backup og meta

เจ็บเต้าสองข้าง เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่

เจ็บเต้าสองข้าง เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่

เจ็บเต้าสองข้าง เป็นปัญหาสุขภาพบริเวณหน้าอกที่มักเกิดในเพศหญิง อาจเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย การลดลงของฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนก่อนมีประจำเดือน การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเพศเมื่อตั้งครรภ์ การสวมเสื้อชั้นในที่ไม่พอดีกับขนาดหน้าอก การมีน้ำนมมากเกินไปในหญิงให้นมบุตร รวมถึงภาวะเต้านมอักเสบ โดยส่วนใหญ่ หากอาการเจ็บเต้าสองข้างเกี่ยวข้องกับประจำเดือน มักหายเองได้เมื่อประจำเดือนรอบนั้นสิ้นสุดลง แต่หากอาการเจ็บเต้านมทั้งสองข้างเกิดจากสาเหตุอื่น มักไม่หายไปเอง และหากมีอาการไข้ร่วมด้วย ควรรีบไปหาคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างตรงจุด

[embed-health-tool-ovulation]

เจ็บเต้าสองข้าง เกิดจากอะไรได้บ้าง

เจ็บเต้าสองข้างเป็นอาการที่มักเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายเพศหญิง เช่น การลดลงของเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนก่อนมีประจำเดือน โดยจัดเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน หรือพีเอ็มเอส (Premenstrual Syndrome หรือ PMS)

นอกจากนี้ อาการเจ็บเต้านมยังเกิดได้จากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนทั้งสองชนิดระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณเต้านมมากขึ้นจนเกิดอาการบวมและเจ็บได้

สำหรับสาเหตุอื่น ๆ ของการเจ็บเต้าสองข้างที่ไม่เกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนในเพศหญิง มีดังต่อไปนี้

  • การสวมเสื้อชั้นในที่ไม่เหมาะสมกับขนาดหน้าอก อาจรัดแน่นเกินไปจนทำให้รู้สึกคัดตึงและเจ็บได้
  • การบาดเจ็บบริเวณเต้านม
  • ภาวะซีสเต้านม (Fibrocystic Change)
  • ปริมาณน้ำนมที่มากเกินไป หรือการระบายน้ำนมออกไม่หมดในหญิงให้นมบุตรทำให้รู้สึกคัดแน่นหน้าอกจนรู้สึกเจ็บ
  • อาการเคล็ด ขัด ยอก บริเวณลำคอ หัวไหล่ หรือหลัง ซึ่งแพร่กระจายมายังบริเวณเต้านม
  • เต้านมอักเสบ (Mastitis) เกิดจากการอุดตันของท่อน้ำนมซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อแบคทีเรียและทำให้เกิดอาการเจ็บปวดร่วมด้วย
  • ผลข้างเคียงของยาบางชนิด
  • มะเร็งเต้านมอักเสบ (Inflammatory Breast Cancer) หรือการที่เซลล์มะเร็งขัดขวางการทำงานของท่อน้ำเหลืองบริเวณหน้าอก
  • เข้าสู่ช่วงวัยทอง ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงอาจทำให้รู้สึกเจ็บเต้าสองข้างได้

เจ็บเต้าสองข้าง มีอาการอย่างไร

หากเจ็บเต้าสองข้าง มักมีอาการเจ็บปวด แสบร้อน คัดตึง บวมแน่น หรือเสียวแปลบบริเวณหน้าอกหรือเต้านม ทั้งนี้ หากเจ็บเต้าสองข้างมีสาเหตุจากการลดลงของฮอร์โมนเพศก่อนมีประจำเดือน มักทำให้มีอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • มีระดับความเจ็บปวดตั้งแต่ปานกลาง ไปจนถึงระดับรุนแรง
  • มักพบในเพศหญิงอายุระหว่าง 20-40 ปี หรือในช่วงอายุที่ยังไม่เข้าสู่วัยทอง
  • อาจเริ่มมีอาการตั้งแต่ 2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน
  • อาการมักหายไปหลังจากประจำเดือนรอบนั้นหมดลง
  • ความเจ็บปวดอาจแพร่กระจายไปยังบริเวณรักแร้ได้

หากเจ็บเต้าสองข้างเนื่องจากสาเหตุอื่น อาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • ความเจ็บปวดอาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือเป็น ๆ หาย ๆ
  • ความเจ็บปวด อาจเริ่มต้นที่เต้านมข้างใดข้างหนึ่ง ก่อนกระจายไปอีกข้างในภายหลัง
  • มีไข้ ไม่สบายตัว หรืออาจมีอาการปวดเมื่อยตัวบริเวณอื่นร่วมด้วย

เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

หากอาการเจ็บเต้าสองข้างเกี่ยวเนื่องกับประจำเดือน มักหายไปเองหลังประจำเดือนรอบนั้นหมดลง แต่หากเจ็บเต้านมขณะตั้งครรภ์ อาจใช้วิธีประคบเย็นบริเวณเต้านมเป็นเวลา 15 นาที ทุก ๆ ชั่วโมง เพื่อช่วยให้หลอดเลือดบริเวณเต้าหดตัวลง และชะลอการไหลเวียนของเลือด อาการเจ็บเต้าสองข้างอาจจะค่อย ๆ ทุเลาลง

หากอาการเจ็บเต้านมเกิดจากสาเหตุอื่น และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอ

  • มีอาการเจ็บเต้าสองข้างทุกวันต่อเนื่องกันนานเกินสองสัปดาห์
  • มีอาการเจ็บหรือปวดเกิดขึ้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของเต้านมโดยเฉพาะ
  • มีอาการแย่ลง หรือรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
  • มีอาการไข้ ปวดหัว วิงเวียน หรือคลื่นไส้ ร่วมด้วย
  • ทำให้เป็นกังวล นอนไม่หลับ

เจ็บเต้าสองข้างรักษาอย่างไร

คุณหมอจะตรวจเต้านมโดยดูจากภายนอกหรือคลำรอบ ๆ บริเวณหน้าอก เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของอาการเจ็บเต้าสองข้างก่อนจะประเมินวิธีการรักษาตามอาการ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • จ่ายยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory Drugs) ให้ทาบริเวณหน้าอก เพื่อทุเลาความเจ็บปวดหรืออาการอักเสบ
  • จ่ายยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) พาราเซตามอล สำหรับรับประทานเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดเบื้องต้น
  • จ่ายยาต้านเชื้อ หากพบว่าอาการเจ็บเต้าสองข้างเกิดจากการติดเชื้อโรคและทำให้เกิดภาวะเต้านมอักเสบ คุณหมออาจให้รับประทานยาต้านเชื้อเป็นเวลา 10 วันติดต่อกัน
  • ให้รับประทานฮอร์โมนทดแทน เพื่อปรับระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายให้สมดุล ไม่ต่ำลงมามากจนเกินไป
  • ให้ลองปรับพฤติกรรม เช่น อาจแนะนำให้ใส่เสื้อชั้นในที่กระชับหรือพอดีกับขนาดหน้าอกของตัวเอง

เจ็บเต้าสองข้าง ป้องกันอย่างไร

เจ็บเต้าสองข้าง อาจป้องกันได้ หากปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • สวมใส่เสื้อชั้นในที่กระชับ เนื้อผ้านุ่ม ให้ความรู้สึกสบายตัว หรือสปอร์ตบราแบบไร้โครง ที่โอบอุ้มเต้านมได้พอดีไม่หลวมหรือคับจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดที่อาจมีผลข้างเคียงทำให้เจ็บเต้านม เช่น คลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine) ซึ่งเป็นยาสำหรับรักษาความผิดปกติทางจิตวิทยา ดิจิทาลิส (Digitalis) ยาสำหรับรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว เมธิลโดปา (Methyldopa) ยาสำหรับรักษาภาวะความดันโลหิตสูง
  • เลือกคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัยแทนการรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน หรือใช้การคุมกำเนิดแบบอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ฮอร์โมน เช่น การนับวันตกไข่ การทำหมัน
  • หญิงให้นมบุตรควรปั๊มน้ำนมออกเมื่อมีน้ำนมเหลือในเต้านม เนื่องจากนมที่ค้างอยู่ในเต้าอาจทำให้เต้านมอุดตันและติดเชื้อ จนเต้านมมีภาวะอักเสบและเจ็บเต้าสองข้างได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Breast Pain: 10 Reasons Your Breasts May Hurt. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/breast-pain-10-reasons-your-breasts-may-hurt. Accessed June 21, 2022

Breast pain. https://www.nhs.uk/conditions/breast-pain/#:~:text=Breast%20pain%20is%20usually%20linked,sometimes%20pain%20spreads%20to%20the. Accessed June 21, 2022

Breast pain. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/breast-pain/diagnosis-treatment/drc-20350426. Accessed June 21, 2022

Breast Pain: 10 Reasons Your Breasts May Hurt. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/breast-pain-10-reasons-your-breasts-may-hurt. Accessed June 21, 2022

Breast Pain: 10 Reasons Your Breasts May Hurt. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/breast-pain-10-reasons-your-breasts-may-hurt. Accessed June 21, 2022

Mastitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/mastitis/symptoms-causes/syc-20374829. Accessed June 21, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/10/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

เจ็บนม คัดเต้านม อาการของคนตั้งครรภ์ในระยะแรก

นมโต ผิดปกติไหม เสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมหรือไม่


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา