หัวหน่าว คือ เนินที่อยู่เหนืออวัยวะเพศ ตำแหน่งของหัวหน่าวของผู้ชายอยู่เหนือองคชาต ส่วนผู้หญิงจะอยู่เหนือช่องคลอดซึ่งเป็นบริเวณที่กระดูกเชิงกรานเชื่อมต่อกัน รอยต่อกระดูกหัวหน่าวหรือช่องเชิงกรานของผู้หญิงเป็นช่องที่ทารกจะผ่านออกมาตอนคลอด บางครั้งหัวหน่าวอาจบาดเจ็บจนทำให้รู้สึกปวดหรือเจ็บเมื่อเคลื่อนไหวร่างกายส่วนล่าง หากรู้สึกว่ากล้ามเนื้อบริเวณหัวหน่าวผิดปกติ ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยสาเหตุและรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม
[embed-health-tool-bmi]
หัวหน่าว คือ อะไร
หัวหน่าว คือ เนินที่อยู่ระหว่างท้องน้อยและอวัยวะเพศ หัวหน่าวฝั่งซ้ายและขวาเชื่อมต่อกันด้วยกระดูกอ่อน ช่วยในการรองรับน้ำหนักของร่างกายส่วนบนและถ่ายเทน้ำหนักมายังขาและเท้าทั้งสองข้าง ทั้งยังช่วยในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น การเดิน การกระโดด โดยโครงสร้างของหัวหน่าวจะแตกต่างไปตามเพศ ผู้หญิงจะมีกระดูกเชิงกรานกว้างกว่าและหัวหน่าวอยู่ใกล้กับคลิตอริส ส่วนผู้ชายจะมีกระดูกเชิงกรานรูปทรงคล้ายหัวใจและแคบกว่า และหัวหน่าวจะอยู่บริเวณเอ็นยึดองคชาตที่ติดอยู่กับกระดูกเชิงกราน
หน้าที่ของหัวหน่าว
หัวหน่าวเป็นส่วนที่เชื่อมกระดูกเชิงกรานฝั่งซ้ายและขวาเข้าด้วยกัน ช่วยกระจายน้ำหนักของร่างกายส่วนบนไปยังขาและเท้า ข้อต่อหัวหน่าวเป็นข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้ สามารถแยกได้มากสุด 2 มิลลิเมตรและหมุนได้เล็กน้อย เพื่อช่วยให้กระดูกเชิงกรานรองรับแรงกระแทกขณะเดินหรือวิ่งได้ นอกจากนี้ ระหว่างการคลอดบุตร เส้นเอ็นและข้อต่อบริเวณหัวหน่าวจะยืดหยุ่นเป็นพิเศษ เพื่อให้กระดูกเชิงกรานสามารถขยายตัวและมีขนาดใหญ่มากพอให้ทารกผ่านออกมาได้ในตอนคลอด
ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับหัวหน่าว
ความผิดปกติของกระดูกหัวหน่าว (Symphysis pubis dysfunction) เกิดจากเนื้อเยื่อเอ็นของกระดูกเชิงกรานหย่อนหยานหรือหลวม ทำให้หัวหน่าวขยับและเคลื่อนตัวได้มากกว่าปกติ และเกิดอาการปวดบริเวณหัวหน่าว ปัจจัยที่ทำให้กระดูกหัวหน่าวผิดปกติ อาจมีดังนี้
การตั้งครรภ์และคลอดบุตร
อาการแนวประสานของกระดูกหัวหน่าวผิดปกติมักเกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์และคลอดบุตร เป็นผลมาจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์ทำให้เอ็นยึดข้อต่อคลายตัว เพื่อให้ข้อต่อยืดหยุ่นเพียงพอให้กระดูกเชิงกรานขยายระหว่างการคลอด แต่กระดูกอาจแยกหรือเอ็นยึดข้อต่อคลายตัวของมากเกินไป จนทำให้รู้สึกปวดบริเวณหัวหน่าวได้ ทั้งนี้ อาการนี้มักหายไปเองหลังคลอด
การเล่นกีฬา
อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาที่ขยับร่างกายส่วนล่างอย่างรุนแรงเป็นระยะเวลานานอาจทำให้กระดูกเชิงกรานอักเสบหรืออยู่ผิดตำแหน่ง โดยเฉพาะกีฬาอย่างฟุตบอล ตะกร้อ ที่ต้องอาศัยการเตะ การหมุนตัว หรือการขยับเปลี่ยนทิศทางของร่างกายอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีอาการปวดและส่งผลให้การเคลื่อนไหวติดขัด จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งยังอาจทำให้ไม่สามารถกลับไปเล่นกีฬาประเภทเดิมได้ เนื่องจากอาจบาดเจ็บซ้ำได้อีก
โรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
โรคข้อเข่าเสื่อมที่เกิดขึ้นบริเวณกระดูกอ่อนของหัวหน่าวอาจเกิดจากข้อเสื่อมสภาพตามการใช้งานอย่างหนักและอายุที่มากขึ้น ส่งผลให้เอ็นข้อต่อหย่อนยาน กระดูกเชิงกรานรอบข้อต่อและบริเวณข้อต่ออักเสบ หัวหน่าวจึงไม่สามารถรองรับกระดูกเชิงกรานได้ตามปกติ และมีอาการปวดตามข้อขณะยืน เดิน หรือวิ่ง โรคข้อเข่าเสื่อมควรได้รับการรักษาจากคุณหมอด้วยวิธีที่เหมาะสมกับภาวะทางสุขภาพของผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะกระดูกอ่อนสลายตัวจนทำให้เนื้อเยื่อข้อต่อหลวม (Chondrolysis) โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมที่ทำให้ผู้ป่วยขยับร่างกายน้อยลง
การอักเสบบริเวณหัวหน่าว (Osteitis pubis)
ภาวะกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณกระดูกเชิงกรานอักเสบ มักเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อสะโพกและขาหักโหมเกินไปขณะเล่นกีฬา จนกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บ หรืออาจเกิดขึ้นหลังคลอดบุตร และการผ่าตัดอุ้งเชิงกราน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้หัวหน่าวอักเสบและเคลื่อนไหวข้อต่อหัวหน่าวได้น้อยลง นอกจากนี้ ยังอาจทำให้รู้สึกปวดขณะเดิน วิ่ง ขึ้นบันได ขณะไอจาม หรือมีอาการปวดที่ขาหนีบหรือช่องท้องส่วนล่างได้ด้วย การอักเสบบริเวณหัวหน่าวสามารถบรรเทาได้ด้วยการรับประทานยาต้านการอักเสบ การออกกำลังกายเพื่อบริหารกล้ามเนื้อ และการหยุดทำกิจกรรมที่ทำให้หัวหน่าวอักเสบ
การดูแลหัวหน่าวอย่างถูกวิธี
วิธีดูแลสุขภาพที่อาจเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณหัวหน่าวได้ มีดังนี้
- ออกกำลังกายในรูปแบบที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนล่างของกระดูกเชิงกราน หลัง สะโพก ก้น หน้าท้อง และผนังช่องคลอด เช่น การขมิบกล้ามเนื้อรอบช่องคลอด ซึ่งเป็นท่าบริหารอุ้งเชิงกราน (Kegel Exercise) ที่อาจช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการหย่อนยานหรือหลวมของข้อต่อหัวหน่าวได้
- ออกกำลังกายบนพื้นผิวเรียบ หลีกเลี่ยงการออกกำลังบนพื้นขุรขระหรือไม่เสมอกัน เพื่อลดแรงกดของข้อต่อ และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่อาจทำให้กระดูกหรือเนื้อเยื่อหัวหน่าวบาดเจ็บ
- สวมรองเท้าที่ใส่สบาย ขนาดพอดีกับเท้า เพื่อลดแรงกดบริเวณข้อต่อขณะเดิน วิ่ง หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ
- ขยับร่างกายอยู่เสมอ เช่น ขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ เดินแทนขับรถหากระยะทางไม่ไกลมาก และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหักโหมที่อาจทำให้หัวหน่าวบาดเจ็บ
- ในระหว่างตั้งครรภ์ใช้เข็มขัดพยุงครรภ์ (Pregnancy support belt ) เพื่อช่วงลดแรงกดบริเวณหัวหน่าว