backup og meta

มีเลือดออกจากช่องคลอดแต่ไม่ใช่ประจําเดือน เกิดจากอะไร

มีเลือดออกจากช่องคลอดแต่ไม่ใช่ประจําเดือน เกิดจากอะไร

มีเลือดออกจากช่องคลอดแต่ไม่ใช่ประจําเดือน อาจเกิดจากการใช้ยาคุมกำเนิด เนื้องอก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ เมื่อพบเลือดออกทางช่องคลอด ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัย เพราะอาการดังกล่าว อาจเป็นสัญญาณของร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง ซึ่งอาจรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิต

[embed-health-tool-ovulation]

มีเลือดออกจากช่องคลอดแต่ไม่ใช่ประจําเดือน เกิดจากอะไร

มีเลือดออกจากช่องคลอดแต่ไม่ใช่ประจําเดือน อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • การคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมน การรับประทานยาคุมกำเนิด หรือใช้ยาคุมกำเนิดในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการใช้ห่วงคุมกำเนิด อาจทำให้พบเลือดออกทางช่องคลอดได้ในช่วง 3 เดือนแรก ทั้งนี้ การมีเลือดออกในลักษณะนี้ อาจเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศที่สูงขึ้นเนื่องจากการคุมกำเนิดจนส่งผลให้เยื่อบุผนังมดลูกและหลอดเลือดหนาขึ้นหรือบางลง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุให้มีเลือดออกทางช่องคลอดได้ นอกจากนี้ การลืมรับประทานยาคุมกำเนิด ก็อาจทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดได้เช่นกัน
  • ระยะก่อนหมดประจำเดือน ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้หญิงมักมีระดับฮอร์โมนเพศแปรปรวน ซึ่งอาจส่งผลให้ร่างกายสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกแม้ไม่มีการตกไข่ จนเป็นเหตุให้มีเลือดออกจากช่องคลอดแต่ไม่ใช่ประจําเดือน หรือประจำเดือนมาช้าหรือเร็วกว่าปกติได้
  • เนื้องอกบริเวณมดลูก เนื้องอกที่มดลูกอาจทำให้พื้นที่ผิวของมดลูกเพิ่มขึ้นเนื่องจากก้อนเนื้องอกไปเพิ่มพื้นที่ผิวภายในของเยื่อบุโพรงมดลูก ส่งผลให้เลือดอาจออกไม่ตรงกับรอบระดู โดยอาจออกนานติดต่อกัน หรือออก ๆ หยุด ๆ หรือเจือปนกับตกขาว ทำให้ตกขาวกลายเป็นสีออกน้ำตาลหรือสีเข้ม ทั้งนี้ เนื้องอกบริเวณมดลูกมีอัตราการกลายเป็นเนื้อร้ายต่ำกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ และทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนในร่างกายผู้หญิง
  • การตั้งครรภ์ อาจทำให้พบเลือดออกทางช่องคลอดได้ในระดับที่ไม่รุนแรง ภาวะนี้เกิดจากการที่ตัวอ่อนฝังตัวที่ผนังมดลูกในระยะแรกของการตั้งครรภ์
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในเทียม ทำให้ช่องคลอดและปากมดลูกอักเสบ และนำไปสู่การมีเลือดออกทางช่องคลอด และอาจมีอาการในระดับเบาหรือรุนแรงก็ได้ และอาจพบว่ามีเลือดออกจากช่องคลอดระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • มะเร็งเฉพาะในเพศหญิง เช่น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งมดลูก ซึ่งมักพบในผู้หญิงวัยทอง หรือผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของโรค แต่มีปัจจัยเสี่ยงให้เฝ้าระวัง ทั้งนี้ เมื่อเป็นมะเร็งชนิดดังกล่าว ผู้ป่วยจะมีเลือดออกทางช่องคลอด ร่วมกับอาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน

นอกจากนี้ ภาวะมีเลือดออกจากช่องคลอดแต่ไม่ใช่ประจําเดือนยังเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ดังนี้

  • ความเครียด
  • การแท้งบุตร
  • การมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรง จนช่องคลอดฉีกขาด
  • การติดเชื้อหรือการบาดเจ็บในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง
  • ภาวะสุขภาพอื่น ๆ เช่น ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ โรคตับ โรคไต รวมถึงภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น โรควอนวิลลิแบรนด์ (Von Willebrand Disease) ที่ทำให้ผู้ป่วยมีเลือดออกง่ายกว่าคนทั่วไป และมีเลือดออกเป็นเวลานานเมื่อได้รับบาดเจ็บ

เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

เมื่อพบเลือดออกบริเวณช่องคลอด ในกรณีต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อรับการวินิจฉัยสาเหตุและการรักษาที่ตรงจุด

  • เลือดออกบริเวณช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์
  • เลือดออกบริเวณช่องคลอดก่อนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นหรือหลังจากเข้าสู่วัยทองแล้ว
  • เลือดออกบริเวณช่องคลอดหลังเปลี่ยนยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน
  • เลือดออกบริเวณช่องคลอดในทุกไตรมาสของการตั้งครรภ์

มีเลือดออกจากช่องคลอดแต่ไม่ใช่ประจําเดือน ป้องกันได้ไหม

การพบเลือดออกจากช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือน อาจป้องกันได้ในบางกรณี ดังนี้

  • รับประทานยาคุมกำเนิดให้ตรงเวลา เนื่องจากการลืมรับประทานยาหรือรับประทานยาไม่ตรงเวลา อาจเป็นสาเหตุของการมีเลือดออกทางช่องคลอดได้ นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิด ควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง หรือไม่น้อยกว่า 6 เดือน เพื่อให้ร่างกายปรับตัวเข้ากับยาได้ จนไม่เกิดอาการเลือดออกทางช่องคลอดเนื่องจากการใช้ยา
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หรือเลือกมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนเพียงคนเดียว หรือเฉพาะกับคนที่ปลอดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจเป็นสาเหตุของการมีเลือดออกจากช่องคลอดแต่ไม่ใช่ประจำเดือนได้
  • ควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงร่วมของโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและมะเร็งมดลูกซึ่งทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอด คือภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน เพื่อลดความเสี่ยงโรคมะเร็งดังกล่าว ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนจึงควรออกกำลังกายและควบคุมอาหารสม่ำเสมอ นอกจากนี้ การรับประทานยาคุมกำเนิดอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งทั้ง 2 ชนิดได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Endometrial cancer. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/endometrial-cancer/symptoms-causes/syc-20352461. Accessed May 25, 2022

Vaginal bleeding. https://www.mayoclinic.org/symptoms/vaginal-bleeding/basics/causes/sym-20050756. Accessed May 25, 2022

What causes bleeding between periods?. https://www.nhs.uk/common-health-questions/womens-health/what-causes-bleeding-between-periods/. Accessed May 25, 2022

Vaginal or uterine bleeding. https://medlineplus.gov/ency/article/007496.htm#:~:text=Vaginal%20bleeding%20normally%20occurs%20during,45%20days%20or%20more%20apart. Accessed May 25, 2022

Oral Contraceptives and Cancer Risk. https://www.cancer.gov/about-cancer/causes-prevention/risk/hormones/oral-contraceptives-fact-sheet#:~:text=Endometrial%20cancer%3A%20Women%20who%20have,contraceptives%20were%20used%20(13). Accessed May 25, 2022

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

20/07/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผักกาดขาว สารอาหารและข้อควรระวังในการบริโภคต่อสุขภาพ

แซลมอน สารอาหาร และประโยชน์ต่อสุขภาพ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 20/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา