clubbing finger คือ ภาวะนิ้วปุ้ม เป็นภาวะที่มีมาตั้งแต่กำเนิดอาการที่เกิดขึ้น คือ ปลายเล็บมือและเล็บเท้าเกิดการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เล็บขยายใหญ่ขึ้น ฐานเล็บอ่อนนุ่ม เล็บหนา เล็บโค้งงอ อาจมีสาเหตุมาจากออกซิเจนในเลือดต่ำหรืออาจเป็นสัญญาณของโรคบางชนิด เช่น โรคมะเร็งปอด พังผืดในปอด โรคหลอดลมอักเสบ โรคหลอดลมโป่งพอง ฝีในปอด
[embed-health-tool-heart-rate]
clubbing finger คืออะไร
clubbing finger คือ ภาวะที่ปลายเล็บขยายตัวออกและเล็บโค้งไปรอบ ๆ ปลายนิ้ว ลักษณะปลายนิ้วนูนกลม เป็นนิ้วปุ้ม เป็นภาวะที่มีมาตั้งแต่กำเนิด หรือพัฒนามาเป็นภายหลังได้ในบางโรค ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเป็นผลมาจากออกซิเจนในเลือดต่ำและอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งปอด ฝีในปอด โรคปอด โรคเซลิแอค (Celiac Disease) โรคเกรฟส์ (Graves’ Disease) โดยอาจสังเกตอาการของภาวะนิ้วปุ้มได้ ดังนี้
- ฐานเล็บหรือผิวหนังใต้เล็บอ่อนนุ่ม เล็บดูเหมือนลอยตัวไม่ติดแน่น
- เล็บหนาขึ้น
- ปลายเล็บอาจดูใหญ่หรือโปนออก อาจรู้สึกอุ่นและเป็นสีแดง
- เล็บมีลักษณะโค้งงอลง
สาเหตุของ clubbing finger
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะนิ้วปุ้ม แต่อาจเกิดจากการตีบตันของเส้นเลือดเนื่องจากปัจจัยการเจริญเติบโตของบุผนังหลอดเลือด (Vascular Endothelial Growth Factor หรือ VEGF) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ผลิตโดยเซลล์จำนวนมากที่กระตุ้นการสร้างหลอดเลือดและเป็นปัจจัยการเจริญเติบโตของเกล็ดเลือด เมื่อร่างกายสร้าง VEGF มากขึ้นอาจส่งผลให้เนื้อเยื่อได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้เกิดภาวะนิ้มปุ้ม นอกจากนี้ ภาวะนิ้วปุ้มอาจเป็นสัญญาณของโรคเหล่านี้ เช่น
- มะเร็งปอด เกิดจากเซลล์ปอดเจริญเติบโตผิดปกติและไม่สามารถควบคุมได้
- โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) เป็นภาวะทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อการเคลื่อนตัวของเกลือและน้ำไปทั่วร่างกาย ทั้งยังอาจสร้างสารคัดหลั่งหนาภายในปอดและอวัยวะอื่น ๆ
- พังผืดในปอด เป็นภาวะที่เนื้อเยื่อของปอดได้รับความเสียหาย เกิดการอักเสบจนมีแผลและเกิดพังผืด ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ
- โรคหลอดลมอักเสบ เป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
- ฝีในปอด เกิดจากแบคทีเรียในช่องปากที่เข้าสู่ปอดจนทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณเนื้อเยื่อปอดจนเกิดการอักเสบ
- โรคหลอดลมโป่งพอง เป็นภาวะที่ทางเดินหายใจขยายตัวและมีรอยแผลเป็นจากการติดเชื้อ
- โรคปอดจากแร่ใยหิน หรือโรคแอสเบสโตลิส (Asbestosis) เป็นโรคที่พัฒนาขึ้นเมื่อสูดดมแร่ใยหินเป็นเวลานานจนทำให้ปอดเป็นแผล
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากความผิดปกติของยีนในร่างกาย
- โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease หรือ IBD) เป็นภาวะอักเสบเรื้อรังของระบบทางเดินอาหาร รวมถึงลำไส้เล็กหรือลำไส้ใหญ่
การรักษา clubbing finger
การรักษาภาวะนิ้วปุ้มอาจต้องขึ้นอยู่กับสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหา เช่น
- โรคมะเร็งปอด การรักษาอาจขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ขนาดของมะเร็ง และชนิดของมะเร็ง อาจต้องทำการผ่าตัด ฉายรังสี เคมีบำบัด หรือทำทั้งหมดร่วมกัน
- โรคซิสติก ไฟโบรซิส คุณหมออาจรักษาด้วยยาพ่นขยายหลอดลม ยาละลายเสมหะ และยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลิน (Penicillins) เซฟาโลสปอริน (Cephalosporins) ควิโนโลน (Quinolones) เพื่อป้องกันอาการปอดอักเสบ
- พังผืดที่ปอด การรักษาอาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงและขนาดของพังผืด คุณหมออาจให้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ยาลดกรด ยาเพอร์เฟนิโดน (Pirfenidone) และยานินเทดานิบ (Nintedanib) เพื่อช่วยชะลอการเกิดพังผืด
- โรคหลอดลมอักเสบ คุณหมออาจรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น เซฟาโลสปอริน (Cephalosporins) อะมิโนเพนนิซิลลิน (Aminopenicillins) หรืออาจทำการผ่าตัด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
- ฝีในปอด คุณหมออาจรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะทางกระแสเลือด เช่น เมอโรพีเนม (Meropenem) เซฟาโลสปอริน (Cephalosporins) เป็นเวลาหลายสัปดาห์เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
- โรคหลอดลมโป่งพอง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ คุณหมออาจแนะนำให้ดื่มน้ำมากขึ้น งดสูบบุหรี่ งดสูดดมควันบุหรี่มือสองและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารพิษหรือควันพิษ ให้ยาพ่นหรือยาขยายหลอดลมหากผู้ป่วยมีอาการกำเริบรุนแรง
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด คุณหมออาจรักษาด้วยการให้กินยาแอสไพรินอย่างน้อย 6 เดือนและสวนหัวใจเพื่อปิดรูรั่วที่เกิดขึ้น
- โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง การรักษาขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค คุณหมออาจรักษาด้วยการให้ยาต้านการอักเสบ ยากดภูมิคุ้มกัน ยาปฏิชีวนะ เช่น อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) อะม็อกซีซิลลินหรือเซฟไตรอะโซน (Amoxicillin or ceftriaxone) หรือการผ่าตัด
วิธีป้องกัน clubbing finger
การป้องกันและดูแลภาวะนิ้วปุ้มไม่ให้เกิดขึ้นนั้น อาจต้องป้องกันจากสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว เช่น
- อาจลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งปอด เช่น งดสูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่มือสอง หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารพิษในที่ทำงาน เช่น แร่ใยหิน ควันพิษ
- อาจลดโอกาสการพัฒนาโรคหลอดลมโป่งพอง เช่น เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดและโรคไอกรน เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีเมื่อติดเชื้อในปอด หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับควันบุหรี่หรือสารพิษต่าง ๆ
- อาจป้องกันตัวเองจากการสูดดมแร่ใยหินโดยตรง โดยปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับในการป้องกันตัวเองตามที่บริษัทกำหนด
- อาจลดความเสี่ยงโรคซิสติก ไฟโบรซิส ด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อช่วยละลายเสมหะที่เหนียวข้นในปอด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดิน วิ่ง เต้น ว่ายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของปอด
- อาจลดความเสี่ยงโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ด้วยการดูแลอาหารและโภชนาการให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้พอเพียงอย่างน้อยวันละ 2.7 ลิตร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน