backup og meta

วิธีรักษาตกขาว และการดูแลสุขภาพช่องคลอด

วิธีรักษาตกขาว และการดูแลสุขภาพช่องคลอด

ตกขาว เป็นสารคัดหลั่งที่ไหลออกจากช่องคลอดเพื่อช่วยขจัดแบคทีเรียและสิ่งสกปรกภายในช่องคลอด และช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการตกขาวผิดปกติ เช่น มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ สีตกขาวเปลี่ยนแปลง ปริมาณเพิ่มมากขึ้น อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ และจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจและรักษาตกขาว เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

[embed-health-tool-ovulation]

ตกขาวคืออะไร

ตกขาว คือ สารคัดหลั่งที่ไหลออกจากช่องคลอดที่มีลักษณะเป็นสีใส และข้นเหนียว เป็นกระบวนการทำความสะอาดช่องคลอดในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงที่ผลิตโดยต่อมในช่องคลอดและปากมดลูก เพื่อดักจับสิ่งสกปรก แบคทีเรีย เซลล์ที่ตายแล้ว

นอกจากนี้ ตกขาวยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในช่องคลอด ป้องกันภาวะช่องคลอดแห้ง หากมีตกขาวมาก อาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใด ๆ ยกเว้นกรณีผู้ที่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ อาการคัน เจ็บแสบขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ และตกขาวเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีอื่น ๆ เช่น สีเขียว เหลือง น้ำตาล เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนการติดเชื้อในช่องคลอด ซึ่งควรเข้ารับการตรวจทันที

สีของตกขาวบ่งบอกความผิดปกติอะไรบ้าง

  • ตกขาวสีขาว หากตกขาวเป็นสีใสหรือเป็นเมือก อาจเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดจากการขับสิ่งสกปรก สัญญาณเตือนการตั้งครรภ์ อาการก่อนเป็นประจำเดือน หรือการถูกกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ แต่หากมีตกขาวสีข่าวขุ่น เป็นก้อน พร้อมกับอาการเจ็บแสบอวัยวะเพศขณะมีเพศสัมพันธ์ มีอาการคันและปวดบวมช่องคลอด อาจหมายถึงการติดเชื้อราในช่องคลอด
  • ตกขาวสีชมพู อาจเป็นการหลั่งตกขาวผสมกับการลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากคลอดบุตร
  • ตกขาวสีเหลืองและหนา อาจเป็นสัญญาณเตือนของการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในเทียม หนองในแท้ ซึ่งอาจส่งผลให้มีเลือดออกขณะปัสสาวะและปวดหน่วงท้องน้อยหรือเชิงกรานได้
  • ตกขาวสีแดงหรือน้ำตาล อาจเป็นสัญญาณเตือนของรอบเดือนที่มาไม่ปกติ หรืออาจเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกและเยื่อบุโพรงมดลูก ที่ส่งผลให้รู้สึกปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน มีเลือดออกทางช่องคลอด
  • ตกขาวสีเขียว เหลือง เป็นฟอง อาจมีสาเหตุมาจากโรคพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) ที่เกิดจากการติดเชื้อปรสิต สังเกตได้จากอาการเจ็บปวดขณะปัสสาวะ และคันช่องคลอด

วิธีรักษาตกขาว

ผู้ที่มีตกขาวสีขาวอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใด ๆ แต่ผู้ป่วยที่มีตกขาวผิดปกติ คุณหมออาจวินิจฉัยและรักษาตามสาเหตุที่เป็น สำหรับผู้ที่ติดเชื้อราในช่องคลอดคุณหมออาจแนะนำยาในรูปแบบยาสอดเข้าในไปช่องคลอด แต่สำหรับผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรีย ติดเชื้อปรสิต หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาจรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ทินิดาโซล (Tinidazole)

เป็นยาสำหรับฆ่าเชื้อกลุ่มโปรโตซัวหรือปรสิต เหมาะสำหรับการรักษาภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อโปรโตซัวหรือปรสิตเช่น โรคพยาธิในช่องคลอด และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากแบคทีเรีย

ทินิดาโซลควรรับประทานพร้อมอาหารวันละ 1 ครั้ง ไม่ควรเพิ่มปริมาณ ลดปริมาณ หรือหยุดยาเอง เพราะอาจทำให้เชื้อดื้อยา ควรรับประทานจนกว่าคุณหมอจะอนุญาตให้หยุดยา

นอกจากนี้ควรแจ้งให้คุณหมอทราบถึงภาวะสุขภาพเกี่ยวกับโรคตับ ความผิดปกติของเลือด และยา อาหารเสริมและสมุนไพรที่รับประทานอยู่ในปัจจุบัน เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพและเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่อาจทำให้ลดประสิทธิภาพของยาในการรักษาลง

ผลข้างเคียงของทินิดาโซล ได้แก่ รู้สึกขมเมื่อรับประทานอาหาร คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ ปวดท้อง ท้องร่วง หากผู้ที่มีอาการเจ็บคอ มีไข้ รู้สึกแขนขาชา และมีอาการชัก ควรเข้าพบคุณหมอทันที

  • เมโทรไนดาโซล (Metronidazole) 

เมโทรไนดาโซล คือยาฆ่าเชื้อกลุ่มปรสิต โดยรับประทานตามปริมาณที่คุณหมอแนะนำและควรรับประทานพร้อมอาหารหรือน้ำดื่มเต็มแก้ว ไม่ควรหยุดยาเองจนกว่าคุณหมอจะอนุญาตให้หยุดยาถึงแม้ว่าจะมีอาการดีขึ้นก็ตาม เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ และควรแจ้งให้คุณหมอทราบหากมีภาวะสุขภาพเกี่ยวกับโรคตับ โรคไต ความผิดปกติเกี่ยวกับเลือด อาการแพ้ยา

ผลข้างเคียงของเมโทรไนดาโซล ได้แก่ วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องร่วง ท้องผูก และควรพบคุณหมอทันที หากมีอาการปวดท้องรุนแรง มีไข้ เจ็บแสบขณะปัสสาวะ แขนขาชา มีปัญหาการพูด การมองเห็นเปลี่ยนแปลงกะทันหัน

  • ยาต้านไวรัส 

อาจเหมาะสำหรับผู้ที่ติดเชื้อจากไวรัส เช่น โรคเริม โดยคุณหมออาจประเมินตามอาการและให้ยาที่เหมาะสม เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) 

การดูแลสุขภาพช่องคลอด

การดูแลสุขภาพช่องคลอด อาจทำได้ ดังนี้

  • ทำความสะอาดช่องคลอดด้วยน้ำอุ่น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นที่มีส่วนประกอบของน้ำหอม และควรหลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด
  • หลังจากเข้าห้องน้ำควรทำความสะอาด และเช็ดอวัยวะเพศให้แห้ง โดยเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียจากทวารหนักเข้าสู่ช่องคลอด
  • เลือกกางเกงชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย หลีกเลี่ยงการใส่กางเกงที่รัดรูปหรือแน่นเกินไป เพื่อป้องกันความอับชื้นที่อาจกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา
  • ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์
  • ตรวจสุขภาพช่องคลอดเป็นประจำ เพื่อตรวจคัดกรองความผิดปกติของช่องคลอด เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อแบคทีเรีย และทำการรักษาอย่างเหมาะสม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vaginal Discharge: What’s Abnormal?. https://www.webmd.com/women/guide/vaginal-discharge-whats-abnormal.Accessed March 29, 2022   

Vaginal discharge. https://www.nhs.uk/conditions/vaginal-discharge/.Accessed March 29, 2022

vaginal discharge. https://www.mayoclinic.org/symptoms/vaginal-discharge/basics/causes/sym-20050825.Accessed March 29, 2022   

Keeping your vagina clean and healthy. https://www.nhs.uk/live-well/sexual-health/keeping-your-vagina-clean-and-healthy/.Accessed March 29, 2022   

Tinidazole – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-91258/tinidazole-oral/details.Accessed March 29, 2022   

Metronidazole – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-6426/metronidazole-oral/details.Accessed March 29, 2022   

Penicillin G Benzathine Syringe – Uses, Side Effects, and Mor https://www.webmd.com/drugs/2/drug-3781/penicillin-g-benzathine-intramuscular/details.Accessed March 29, 2022

cervical cancer  https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cervical-cancer/diagnosis-treatment/drc-20352506.Accessed March 29, 2022

Treatments for Sexually Transmitted Diseases (STDs) https://www.webmd.com/sexual-conditions/std-treatments#1.Accessed March 29, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/04/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความบกพร่องทางเพศของผู้ชาย กับปัจจัยเสี่ยงที่ควรระวัง

ตกขาวเยอะ เกิดจากอะไร ผิดปกติหรือไม่


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา