หลายคนอาจคิดว่า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างหญิงกับชาย หรือชายกับชายเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หญิงรักหญิง ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การรู้เท่าทันโรค เช่น ปัจจัยเสี่ยง วิธีป้องกัน อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หญิงรักหญิง
การมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะแบบผู้หญิงกับผู้หญิง หรือผู้หญิงกับผู้ชาย ก็อาจเสี่ยงเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ทั้งสิ้น สำหรับการมีเพศสัมพันธ์หรือการทำกิจกรรมทางเพศระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง อาจมีพฤติกรรมเสี่ยงจากการใช้เซ็กส์ทอย (Sex toy) ร่วมกับผู้อื่น หรือการเคยมีคู่นอนเป็นผู้ชาย
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบในความสัมพันธ์ระหว่างหญิงกับหญิง สามารถติดต่อได้ทั้งจากผู้หญิงด้วยกันเองหรือจากผู้ชาย ดังนี้
- โรคติดเชื้อระหว่างผู้หญิงกันเอง โรคที่เกิดจากการติดเชื้อระหว่างผู้หญิงกันเอง มักแพร่เชื้อผ่านการสัมผัสเป็นหลัก ได้แก่ ไวรัสเอชพีวีที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ เริม และตกขาวกลิ่นเหม็นในช่องคลอด นอกจากนี้ หากใช้เซ็กส์ทอยร่วมกันหลายคนโดยไม่ทำความสะอาดให้ดี หรือป้องกันการติดเชื้อด้วยการหุ้มด้วยถุงยางอนามัย และเปลี่ยนถุงยางอนามัยทุกครั้งที่แบ่งปันกันใช้ ก็อาจก่อให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
- โรคที่เกิดจากอดีตคู่นอนที่เป็นผู้ชาย เช่น โรคหนองใน โรคหนองในเทียม โรคซิฟิลิส
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หญิงรักหญิง ที่พบบ่อย
การมีเพศสัมพันธ์แบบผู้หญิงกับผู้หญิง อาจทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนี้
- โรคเริม
นอกจากเริมจากอวัยวะเพศสู่อวัยวะเพศแล้ว พฤติกรรมทางเพศระหว่างหญิงกับหญิง เช่น การใช้ปากกับอวัยวะเพศ การใช้อวัยวะเพศถูไถกัน ก็อาจทำให้เป็นโรคเริมได้เช่นกัน โดยเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes simplex virus) ที่ทำให้เกิดโรคเริม สามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งอาจแสดงอาการหรือไม่ก็ได้ โดยหลังจากเชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะฟักตัวประมาณ 3-7 วันหลังได้รับเชื้อ
- ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
ภาวะตกขาวมีกลิ่นเหม็นเป็นภาวะที่พบได้บ่อย มักเกิดจากแบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุล โดยปกติในช่องคลอดจะมีแบคทีเรียหลายชนิด ชนิดดี คือ กลุ่มแลคโตแบซิลไล (Latobacilli) ซึ่งสร้างสภาวะกรดในช่องคลอดเพื่อควบคุมไม่ให้แบคทีเรียกลุ่มไม่ดีคือกลุ่มที่ไม่ใช้ออกซิเจนเพิ่มจำนวนขึ้น เพราะหากในช่องคลอดมีแบคทีเรียชนิดไม่ดีมากเกินไป อาจทำให้เกิดตกขาวมีกลิ่นเหม็น โดยอาการนี้อาจเกิดจากการใช้ปากและลิ้นสัมผัสภายในบริเวณช่องคลอด ทำให้น้ำลายในปากไปทำลายความเป็นกรดในช่องคลอด
- หูดหงอนไก่
โรคหูดหงอนไก่ หรือหูดอวัยวะเพศ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีสาเหตุหลักมาจากเชื้อฮิวแมนแปปิโลมาไวรัส หรือเชื้อเอชพีวี (HPV) โรคนี้สามารถแพร่กระจายและติดต่อกันได้ง่าย ผู้แพร่เชื้อและและผู้รับเชื้ออาจไม่แสดงอาการใด ๆ หรืออาจติดเชื้อนานเป็นปีกว่าอาการจะปรากฏ แม้จะไม่ใช่โรคที่อันตรายถึงชีวิต แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือชีวิตคู่ได้
การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ทั้งผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แบบผู้หญิงกับผู้หญิง และผู้หญิงกับผู้ชาย อาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ฉีดวัคซีนป้องกันเกิดโรคหูดหงอนไก่ ซึ่งร้อยละ 90 ของหูดหงอนไก่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวีชนิด 6 และ 11 โดยวัคซีนที่ป้องกันหูดหงอนไก่ได้อยู่ในรูปวัคซีนเอชพีวี (HPV) ชนิดที่มี 4 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18) ซึ่งปัจจุบันได้รับการรับรองให้ใช้ได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยไวรัสเอชพีวี (HVP) สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก เช่น HPV 16 และ 18 ยังสามารถติดต่อได้เช่นกันระหว่างหญิงกับหญิง แม้จะเสี่ยงน้อยกว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงก็ตาม
- ทำความสะอาดเซ็กส์ทอยทุกครั้งทั้งก่อนและหลังใช้งาน ทางที่ดี ไม่ควรใช้เซ็กส์ทอยร่วมกับผู้อื่น และควรหุ้มเซ็กส์ทอยด้วยอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงยางอนามัย
- เลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยการใช้ปากกับอวัยวะเพศ หรือใช้เครื่องป้องกันการติดเชื้อจากการทำออรัลเซ็กส์ เช่น แผ่นยางอนามัย
- เข้ารับการตรวจภายใน การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear) และการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV เป็นประจำ
[embed-health-tool-ovulation]