backup og meta

เซ็กซ์ ทำให้มีความสุข และรู้สึกดีได้ เพราะอะไร

เซ็กซ์ ทำให้มีความสุข และรู้สึกดีได้ เพราะอะไร

เซ็กซ์ หรือ การมีเซ็กส์ (Sex) คือการทำกิจกรรมทางเพศ ส่งผลต่ออารมณ์และสุขภาพหลายประการ เช่น ช่วยคลายเครียด ช่วยบรรเทาปวด ทั้งยังทำให้มีความสุขหรือรู้สึกดีได้ด้วย การเรียนรู้ว่า การมีเซ็กส์ทำให้มีความสุข และรู้สึกดีได้เพราะอะไร อาจช่วยให้เข้าใจและมีเซ็กส์ที่มีประสิทธิภาพและสุขสมยิ่งขึ้นได้

[embed-health-tool-ovulation]

เซ็กซ์ ทำให้มีความสุข เพราะอะไร

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและอารมณ์ เช่น อวัยวะเพศชายตื่นตัว หัวนมตั้งชัน ความตื่นเต้น ความสุขสม ที่เกิดขึ้นจากการถูกกระตุ้นอารมณ์ทางเพศหรือการทำกิจกรรมทางเพศ เช่น การมีเซ็กส์ การช่วยตัวเอง ถือเป็นส่วนหนึ่งของวงจรตอบสนองทางเพศ (Sexual Response Cycle) แบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะตื่นตัวทางเพศ (Excitement phase)
  2. ระยะตื่นตัวทางเพศระดับสูง หรือระยะพลาโต (Plateau phase)
  3. ระยะสุขสุดยอดทางเพศ (Orgasm phase)
  4. ระยะกลับคืน (Resolution phase)

วงจรตอบสนองทางเพศทั้ง 4 ระยะนี้เกิดขึ้นได้กับทั้งเพศหญิงและเพศชาย แต่ความรุนแรงและระยะเวลาของแต่ละระยะที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกัน

1. ระยะตื่นตัวทางเพศ (Excitement phase)

เป็นระยะเริ่มต้นในการเกิดอารมณ์ทางเพศ อาจเกิดขึ้นยาวนานหลายนาทีหรือเป็นชั่วโมง ในระยะนี้ ร่างกายจะเริ่มตอบสนองต่อการกระตุ้น และรู้สึกตื่นเต้น ตื่นตัว เลือดปริมาณมากจะไหลเวียนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณอวัยวะเพศ เช่น องคชาต ช่องคลอด ปุ่มกระสันหรือคลิตอริส จนอาจทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้

  • หายใจหอบ หายใจถี่
  • ผิวแดง
  • หัวนมแข็ง หัวนมตั้งชัน
  • หน้าอกผู้หญิงเต่งตึงหรือขยาย
  • ช่องคลอดขยายตัวและเริ่มมีน้ำหล่อลื่น
  • องคชาตขยายตัวและตั้งแข็ง

2. ระยะตื่นตัวทางเพศระดับสูง หรือระยะพลาโต (Plateau phase)

ในระยะนี้ ความตื่นตัวทางเพศจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนใกล้ถึงจุดสุดยอด บริเวณอวัยวะเพศ เช่น คลิตอริส ช่องคลอด องคชาต ไวต่อความรู้สึกและการกระตุ้นมากขึ้น อาการหายใจหอบถี่รุนแรงขึ้น เริ่มมีน้ำหล่อลื่นหรือน้ำเมือกไหลออกจากปลายองคชาต การตอบสนองทางเพศในระยะนี้อาจเกิดขึ้นประมาณ 30 วินาทีถึง 3 นาที

3. ระยะสุขสุดยอดทางเพศ (Orgasm phase)

เมื่อได้รับการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศอย่างเหมาะสม ทั้งหญิงและชายจะเข้าสู่ระยะสุขสุดยอดทางเพศ หรือที่เรียกว่า การถึงจุดสุดยอด ซึ่งเป็นช่วงที่มีความสุขที่สุด อาจสังเกตได้จากชีพจรเต้นเร็วขึ้น หายใจถี่มาก ผู้ชายอาจรู้สึกกลั้นน้ำอสุจิไว้ไม่ไหวจนต้องหลั่งน้ำอสุจิออกมา ส่วนผู้หญิงอาจมีอาการช่องคลอดหดเกร็งเป็นระยะ ตัวกระตุก โดยปกติแล้ว ระยะนี้อาจใช้เวลาประมาณ 3-15 วินาที และในระหว่างมีเซ็กส์ ผู้หญิงอาจถึงจุดสุดยอดได้หลายครั้งติดต่อกัน แต่ผู้ชายอาจต้องรอสักระยะกว่าจะถึงจุดสุดยอดได้อีกครั้ง

4. ระยะกลับคืน (Resolution phase)

เป็นระยะสุดท้ายในวงจรตอบสนองทางเพศ หลังถึงจุดสุดยอด กล้ามเนื้อจะเริ่มคลายตัว อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายจะเริ่มกลับคืนสู่สภาวะปกติก่อนถูกกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ องคชาตจะค่อย ๆ อ่อนตัวและกลับสู่ขนาดปกติ แต่จะช้าหรือเร็วอาจขึ้ันอยู่กับสุขภาพและอายุด้วย ส่วนผู้หญิง ปากมดลูก ช่องคลอด แคมจะเริ่มกลับมาเป็นสีและขนาดปกติ ระยะนี้อาจใช้เวลา 10 นาทีไปจนถึงยาวนานเป็นวัน

ในระหว่างที่เกิดวงจรตอบสนองทางเพศ เส้นประสาทในบริเวณอวัยวะเพศหรือบริเวณที่ไวต่อการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศจะส่งสัญญาณไปยังสมอง เพื่อกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนหรือสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกทางเพศ และการตุ้นให้เกิดความรู้สึกดี หรือมีความสุขจากการมีเซ็กส์ เช่น

  • โดปามีน ช่วยกระตุ้นให้รู้สึกตื่นตัวทางเพศ ร่างกายมักหลั่งออกมาในช่วงที่กระหายอยากทางเพศ (Sexual Desire Phase)
  • นอร์อิพิเนฟริน ส่งผลต่อการหดและขยายตัวของหลอดเลือด ทำให้บริเวณอวัยวะเพศไวต่อการสัมผัสมากขึ้น ร่างกายมักหลั่งออกมาในช่วงที่ถูกกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ
  • โปรแลคติน ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนนี้มากขึ้นอย่างฉับพลันหลังถึงจุดสุดยอด อาจช่วยลดการตอบสนองทางเพศ และทำให้ร่างกายเข้าสู่ระยะพักฟื้น
  • ออกซิโทซิน ได้ชื่อว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก ความผูกพัน เนื่องจากช่วยกระตุ้นความรู้สึกใกล้ชิดผูกพัน ร่างกายมักหลั่งออกมาหลังถึงจุดสุดยอด

การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย อารมณ์ และการหลั่งสารในสมองในช่วงเกิดวงจรตอบสนองทางเพศนี่เอง ที่ทำให้เกิดความรู้สึกสุขสม หรือความรู้สึกดีจากการมีเซ็กส์ นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ เช่น การได้มีเซ็กส์กับคนที่รักหรือชื่นชอบ ความผ่อนคลายหลังจากมีเซ็กส์ ความพึงพอใจในตัวเองที่เพิ่มมากขึ้น ก็อาจส่งผลให้มีเซ็กส์แล้วมีความสุขได้เช่นกัน

มี เซ็กซ์ แต่ไม่สุขสม เกิดจากอะไรได้บ้าง

แม้การมีเซ็กส์ หรือการถูกกระตุ้นทางเพศ จะทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกดี มีความสุข แต่ในบางครั้ง ก็อาจมีปัจจัยบางอย่างที่ส่งผลให้มีเซ็กส์แล้วรู้สึกไม่ดี หรือไม่มีความสุขได้ เช่น

  • การไม่ถูกเล้าโลม หรือเล้าโลมน้อยเกินไป จนมีน้ำหล่อลื่นไม่เพียงพอ ส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวดขณะมีเซ็กส์ ปัญหานี้พบมากในผู้หญิง
  • เคยมีประสบการณ์ทางเพศที่ไม่ดี หรือมีบาดแผลทางใจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เช่น เคยโดนล่วงละเมิดทางเพศ
  • รู้สึกเบื่อเซ็กส์ เบื่อคู่นอนหรือคู่รักของตน
  • ไม่รู้สึกตื่นตัวทางเพศ
  • มีปัญหาสุขภาพ เช่น ช่องคลอดแห้ง ช่องคลอดติดเชื้อ กล้ามเนื้ออักเสบ ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง มีภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ เป็นโรคต่อมลูกหมากอักเสบ

การเข้าพบคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่ทำให้มีเซ็กส์แล้วไม่มีความสุข และเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจช่วยทำให้การมีเซ็กส์ทำให้มีความสุขได้มากขึ้น ยิ่งหากมีเซ็กส์แล้วรู้สึกเจ็บปวดหรือไม่สุขสม ร่วมกับมีปัญหาเหล่านี้ ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันที

  • มีอาการเจ็บปวด หรือแสบร้อนเนื่องจากมีเพศสัมพันธ์แย่ลง หรือเรื้อรัง
  • ช่องคลอดแห้ง แต่ใช้เจลหล่อลื่นแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น
  • มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพระบบขับถ่าย หรืออวัยวะเพศ เช่น เลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ แสบร้อนขณะปัสสาวะ

เคล็บลับที่อาจช่วยให้ การมีเซ็กส์ทำให้มีความสุข มากขึ้น

เคล็ดลับต่อไปนี้อาจช่วยให้มีเซ็กส์ที่สุขสมและปลอดภัยยิ่งขึ้น

  • เล้าโลมให้นานขึ้น เพื่อกระตุ้นอารณ์ทางเพศและทำให้ร่างกายพร้อมสำหรับการมีเซ็กส์ที่สุด
  • เปิดใจพูดคุยกับคู่รักหรือคู่นอนเกี่ยวกับรูปแบบกิจกรรมทางเพศที่แต่ละคนชื่นชอบ และลองปฏิบัติตามนั้น อาจช่วยให้ถึงจุดสุดยอดและมีความสุขกับการมีเซ็กส์ได้มากขึ้น
  • ใช้ถุงยางอนามัย หรือแผ่นอนามัยทุกครั้งที่มีเซ็กส์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Safer Sex Guidelines. https://www.hopkinsmedicine.org/health/wellness-and-prevention/safer-sex-guidelines. Accessed February 8, 2022

Your Guide to the Sexual Response Cycle. https://www.webmd.com/sex-relationships/guide/sexual-health-your-guide-to-sexual-response-cycle. Accessed February 8, 2022

10 Surprising Health Benefits of Sex. https://www.webmd.com/sex-relationships/guide/sex-and-health. Accessed February 8, 2022

The Top 20 Reasons People Have Sex. https://www.webmd.com/sex-relationships/guide/why-people-have-sex. Accessed February 8, 2022

กายวิภาคและสรีรวิทยาของการตอบสนองทางเพศ. http://www.cai.md.chula.ac.th/lesson/lesson4423/data/story02.html. Accessed February 8, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

05/09/2023

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกจะท้องไหม

เซ็กจัด สาเหตุ วิธีสังเกต และวิธีรับมือ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 05/09/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา