอชพีวี (HPV) ที่อาจช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อเอชพีวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ 
  • ไม่สวมกางเกงชั้นในรัดแน่น ระบายความอับชื้นได้ยาก ควรใช้กางเกงชั้นในผ้าฝ้าย 
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของน้ำหอม ป้องกันการระคายเคืองอวัยวะเพศ
  • ทำความสะอาดเครื่องใช้ที่อาจมีตัวไรสะสมเป็นประจำ เช่น ผ้าขนหนู เสื้อผ้า ผ้าห่ม เพื่อช่วยป้องกันการเกิดโรคหิดที่อาจก่อให้เกิดตุ่มบริเวณอวัยวะเพศ
  • หลังจากทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ ควรล้างอวัยวะเพศให้สะอาดและเช็ดให้แห้งจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • พยายามอย่าสัมผัสกับตุ่มบริเวณอวัยวะเพศ หากสัมผัสควรล้างมือทุกครั้งด้วยสบู่
  • อย่าเกาอวัยวะเพศ เพราะอาจก่อให้เกิดรอยขีดข่วนสะสมแบคทีเรีย และแพร่กระจายไวรัสไปส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What to Know About Vulvar Ulcers. https://www.webmd.com/women/what-to-know-about-vulvar-ulcers  . Accessed May 30, 2023.

Vaginal Rashes and Sores. https://www.uofmhealth.org/health-library/tm7035  . Accessed May 30, 2023.

Scabies. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/scabies/symptoms-causes/syc-20377378  . Accessed May 30, 2023.

Sexually transmitted diseases (STDs). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/sexually-transmitted-diseases-stds/symptoms-causes/syc-20351240  . Accessed May 30, 2023.

yeast infection. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/yeast-infection/symptoms-causes/syc-20378999  . Accessed May 30, 2023.

Genital herpes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/genital-herpes/symptoms-causes/syc-20356161. Accessed May 30, 2023.

Genital warts. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/genital-warts/symptoms-causes/syc-20355234  . Accessed May 30, 2023.

Molluscum contagiosum. https://www.cdc.gov/poxvirus/molluscum-contagiosum/index.html  . Accessed May 30, 2023.

Allergic contact dermatitis: Overview. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK447113/  . Accessed May 30, 2023.

contact dermatitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/contact-dermatitis/diagnosis-treatment/drc-20352748  . Accessed May 30, 2023.

Podophyllotoxin. https://dermnetnz.org/topics/podophyllotoxin  . Accessed May 30, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

20/12/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความบกพร่องทางเพศของผู้ชาย กับปัจจัยเสี่ยงที่ควรระวัง

คันอวัยวะเพศหญิงภายนอก อาการ สาเหตุ และการรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 20/12/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา