กระแดด หรือ กระผู้สูงอายุ คือ อาการของโรคผิวหนังที่อาจพบได้บ่อยในผู้ที่มีผิวขาว และอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป โดยกระแดดอาจเกิดจากผิวหนังโดนรังสีอัลตร้าไวโอเลตจากแสงแดดเป็นระยะเวลานาน จนอาจส่งผลให้ผิวหนังบริเวณชั้นนอกสุดเกิดการขยายตัว เป็นรอยขนาดเล็ก หยาบกร้าน หนา และเป็นสะเก็ด
[embed-health-tool-heart-rate]
คำจำกัดความ
กระแดด คืออะไร
กระแดด เป็นโรคทางผิวหนังที่อาจพบได้บ่อยในผู้ที่มีผิวขาว อายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป สาเหตุอาจมาจากการสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดเป็นระยะเวลานานหรือเป็นประจำ ทำให้เคราติโนไซต์ (Keratinocytes) ซึ่งเป็นเซลล์ที่อยู่บนผิวหนังชั้นนอกสุดเกิดการขยายตัว อาจส่งผลให้ผิวหนังมีลักษณะเป็นรอยขนาดเล็ก หยาบกร้าน หนา เป็นสะเก็ด และมีสีที่แตกต่างออกไปจากเดิม เช่น สีน้ำตาล สีเทา สีดำ
กระแดดอาจพบได้ในบริเวณผิวหนังที่โดนแสงแดด เช่น ใบหน้า แขน ขา หลังมือ หู คอ ไหล่ หนังศีรษะ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งผิวหนังชนิดสะความัสเซลล์ (Squamous Cell Carcinoma) ซึ่งเป็นมะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อย โดยมีสาเหตุมาจากเซลล์ผิวหนังชั้นนอกได้รับความเสียหายจากการสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดเป็นระยะเวลานาน
อาการ
อาการของกระแดด
อาการของกระแดด มักพบบริเวณผิวหนังที่โดนแสงแดด เช่น ใบหน้า แขน ขา หลังมือ หู คอ ไหล่ หนังศีรษะ โดยผิวหนังอาจมีลักษณะเป็นรอยขนาดเล็กประมาณ 1-2 เซนติเมตร หยาบ หนา เป็นสะเก็ด รวมถึงสีผิวบริเวณดังกล่าวก็อาจแตกต่างไปจากเดิม เช่น เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล สีเทา สีดำ
สาเหตุ
สาเหตุที่อาจทำให้เกิดกระแดด
กระแดด อาจเกิดจากการสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดด เช่น โดนแสงแดดหรืออาบแดดเป็นประจำ ทำให้เคราติโนไซท์ซึ่งเป็นเซลล์ที่อยู่บนผิวหนังชั้นนอกสุดเกิดความเสียหาย ส่งผลให้ผิวบริเวณดังกล่าวมีขนาด รูปร่าง และสี ที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น ผิวมีลักษณะเป็นรอยจุดสีน้ำตาล
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกระแดด
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกระแดด อาจมีดังต่อไปนี้
- มีอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป
- อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อาจมีแสงแดดจัด
- ผิวหนังอาจถูกทำลายจากแสงแดดเป็นเวลานาน
- ผิวขาว
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยกระแดด
ในเบื้องต้นคุณหมออาจสอบถามประวัติและอาการของผู้ป่วย รวมถึงตรวจบริเวณผิวหนังของผู้ป่วยว่ามีลักษณะอาการที่บ่งบอกถึงกระแดดหรือไม่ เช่น มีรอยจุดตามผิวหนัง ผิวหนังมีรอยตุ่มนูน นอกจากนี้คุณหมออาจตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวไปตรวจ เพื่อทดสอบว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดสะความัสเซลล์ด้วยหรือไม่
การรักษากระแดด
วิธีการรักษากระแดด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค โดยวิธีการรักษาอาจแตกต่างกัน ดังนี้
- รักษาด้วยความเย็น คุณหมออาจใช้ไนโตรเจนเหลวแช่แข็งในการจี้กระให้หลุดออก และผิวใหม่อาจจะขึ้นมาแทนที่ผิวที่จี้กระออกไป
- บำบัดด้วยแสงโฟโตไดนามิก คุณหมออาจจะใช้ครีมทาบริเวณที่ต้องการนำกระออก หลังจากนั้น จะฉายแสงโฟโตไดนามิก (Photodynamic Therapy หรือ PDT) ซึ่งเป็นแสงเลเซอร์ความเข้มสูง เพื่อทำลายผิวหนังในบริเวณที่ต้องการรักษา
- กรอผิว การรักษาด้วยวิธีนี้อาจเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีรอยกระแดดขนาดใหญ่ โดยคุณหมอจะฉีดยาชาบริเวณดังกล่าว เพื่อทำให้ผิวหนังแข็งตัว หลังจากนั้น อาจจะใช้เครื่องมือทางการแพทย์ชนิดพิเศษขัดกรอผิวหนังด้วยการพ่นผลึกแร่ที่ละเอียดเพื่อนำรอยกระออก
- รักษาโดยการใช้ครีมทาเฉพาะที่ เช่น ยาอิมิควิโมด ยาเอนจีนอล ยาไดโคลฟีแนค โดยยาเหล่านี้อาจส่งผลให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง เช่น คัน บวม ลอกเป็นสะเก็ด
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตนเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และดูแลตนเองเพื่อป้องกันกระแดด
- หมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด โดยเฉพาะช่วงเวลา 11.00-15.00 น.
- ใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ก่อนออกแดด เพราะครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงจจะช่วยป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดได้ดีกว่าครีมกันแดดที่มีค่า SPF ต่ำ