เล็บขบ หมายถึงเล็บที่ยาวจนแทงทิ่มเข้าไปในเนื้อ ซึ่งอาจเกิดจากการดูแลรักษาเล็บไม่ดี เช่น ตัดเล็บสั้นหรือโค้งเกินไป ใส่รองเท้าที่บีบรัดเกินไป หรือมีเล็บโค้งมนมาก ๆ จนมุมเล็บทิ่มเข้าไปในเนื้อด้านข้างเล็บ ทำให้เจ็บนิ้ว นิ้วบวม เกิดแผล และอาจทำให้นิ้วที่มีเล็บขบติดเชื้อ เป็นหนอง และส่งกลิ่นเหม็นได้ พบได้บ่อยในบริเวณนิ้วโป้งเท้า เล็บขบสามารถรักษาและป้องกันได้ด้วยการดูแลเล็บอย่างเหมาะสม
วิธีการรักษาเล็บขบ
ประคบอุ่น หรือแช่เท้าในน้ำสบู่อุ่น
อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 10-20 นาที เพื่อลดอาการปวดบวมจากการเป็นเล็บขบ โดยอาจเลือกใช้สบู่ที่ทำจากน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ (Castile soap) แล้วใส่แมกนีเซียมซัลเฟต หรือดีเกลือ (Epsom salts) ลงไปผสมด้วยก็ได้
รักษาความสะอาดของเท้า
หากเท้าเปียกน้ำให้รีบเช็ดเท้าให้แห้งทันที ควรดูแลให้เท้าแห้งสะอาดตลอดวัน ป้องกันการอับชื้นและการเกิดเชื้อราที่เล็บ ซึ่งอาจกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่เล็บขบ
ทายาปฏิชีวนะ หรือครีมต้านเชื้อรา
เพื่อรักษาและช่วยป้องกันการติดเชื้อที่เล็บเท้า ควรทายาปฏิชีวนะ หรือครีมต้านเชื้อรา แล้วพันด้วยผ้าก๊อซหรือผ้าพันแผล
เลือกรองเท้าและถุงเท้าที่สวมใส่สบาย
ถุงเท้าและรองเท้าต้องไม่คับหรือบีบรัดจนเกินไป เพื่อช่วยไม่ให้เล็บขบที่เป็นแย่ลง ควรหลีกเลี่ยงรองเท้าที่มีหัวเรียว เช่น รองเท้าส้นสูง เพราะอาจบีบรัดเล็บเท้า และทำให้อาการเล็บขบรุนแรงขึ้น
กินยาแก้ปวด เมื่อมีอาการปวดที่เล็บขบ
เช่น ยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือยาพาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากเล็บขบ หรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ที่ช่วยลดปวด บวม อักเสบ
กินยาปฏิชีวนะ
หากเล็บขบบวมแดงขึ้น มีอาการปวดตุบ ๆ มีหนอง รู้สึกแสบร้อน และมีกลิ่นเหม็น ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อให้คุณหมอสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะให้
ถอดเล็บ
หากลองรักษาด้วยตัวเองตามวิธีเบื้องต้นแล้วไม่ได้ผล คุณหมออาจแนะนำให้รักษาด้วยวิธีการถอดเล็บ ซึ่งอาจต้องถอดเล็บบางส่วนหรือถอดทั้งเล็บ ขึ้นอยู่กับว่าเล็บขบรุนแรงแค่ไหน
วิธีการป้องกันเล็บขบ
ตัดเล็บให้ถูกทรง และไม่สั้นจนเกินไป
ควรตัดเล็บเท้าเป็นทรงตรง ไม่ตัดเล็บโค้งตามรูปนิ้ว ส่วนนิ้วมือ ควรตั้งให้โค้งตามรูปนิ้ว และไม่ควรตัดเล็บจนสั้นกุด เพื่อป้องกันไม่ให้ขอบเล็บทิ่มเข้าไปในหนัง หากกลัวตัดเล็บไม่ถูกวิธี หรือมีปัญหาเลือดหยุดไหลยากและกลัวว่าจะตัดเล็บเข้าเนื้อจนเลือดไหล อาจให้ผู้เชี่ยวชาญตัดเล็บให้ก็ได้
สวมใส่รองเท้าให้พอดีเท้า
ควรเลือกซื้อและสวมใส่รองเท้าที่พอดี เพราะหากสวมรองเท้าคับเกินไป จนเล็บและเท้าถูกบีบรัด หรือถูกกดทับเป็นประจำ อาจทำให้มุมเล็บงอกเข้าไปในเนื้อจนเป็นเล็บขบ
สวมรองเท้านิรภัย
หากทำงานในพื้นที่เสี่ยง เช่น เขตก่อสร้าง โรงงาน ควรสวมรองเท้านิรภัย เช่น รองเท้าหัวเหล็ก เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดกับเท้า เช่น ของหนัก ๆ ตกใส่ จนกลายเป็นเล็บขบได้
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หากเป็นเล็บขบแล้วไม่รีบรักษาให้หาย อาจทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี เส้นประสาทที่เท้าถูกทำลาย และลุกลามจนกระดูกติดเชื้อรุนแรงได้ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที รวมถึงผู้ที่มีอาการเหล่านี้ด้วย
- ปวดเล็บขบอย่างรุนแรง
- ปลายเท้าบวมแดงทั้งเท้า ไม่ใช่แค่บริเวณที่เป็นเล็บขบ
- ข้อต่อตึง งอนิ้วไม่ได้
- มีไข้