backup og meta

ผมมัน เกิดจากอะไร และวิธีการดูแลเส้นผม

ผมมัน เกิดจากอะไร และวิธีการดูแลเส้นผม

ผมมัน เกิดจากการที่ต่อมน้ำมันธรรมชาติที่เรียกว่า ซีบัม ผลิตน้ำมันออกมามากจนเกินไป จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหนังศีรษะมัน นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดรังแค และเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราบนหนังศีรษะได้อีกด้วย ดังนั้น การรู้ถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดผมมัน อาจช่วยให้ดูแลรักษาหนังศีรษะและเส้นผมได้อย่างถูกต้อง

ผมมัน เกิดจากอะไร

หนังศีรษะมีต่อมน้ำมันธรรมชาติที่เรียกว่า ซีบัม (Sebum) ซึ่งทำหน้าที่ในการปกป้องหนังศีรษะไม่ให้สูญเสียความชุ่มชื้นและเผชิญกับปัญหาหนังศีรษะแห้ง เมื่อซีบัมผลิตน้ำมันธรรมชาติออกมามากเกินไปก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการหนังศีรษะมัน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผมมัน การที่หนังศีรษะมันจนเยิ้มยังอาจทำให้เกิดรังแคและเสี่ยงต่อการมีเชื้อราบนหนังศีรษะ นอกจากนี้ ยังอาจมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาผมมันได้ ดังนี้

1. สระผมบ่อยเกินไป

การสระผมบ่อยเกินไปอาจทำให้ผมมันได้ เนื่องจาก ในทุกครั้งที่สระผมด้วยแชมพู หนังศีรษะจะส่งสัญญาณไปยังต่อมซีบัมให้ผลิตน้ำมันออกมา ยิ่งสระผมบ่อยเท่าไหร่ ซีบัมก็ยิ่งผลิตน้ำมันออกมามากเท่านั้น

2. ความแตกต่างของเส้นผม

ผู้ที่มีผมตรงอาจมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาผมมันมากกว่าผู้ที่มีผมหยักศกหรือผมแบบอื่น ๆ เนื่องจาก เส้นผมของผู้ที่มีผมตรงนั้นไม่มีลักษณะทางพื้นผิวในแบบอื่นเลย หรือไม่เป็นลอนคลื่นนั่นเอง ดังนั้น เมื่อซีบัมผลิตน้ำมันออกมา น้ำมันธรรมชาติเหล่านั้นก็อาจที่จะไหลตรงไปยังเส้นผมจนทั่วทั้งศีรษะได้ทันที และยังอาจมองเห็นได้ง่ายกว่าผมชนิดอื่น ๆ ด้วย

3. ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมที่ใช้อยู่

อีกหนึ่งสาเหตุของปัญหาผมมันอาจเกิดจากผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน เนื่องจาก ส่วนผสมบางอย่างในแชมพูอาจยับยั้งน้ำมันในเส้นผม และเมื่อหนังศีรษะไม่มีน้ำมัน หนังศีรษะก็จะส่งสัญญาณไปยังซีบัมให้ผลิตน้ำมันออกมา

4. ความเครียดและฮอร์โมน

เมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะของความเครียด ฮอร์โมนอร์ติซอล (Cortisol) ก็จะถูกปล่อยออกมา และเมื่อฮอร์โมนคอร์ติซอลถูกปล่อยออกมามากขึ้นก็จะไปกระตุ้นต่อมไขมัน (Sebaceous Glands) ที่บริเวณหนังศีรษะ เมื่อหนังศีรษะได้รับการกระตุ้นจึงส่งสัญญาณไปยังซีบัมให้ผลิตน้ำมันออกมา จึงอาจทำให้เกิดอาการหนังศีรษะมัน

วิธีดูแลและป้องกันผมมัน

สำหรับวิธีการดูแลและป้องกันผมมันนั้นอาจทำได้ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการสระผมบ่อย

การสระผมที่มากเกิน 1 ครั้งในแต่ละวัน อาจทำให้เกิดผมมันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่มีปัญหาผมมันอยู่แล้ว ควรสระผมเพียงวันละ 1 ครั้ง หรือสระทุกวันในตอนเช้า เพื่อไม่ให้ผมมันในระหว่างวัน เพราะหากผู้ที่มีผมมันสระผมเกิน 1 ครั้งในแต่ละวัน ก็อาจยิ่งทำให้ผมมันได้ง่ายขึ้นไปอีก แต่ถ้าไม่สระเลยหรือเว้นระยะที่นานไปก็อาจทำให้ผมมันนั้นมันยิ่งกว่าเดิมและอาจมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น

2. หลีกเลี่ยงการใช้ที่หนีบผม

ผู้ที่มีปัญหาผมมันอาจต้องหลีกเลี่ยงอุปกรณ์ที่ให้ความร้อนแก่เส้นผม เนื่องจาก เวลาใช้งานความร้อนที่อยู่ใกล้รากผมก็อาจไปกระตุ้นให้หนังศีรษะขับน้ำมันออกมา และทำให้เกิดผมมันง่ายขึ้น

3. หยุดหวีผมบ่อย ๆ

การหวีผมบ่อย ๆ เป็นการกระตุ้นให้หนังศีรษะผลิตน้ำมันออกมา จึงควรหวีผมเท่าที่จำเป็นเพื่อลดการรบกวนหนังศีรษะ และควรทำความสะอาดหวีให้สะอาดอยู่เสมอ

4. ล้างผมให้สะอาดทุกครั้ง

ทุกครั้งหลังสระผมหรือชโลมครีมบำรุงผม ควรล้างเส้นผมให้สะอาด ไม่ให้มีครีมบำรุงหรือแชมพูหลงเหลืออยู่ เพราะถ้าล้างออกไม่หมดก็จอาจทำให้ผมมันได้เร็วขึ้น

5. ดูแลหมอนและปลอกหมอนให้สะอาด

การนอนทับกับน้ำมันจากเส้นผมของวันก่อน ๆ อาจส่งผลทำให้ผมมันได้ นอกจากนี้ ยังอาจเสี่ยงต่อปัญหาหนังศีรษะอื่น ๆ อีกด้วย ดังนั้น จึงควรดูแลหมอนและปลอกหมอนให้สะอาดอยู่เสมอ โดยการเปลี่ยนปลอกหมอนในทุกสัปดาห์หรือ 2 สัปดาห์/ครั้ง

6. ไม่สัมผัสกับหนังศีรษะด้วยความรุนแรง

เวลาที่สระผมไม่ควรใช้เล็บเกาอย่างรุนแรง ควรค่อย ๆ นวดอย่างเบา ๆ รวมถึงไม่ควรหวีผมบ่อยและหวีอย่างรุนแรง เพราะการกระทำเหล่านี้อาจเป็นการกระตุ้นให้ซีบัมผลิตน้ำมันออกมา

7. ไปพบคุณหมอ

หากแก้ไขด้วยวิธีต่าง ๆ แล้วผมยังมันอยู่ การปรึกษากับคุณหมอและผู้เชี่ยวชาญอาจได้รับคำแนะนำที่ดีกว่าและตรงจุดกับสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงได้มากกว่า

การเลือกแชมพูสำหรับผมมัน

ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมบางชนิดอาจเป็นสาเหตุของการเกิดผมมัน ในขณะที่ผลิตภัณฑ์แบบเดียวกันก็อาจช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น จึงควรมีเลือกผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับปัญหาและการใช้งานของตัวเอง ดังนี้

1. เลือกใช้แชมพูสำหรับเด็ก

แชมพูทั่วไปของผู้ใหญ่มีสารเคมีและกลิ่นสังเคราะห์ผสมอยู่ ในขณะที่แชมพูสำหรับเด็กอาจมีสารเคมีน้อย จึงช่วยลดสาเหตุของอาการผมมัน รวมถึงลดปัญหาผมร่วงได้อีกด้วย

2. เลือกแชมพูที่มีส่วนผสมในการลดปัญหาผมมัน

เนื่องจากส่วนผสมเหล่านี้ในแชมพู อาจช่วยลดโอกาสในการที่จะไปกระตุ้นให้ซีบัมผลิตน้ำมันออกมา มีส่วนช่วยให้หนังศีรษะสดชื่น เบาสบาย และบำรุงเส้นผม โดยส่วนผสมที่อาจช่วยลดปัญหาผมมันอาจมีดังนี้

  • ซาลิไซลิก เอซิด (Salicylic acid)
  • เอ็กไคนาเซีย (Echinacea)
  • เสจ (Sage)
  • ทีทรีออยล์ (Tea Tree Oil)
  • น้ำมันยูคาลิปตัส (Eucalyptus Oil)
  • น้ำมันเปปเปอร์มินต์ (Peppermint Oil)
  • เปลือกซิตรัส (Citrus Peel)

3. เลือกใช้แชมพูที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ

สารเคมีอาจก่อให้เกิดปัญหาหนังศีรษะได้หากใช้ไปนาน ๆ การใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมที่มาจากธรรมชาติอาจช่วยบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะให้ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะว่านหางจระเข้ที่มีส่วนช่วยในการขจัดความมันส่วนเกินบนหนังศีรษะและอาจช่วยให้หนังศีรษะมีการไหลเวียนที่ดีขึ้นได้

วิธีแก้ปัญหาผมมันด้วยดรายแชมพู

แชมพูแห้ง หรือ ดรายแชมพู (Dry Shampoo) คือ ผลิตภัณฑ์ที่ชวยดูดซับความมันส่วนเกินบนหนังศีรษะและเส้นผม มีลักษณะคล้ายกับแป้ง หลายคนอาจเลือกใช้ดรายแชมพูในการแก้ปัญหาผมมัน เพราะสะดวก ใช้งานง่าย ย่นระยะเวลาในการสระผม และเห็นผลทันที อย่างไรก็ตาม แม้ดรายแชมพูจะทำให้ผมดูไม่มัน แต่ไม่ได้ช่วยในการทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะเหมือนกับแชมพูแบบอื่น ๆ อีกทั้งการใช้งานติดต่อกันเป็นประจำยังอาจนำไปสู่อาการคันหนังศีรษะ และปัญหาหนังศีรษะชนิดอื่นได้ เนื่องจาก หนังศีรษะไม่ได้มีการทำความสะอาดเอาสิ่งสกปรกออกไปนั่นเอง ดังนั้น เพื่อสุขภาพของหนังศีรษะและเส้นผมที่ดีไม่ควรใช้งานติดต่อกันเกิน 2 วัน/สัปดาห์ 

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Say Goodbye To Oily Hair With These Expert Tips. https://uk.hair.com/hair-care/concerns/say-goodbye-to-oily-hair-with-these-expert-tips. Accessed December 13, 2019.

Why Your Hair Is Suddenly Crazy Oily. https://www.byrdie.com/why-your-hair-is-oily-4686902. Accessed December 13, 2019.

D’Souza P, et al. (2015). Shampoo and conditioners: What dermatologists should know. DOI:. 10.4103/0019-5154.156355. Accessed August 17, 2021

Tips for healthy hair. (n.d.). aad.org/public/skin-hair-nails/hair-care/tips-for-healthy-hair. Accessed August 17, 2021

The dirty truth about washing your hair. (2018). health.clevelandclinic.org/the-dirty-truth-about-washing-your-hair/. Accessed August 17, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/04/2022

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ป้องกันสุขภาพเส้นผม จากแสงแดด ทำได้อย่างไรบ้าง

ย้อมสีผม เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งจริงหรือ?


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 15/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา