backup og meta

Congenital Syphilis คือ โรคอะไร เป็นโรคอันตรายหรือไม่

Congenital Syphilis คือ โรคอะไร เป็นโรคอันตรายหรือไม่

Congenital Syphilis คือ โรคซิฟิลิสแต่กำเนิด เกิดจากหญิงตั้งครรภ์เป็นโรคซิฟิลิสแล้วถ่ายทอดสู่ทารกในครรภ์ อาจเป็นสาเหตุให้คลอดก่อนกำหนด ทารกพิการแต่กำเนิด ทารกมีร่างกายผิดปกติ เช่น ตัวเหลือง ม้ามโต สมองอักเสบ แท้งหรือทารกเสียชีวิตหลังคลอดได้ ยังอย่างไรก็ตาม โรคซิฟิลิสแต่กำเนิดอาจป้องกันหรือรักษาได้ทันท่วงที โดยหญิงตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่ครั้งแรกที่ฝากครรภ์และรับการรักษา

[embed-health-tool-due-date]

Congenital Syphilis คือ อะไร

ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema Pallidum) ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านรอยขีดข่วนหรือบาดแผลเล็ก ๆ อย่างแผลปริหรือฉีกขาดบริเวณช่องคลอดและทวารหนักระหว่างมีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งติดต่อกันผ่านการจูบ การรับเลือดจากผู้ที่ติดเชื้อ และใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ

กลุ่มเสี่ยงซิฟิลิส ได้แก่ ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยและผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย

อาการของ Congenital Syphilis ขึ้นอยู่กับระยะของโรค หากเป็นการติดเชื้อซิฟิลิสปฐมภูมิจะสามารถพบแผลริมแข็งบริเวณที่ติดเชื้อซึ่งอาจเป็นรอยแตก ปริ หรือฉีกขาด ขอบแผลนูน แต่ไม่รู้สึกเจ็บ มักพบที่บริเวณอวัยวะเพศ ผู้ป่วยอาจจะไม่ทราบว่ามีรอยโรคเนื่องจากเป็นแผลที่ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ ทำให้เชื้อสามารถพัฒนาเข้าสู่ระยะที่สองหรือการติดเชื้อซิฟิลิสทุติยภูมิ ทำให้มีผื่นขึ้นตามบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ลิ้น ริมฝีปาก ฝ่ามือฝ่าเท้า และลำตัว

หากปล่อยไว้นานโดยไม่รักษา ซิฟิลิสจะเข้าสู่ระยะตติยภูมิซึ่งอาจแพร่กระจายไปยังหัวใจและหลอดเลือด ทำให้หัวใจทำงานเสื่อมประสิทธิภาพหรือหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้ ซิฟิลิสยังอาจแพร่กระจายไปยังระบบประสาท ทำให้แขนขาอ่อนแรงหรือสมองเสื่อมได้

สำหรับ Congenital Syphilis คือ โรคซิฟิลิสแต่กำเนิด ซึ่งพบในทารกที่ได้รับเชื้อจากมารดาที่เป็นโรคซิฟิลิสระหว่างตั้งครรภ์ โดยหญิงตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ฝากครรภ์ครั้งแรกในไตรมาสแรก ทั้งนี้ ความรุนแรงของโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดที่ถ่ายทอดจากมารดาสู่ทารกนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อในกระแสเลือดและระยะของการติดเชื้อในระหว่างที่ตั้งครรภ์

หากตรวจพบว่าหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อซิฟิลิส คุณหมอมักรักษาโดยการจ่ายยา เบนซาทีน เพนิซิลลิน (Benzathine penicillin G) เพื่อกำจัดเชื้อและป้องกันทารกเป็นโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด

นอกจากนั้น ระหว่างการตั้งครรภ์ คุณหมอจะเฝ้าติดตามสุขภาพครรภ์เป็นระยะ ๆ อย่างใกล้ชิด โดยอาจตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ด้วยการอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เพื่อตรวจสอบการทำงานของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ของทารก ช่วยในการวินิจฉัยโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด เพื่อเตรียมรับมือกับอาการของโรคที่อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือหลังคลอดได้

โรคซิฟิลิสแต่กำเนิดส่งผลต่อสุขภาพของทารกอย่างไร

โรคซิฟิลิสแต่กำเนิด อาจเป็นอันตรายต่อทารกได้ ดังนี้

  • ทำให้เสียชีวิตระหว่างอยู่ในครรภ์
  • ทำให้เสียชีวิตระหว่างคลอด
  • ทำให้คลอดก่อนกำหนด
  • ทำให้เสียชีวิตหลังจากคลอดไม่นาน

นอกจากนี้ โรคซิฟิลิสแต่กำเนิดยังเป็นสาเหตุให้ทารกพิการหรือมีร่างกายผิดปกติ ดังนี้

  • น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ
  • ตับและม้ามใหญ่กว่าปกติ
  • ตัวเหลือง
  • ฝ่ามือฝ่าเท้าพองและลอก
  • น้ำมูกไหลมาก อาจมีเลือดปน คล้ายเป็นหวัดเรื้อรัง
  • นอนนิ่ง ไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้ คล้ายเป็นอัมพาต
  • โลหิตจางอย่างรุนแรง
  • กระดูกผิดรูป
  • ตาบอด
  • หูหนวก
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

อย่างไรก็ตาม ทารกบางรายอาจไม่มีอาการป่วยใด ๆ เมื่อคลอดออกมา แต่จะมีอาการเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 2-3 สัปดาห์หรืออาจนานกว่านั้น ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่ตรวจพบว่าเป็นซิฟิลิสระหว่างตั้งครรภ์ ควรสังเกตอาการของทารกหลังคลอดอย่างใกล้ชิด และรายงานให้คุณหมอทราบ

นอกจากนี้ ทารกที่เป็นโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดไม่สามารถหายเองได้ ต้องได้รับการรักษาทันทีเพื่อป้องกันการเสียชีวิต

Congenital Syphilis รักษาได้อย่างไร

โรคซิฟิลิสแต่กำเนิด คุณหมอมักรักษาด้วยการให้ยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) ทางหลอดเลือดแก่ทารกเป็นเวลา 10-14 วัน

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผลตรวจยังไม่ชัดเจน คุณหมอมักฉีดโปรเคน เพนิซิลลิน (Procaine Penicillin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะสำหรับรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียให้ทารกทางกล้ามเนื้อ 1 เข็ม

ทั้งนี้ หากตรวจพบว่าทารกเป็นโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดตั้งแต่ตอนหลังคลอดและได้รับการรักษาทันที และร่างกายของทารกตอบสนองต่อยา อาจรักษาให้หายได้ แต่จำเป็นต้องติดตามการรักษาเป็นระยะ ๆ โดยการตรวจเลือดเพื่อยืนยันผลการรักษา ในบางราย หากรักษาช้าเกินไปหรือร่างกายไม่ตอบสนองต่อยาที่ใช้ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

Congenital Syphilis ป้องกันได้อย่างไร

โรคซิฟิลิสแต่กำเนิดอาจป้องกันได้โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • เข้ารับการตรวจคัดกรองซิฟิลิสตั้งแต่ฝากครรภ์ครั้งแรกในช่วงไตรมาสแรก หากตรวจพบจะได้รักษาอย่างทันท่วงที และหาวิธีป้องกันการติดเชื้อของทารกในครรภ์ ทั้งนี้ การตรวจหาซิฟิลิสประกอบด้วยการตรวจร่างกาย และการเจาะเลือด เพื่อนำตัวอย่างเลือดไปตรวจหาแอนติบอดี (Antibodies) หรือสารภูมิต้านทาน
  • ป้องกันตัวเองจากโรคซิฟิลิส ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ป้องกันได้ด้วยการมีคู่นอนเพียงคนเดียว สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และหลีกเลี่ยงการใช้ยาเสพติดหรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด เพราะอาจทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจและเลือกมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน รวมทั้งตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Congenital Syphilis – CDC Fact Sheet. https://www.cdc.gov/std/syphilis/stdfact-congenital-syphilis.htm#:~:text=What%20is%20congenital%20syphilis%20(CS,to%20her%20baby%20during%20pregnancy. Accessed October 10, 2022

Syphilis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/syphilis/symptoms-causes/syc-20351756. Accessed October 10, 2022

Guidelines for the Prevention and Treatment of Opportunistic Infections in Children with and Exposed to HIV. https://clinicalinfo.hiv.gov/en/guidelines/hiv-clinical-guidelines-pediatric-opportunistic-infections/syphilis#:~:text=Acquired%20syphilis%20in%20children%20and,latent%20disease)%20(AII). Accessed October 10, 2022

Congenital Syphilis. https://rarediseases.org/rare-diseases/congenital-syphilis/. Accessed October 10, 2022

What Pregnant Women Can Do. https://www.cdc.gov/std/syphilis/CTApreg.htm#:~:text=Syphilis%20can%20also%20be%20passed,to%20her%20baby%20during%20pregnancy.&text=Babies%20born%20to%20women%20with,the%20infection%20as%20a%20newborn. Accessed October 10, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/11/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ซิฟิลิส อาการ การรักษาและวิธีป้องกัน

โรคซิฟิลิส คือ อะไร รู้จักและทำความเข้าใจโรคนี้ให้มากขึ้น


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 26/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา