อาการต่อมลูกหมากโต เป็นภาวะสุขภาพที่อาจพบได้ในเพศชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เมื่ออายุมากขึ้นต่อมลูกหมากมักมีขนาดใหญ่ขึ้นจนไปเบียดกับท่อปัสสาวะ ส่งผลให้ปัสสาวะขัด ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุด และปัสสาวะกะปริดกะปรอย ทั้งนี้ หากมีอาการต่อมลูกหมากโตควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษา โดยเบื้องต้นคุณหมอจะให้รับประทานยาสำหรับลดขนาดต่อมลูกหมากเพื่อช่วยให้ปัสสาวะคล่องขึ้น อย่างไรก็ตาม หากรับประทานยาแล้วไม่ได้ผล คุณหมออาจเลือกรักษาอาการต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัด
ต่อมลูกหมากโต คืออะไร
ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะภายในของระบบสืบพันธุ์เพศชาย มีขนาดประมาณเท่าลูกเกาลัดหรือลูกปิงปอง ทำหน้าที่หลายอย่าง ได้แก่ ผลิตส่วนประกอบของน้ำอสุจิและกรองสารพิษที่ปนอยู่ในน้ำอสุจิ
ปกติแล้ว ต่อมลูกหมากจะหยุดโตเมื่อผู้ชายเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น และมักเริ่มมีขนาดโตขึ้นอีกครั้งเมื่ออายุมากขึ้นจนเบียดท่อปัสสาวะ และมักส่งผลให้ปัสสาวะติดขัด
ทั้งนี้ สาเหตุของต่อมลูกหมากโตยังไม่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ในร่างกายที่เริ่มไม่สมดุล รวมทั้งเซลล์ต่าง ๆ ในอันฑะที่มักเสื่อมสภาพตามอายุที่มากขึ้น
อาการต่อมลูกหมากโต เป็นอย่างไร
ต่อมลูกหมากโต เป็นอาการที่พบได้ในผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป โดย 1 ใน 3 ของผู้ชายอายุ 60 ปีมีอาการต่อมลูกหมากโตในระดับปานกลางหรือรุนแรง
สำหรับอาการต่อมลูกหมากโต ได้แก่
- ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ได้
- ปัสสาวะยาก ต้องเบ่งนาน
- ปัสสาวะไม่สุด
- ปัสสาวะมีแรงดันต่ำ กะปริดกะปรอย
นอกจากนี้ อาการต่อมลูกหมากโตยังอาจเป็นสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังนี้
- การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เกิดจากการที่ร่างกายปัสสาวะไม่สุด หรือปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะไม่ถูกขับออกจนหมด โดยอาการที่อาจพบได้เมื่อเกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ คือไข้ขึ้น ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน แสบร้อนองคชาตเมื่อปัสสาวะ และปัสสาวะขุ่นและมีกลิ่นแรง ทั้งนี้ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ อาจแพร่กระจายไปยังกระเพาะปัสสาวะและไต ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบและไตเสียหายได้
- นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เมื่อปัสสาวะถูกขับออกจากกระเพาะปัสสาวะไม่หมด แร่ธาตุที่ตกตะกอนอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจะจับตัวกันเป็นก้อนนิ่ว ส่งผลให้มีปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะแล้วเจ็บอวัยวะเพศ หรือปวดบริเวณท้องน้อย
อาการต่อมลูกหมากโต อันตรายหรือไม่
อาการต่อมลูกหมากโตพบได้ในเพศชายอายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นภาวะสุขภาพที่ไม่ร้ายแรง อย่างไรก็ตาม หากพบความผิดปกติเกี่ยวกับระบบขับถ่าย แม้จะอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง ก็ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาหรือดูแลตนเองให้ถูกต้องเหมาะสมกับอาการหรือโรค โดยเฉพาะเมื่อมีอาการดังต่อไปนี้
- ปัสสาวะไม่ออก
- ปัสสาวะบ่อย
- ปัสสาวะมีเลือดปน
- มีอาการปวดท้องน้อยและปวดบริเวณกระเพาะปัสสาวะ
อาการต่อมลูกหมากโต รักษาอย่างไร
หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคต่อมลูกหมากโต คุณหมอมักเลือกรักษาผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโตด้วยวิธีการต่อไปนี้
- ปรับพฤติกรรม หากมีอาการต่อมลูกหมากโตระดับเริ่มต้น คุณหมอมักแนะนำให้ดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล และลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ให้รับประทานยา เช่น ยาในกลุ่มยาปิดตัวรับอัลฟา (Alpha-blockers) ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อของต่อมลูกหมาก ทำให้ปัสสาวะคล่องขึ้น หรือยากลุ่มไฟฟ์ อัลฟา รีดัคเทส อินฮิบิเทอร์ (5-alpha Reductase Inhibitor) ที่ออกฤทธิ์ช่วยทำให้ต่อมลูกหมากมีขนาดเล็กลงด้วยการยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ซึ่งทำให้ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ขึ้น
- การผ่าตัด เป็นทางเลือกในการรักษาอาการต่อมลูกหมากโตระดับปานกลางหรือรุนแรง หากการรับประทานยาไม่เห็นผล ทั้งนี้ การผ่าตัดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดุคือการสอดกล้องเข้าไปทางท่อปัสสาวะ แล้วใช้เครื่องมือรูปแบบที่มีลักษณะคล้ายขดลวดตัดหรือขูดต่อมลูกหมากออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อให้มีขนาดเล็กลง ทั้งนี้ การผ่าตัดต่อมลูกหมากโต มีข้อเสียคืออาจทำให้ปัสสาวะลำบากชั่วคราว และเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ