หลั่งเร็ว เป็นปัญหาทางเพศที่พบได้บ่อยในผู้ชาย ซึ่งอาจเกิดจากภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศและความเครียด ทำให้มีอาการถึงจุดสุดยอดเร็วจนเกินไป จนอาจส่งผลให้ฝ่ายหญิงยังไปไม่ถึงจุดสุดยอด และอาจเกิดความไม่พอใจจนเกิดปัญหาในความสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการหลั่งเร็วสามารถรักษาได้ ดังนั้น หากพบว่ามีปัญหาหลั่งเร็ว ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาทันที
[embed-health-tool-bmr]
คำจำกัดความ
หลั่งเร็ว คืออะไร
หลั่งเร็ว (Premature Ejaculation หรือ PE)คือ ปัญหาการถึงจุดสุดยอดและหลั่งอสุจิเร็วจนเกินไป โดยอาจหลั่งทันทีที่ถูกกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ หรือหลังจากสอดใส่เพียงไม่กี่นาที โดยไม่สามารถควบคุมการหลั่งได้ ปัญหาการหลั่งเร็วอาจทำให้อีกฝ่ายไม่ได้รับความพึงพอใจจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักได้
อาการ
อาการหลั่งเร็ว
อาการหลั่งเร็ว มีดังนี้
- อาการหลั่งอสุจิทันทีที่รู้สึกมีอารมณ์ทางเพศโดยยังไม่มีการสอดใส่
- อาการหลั่งอสุจิหลังจากสอดใส่ภายในเวลาไม่กี่นาที
บางคนอาจมีอาการหลั่งเร็วมาโดยตลอดตั้งแต่การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ในขณะที่บางคนก็อาจเริ่มมีปัญหาการหลั่งเร็วในภายหลัง หากมีอาการดังกล่าวควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพและหาทางรักษาอย่างเหมาะสม
สาเหตุ
สาเหตุหลั่งเร็ว
สาเหตุที่ทำให้หลั่งเร็ว มีดังนี้
- ทางจิตใจ อาจเกิดขึ้นจากบาดแผลทางใจ เช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ประสบการณ์การมีเซ็กส์ในอดีต ความไม่มั่นใจในรูปลักษณ์และขนาดของตัวเอง หรืออาจเกิดจากปัญหาทางจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้า ความเครียด วิตกกังวล ปัญหาในความสัมพันธ์
- ทางร่างกาย เช่น ระดับฮอร์โมนผิดปกติ ที่มีการศึกษากันมากคือสารเซโรโทนิน (Serotonin) ทำให้การรับรู้ความรู้สึกของอวัยวะเพศมีความไวต่อการสัมผัสผิดปกติ อาจเป็นที่เส้นประสาทที่มาเลี้ยงอวัยวะเพศ หรือภายในสมอง การติดเชื้อในต่อมลูกหมากและท่อปัสสาวะ การถ่ายทอดทางพันธุกรรม
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลั่งเร็ว
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลั่งเร็ว มีดังนี้
- ความเครียด ปัญหาด้านจิตใจต่าง ๆ อาจส่งผลให้เกิดความเครียด ความกังวล ทำให้ร่างกายไม่อาจผ่อนคลาย และเสี่ยงต่อภาวะหลั่งเร็ว
- ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ผู้ที่มีปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัว อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการหลั่งเร็วเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และอาจทำให้รีบมีเพศสัมพันธ์กับคู่รักโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากกลัวว่าอวัยวะเพศจะอ่อนตัวลง
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยภาวะหลั่งเร็ว
การวินิจฉัยภาวะหลั่งเร็ว คุณหมออาจเริ่มจากการสอบถามประวัติสุขภาพและปัญหาความสัมพันธ์ จากนั้นจึงตรวจร่างกายด้วยการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และตรวจระบบทางเดินปัสสาวะว่ามีการติดเชื้อหรือไม่
การรักษาภาวะหลั่งเร็ว
การรักษาภาวะหลั่งเร็ว มีดังนี้
ยาชาเฉพาะที่ เช่น ลิโดเคน (Lidocaine) เบนโซเคน (Benzocaine) พรีโลเคน (Prilocaine) ในรูปแบบครีมหรือสเปรย์ ใช้สำหรับทาองคชาตก่อนมีเพศสัมพันธ์ 10-15 นาที เพื่อลดความรู้สึกทางเพศลง และช่วยชะลอการหลั่ง อย่างไรก็ตาม ยาชาเฉพาะที่อาจส่งผลกระทบต่อคู่รักขณะสอดใส่ได้เช่นเดียวกัน
ยารับประทาน คุณหมออาจสั่งยาบางชนิดเพื่อทำให้สำเร็จความใคร่ช้าลง ได้แก่
- ยากล่อมประสาท เช่น เอสซิตาโลแพรม (Escitalopram) เซอร์ทราลีน (Sertraline) พาร็อกซีทีน (Paroxetine) ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) เนื่องจากผลข้างเคียงของยาเหล่านี้อาจทำให้การสำเร็จความใคร่ช้า ชะลอการหลั่งอสุจิ แต่อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ง่วงนอน และเหงื่อออกมาก
- ยาดาพ็อกซิทีน (Dapoxetine) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับสารซีโรโทนินเช่นเดียวกับกลุ่มยาต้านเศร้า ช่วยส่งผลในการรักษาอาการหลั่งเร็วและออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า โดยต้องใช้ยาไม่เกินวันละ 1 ครั้ง รับประทานก่อนมีเพศสัมพันธ์ 1-3 ชั่วโมง และไม่สามารถใช้ในผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับหัวใจ ตับและไต
- สารยับยั้งฟอสโฟไดเอสเตอเรส-5 (Phosphodiesterase-5 inhibitors) เช่น ซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ทาดาลาฟิล (Tadalafil) วาร์เดนาฟิล (Vardenafil) อาจช่วยรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศที่นำไปสู่การหลั่งเร็ว แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น ปัญหาการย่อยอาหาร ปวดศีรษะ หน้าแดง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันภาวะหลั่งเร็ว
การป้องกันภาวะหลั่งเร็ว มีดังนี้
- ช่วยตัวเอง คุณหมออาจแนะนำให้ช่วยตัวเองประมาณ 1-2 ชั่วโมงก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพื่อชะลอการหลั่งอสุจิระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- เพิ่มเวลาล้าโลม หรือฟอร์เพลย์ (Foreplay) ควรใช้เวลาเล้าโลมก่อนมีเพศสัมพันธ์ให้นานขึ้น
- ฝึกควบคุมการหลั่ง (Stop Pause Method) คือ พักการมีเพศสัมพันธ์ก่อนเมื่อรู้สึกว่าจะมีการหลั่ง
- สวมถุงยางอนามัย อาจช่วยชะลอการหลั่งอสุจิได้ เนื่องจากถุงยางบางยี่ห้ออาจมีความหนาที่ช่วยลดความรู้สึกทางเพศ
- บริหารอุ้งเชิงกราน เพราะกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแออาจทำให้เกิดปัญหาการหลั่งเร็ว ดังนั้น จึงควรบริหารอุ้งเชิงกรานด้วยการขมิบค้างไว้ประมาณ 3 วินาที และผ่อนแรงลง 3 วินาที ทำติดต่อกัน 10 ครั้ง อย่างน้อย 2-3 ชุด/วัน
- ลดความเครียด ทำจิตใจและร่างกายให้ผ่อนคลาย เพื่อลดความเครียด ความกังวล และความรู้สึกผิด
- ใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อชะลอการหลั่งเร็ว เช่น ห่วงรัดที่ช่วยควบคุมการไหลเวียนของเลือด (Cock Ring) ทำให้แข็งตัวได้นานขึ้น และช่วยยืดเวลาให้เสร็จกิจช้าและเสร็จในปริมาณที่มากขึ้น