โรคแผลริมอ่อน เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียฮีโมฟิลัส ดูเครย์ (Haemophilus ducreyi) ที่ส่งผลให้เกิดแผลพุพองและตุ่มหนองบริเวณอวัยวะเพศ สามารถพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย และอาจแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันและผ่านทางเลือด ดังนั้น หากพบว่ามีอาการของโรคแผลริมอ่อนควรเข้าพบคุณหมอทันทีเพื่อรับการรักษา และป้องกันการแพร่กระจายไปสู่บุคคลอื่น
[embed-health-tool-ovulation]
โรคแผลริมอ่อน คืออะไร
โรคแผลริมอ่อน คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียฮีโมฟิลัส ดูเครย์ ที่สามารถแพร่กระจายผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ป้องกัน และอาจแพร่กระจายผ่านทางเลือด รวมถึงการสัมผัสทางผิวหนังในบริเวณที่มีบาดแผลหรือหนองจากแผลริมอ่อนและนำมือไปสัมผัสดวงตา ปาก หรือร่างกายของผู้อื่น
อาการของโรคแผลริมอ่อน
หลังจากร่างกายได้รับเชื้อแบคทีเรียฮีโมฟิลัส ดูเครย์ ภายใน 1-2 สัปดาห์ อาจเริ่มปรากฏอาการต่าง ๆ ดังนี้
- ตุ่มขนาดเล็กบริเวณอวัยวะเพศ หนังหุ้มปลาย องคชาต ถุงอัณฑะ ปากช่องคลอด ทวารหนัก และขาหนีบ ที่อาจมีขนาดประมาณ 1-2 นิ้ว
- แผลพุพอง เป็นหนอง
- อาการเจ็บปวดบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ
วิธีรักษาโรคแผลริมอ่อน
วิธีรักษาโรคแผลริมอ่อน มีดังนี้
ยาปฏิชีวนะ
ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการบวมของต่อมน้ำเหลือง อาการอักเสบของแผล และอาจช่วยให้แผลริมอ่อนหายไวขึ้น ซึ่งมีทั้งยาปฏิชีวนะในรูปแบบรับประทานและแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยอาจใช้ดังต่อไปนี้
- ยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 250 มิลลิกรัม ในรูปแบบฉีดกล้ามเนื้อ 1 ครั้ง ในปริมาณ 1 โดส
- ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ในปริมาณ 1 กรัม ควรรับประทาน 1 ครั้ง หรือตามดุลพินิจของคุณหมอ
- ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ขนาด 500 มิลลิกรัม 3 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 7 วัน ติดต่อกัน
- ยาซิโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ขนาด 500 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 3 วัน สำหรับสตรีตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงระหว่างให้นมบุตร ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพทารกในครรภ์
นอกจากนี้ ควรเข้ารับการตรวจอีกครั้งหลังจากเริ่มการรักษาได้ประมาณ 3-7 วัน เพื่อประเมินอาการและตรวจสอบว่ามีการตอบสนองต่อยารักษาหรือไม่ สำหรับผู้ที่ไม่มีการตอบสนองต่อการรักษา คุณหมออาจจำเป็นต้องใช้เข็มเจาะแผล หรือกรีดตุ่มหนองเพื่อระบายของเหลวออก และควรเข้ารับการตรวจทุก ๆ 3-6 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำ
ในระหว่างการรักษาโรคแผลริมอ่อน ควรรักษาความสะอาดรอบ ๆ แผล และเช็ดแผลให้แห้งหลังจากขับถ่าย อีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าและกางเกงชั้นในที่รัดรูป เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองในบริเวณที่เป็นแผลริมอ่อน
การป้องกันโรคแผลริมอ่อน
การป้องกันโรคแผลริมอ่อน อาจทำได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ
- งดการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่มีแผลเปิดในบริเวณอวัยวะเพศหรือขาหนีบ
- งดการมีเพศสัมพันธ์หากมีแผลบริเวณขาหนีบและอวัยวะเพศ ควรรอจนกว่าแผลจะหายสนิท เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำทุกปี