backup og meta

ผมมันง่าย เกิดจากอะไร ป้องกันและลดความมันลงอย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    ผมมันง่าย เกิดจากอะไร ป้องกันและลดความมันลงอย่างไรบ้าง

    ผมมันง่าย เป็นปัญหาที่เกิดจากต่อมน้ำมันบนหนังศีรษะผลิตน้ำมันออกมามากเกินไป อาจทำให้หนังศีรษะมันและดูสกปรกตลอดเวลา รวมทั้งอาจมีอาการคัน รังแค มีกลิ่นและผมร่วงร่วมด้วย โดยอาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม ปัญหาผิว การสระผมมากเกินไปหรือการแพ้สารเคมี ซึ่งอาจส่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและความมั่นใจ ดังนั้น การเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาผมมันง่ายและการดูแลผมเพื่อป้องกันอย่างตรงจุดอาจช่วยลดปัญหาได้

    สาเหตุของ ผมมันง่าย

    บางคนอาจมีปัญหาผมมันง่ายร่วมกับปัญหาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ผมแห้ง ผมร่วง อาการคัน รังแค โดยสาเหตุของผมมันง่ายอาจมีดังนี้

    • พันธุกรรม ยีนที่ส่งต่อทางพันธุกรรมอาจส่งผลต่อการทำงานของต่อมผลิตน้ำมัน ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น ซึ่งหากคนในครอบครัวมีปัญหาผมมันง่ายก็อาจเป็นไปได้ที่คนอื่น ๆ ในครอบครัวจะมีผมมันง่ายเช่นกัน
    • ฮอร์โมนเพศชายสูง จะทำให้ผมมันมากกว่าปกติ
    • ต่อมไขมันอักเสบ (Seborrheic Dermatitis) เป็นภาวะที่ทำให้เกิดความระคายเคืองและการอักเสบที่ผิวหนัง อาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่มีต่อมไขมันจำนวนมากตกสะเก็ดเป็นสีชมพู เกิดรังแค และผิวหนังมีความมันเพิ่มขึ้น
    • การสระผมมากเกินไป อาจกระตุ้นต่อมไขมันบนหนังศีรษะผลิตน้ำมันมากขึ้น ส่งผลทำให้ผมมันง่าย
    • การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผมที่มีส่วนผสมของซิลิโคนปริมาณมาก
    • การแพ้สารเคมีบางชนิดในผลิตภัณฑ์ดูแลผม หรืออาจเกิดจากสิ่งกระตุ้นภายนอก เช่น ฝุ่น ควัน แสงแดด
    • อายุที่มากขึ้นอาจทำให้เกิดผมมันควบคู่ไปกับปัญหาผมร่วงได้ เนื่องจากการเสื่อมสภาพของผิวหนังและรูขุมขน รวมถึงความแข็งแรงของเส้นผมที่เสื่อมสภาพตามอายุ

    วิธีลดปัญหาผมมันง่าย

    5 วิธีลดปัญหาผมมันง่าย ๆ ที่สามารถทำเองได้ที่บ้าน มีดังนี้

    1. สระผมให้มากขึ้น

    ผู้ที่มีผมมันมากอาจต้องสระผมวันละครั้งเพื่อช่วยขจัดความมันบนผม แต่การสระผมมากเกินไปอาจทำให้ผมแห้งและหนังศีรษะอาจผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน จึงควรเลือกผลิตภัณฑ์สระผมที่เหมาะกับคนผมมัน โดยเลือกจากส่วนประกอบ ดังนี้

    • แชมพูสูตรน้ำ เพื่อป้องกันการเพิ่มความมัน
    • โซเดียมลอริลซัลเฟต (Sodium Lauryl Sulfate หรือ SLS) อาจช่วยลดความแห้งตึงของผิวและขจัดสิ่งสกปรก
    • เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดความมันส่วนเกินและขจัดสิ่งสกปรก
    • ซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) อาจช่วยขจัดรังแค บรรเทาอาการคันหนังศีรษะและใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังต่าง ๆ เช่น โรคเกลื้อน โรคสะเก็ดเงิน
    • โซเดียมซัลเฟสทาไมด์ (Sodium Sulfacetamide) ช่วยต้านการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ลดความมันส่วนเกิน
    • คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ช่วยต้านเชื้อราบนผิวหนังและขจัดรังแค

    นอกจากนี้ หลังจากสระผมด้วยแชมพูแล้วควรล้างน้ำออกให้สะอาด เพื่อป้องกันการตกค้างที่อาจก่อให้เกิดความมัน และเป่าผมด้วยลมเย็นให้แห้งทันที เพื่อป้องกันความอับชื้นที่อาจก่อให้เกิดรังแค

    1. สระผมให้น้อยลงและถูกวิธี

    การสระผมมากเกินไปอาจเพิ่มการผลิตน้ำมันตามธรรมชาติบนหนังศีรษะ ส่งผลให้ผมมันง่ายและมันมากขึ้น สำหรับผู้ที่มีหนังศีรษะแห้ง คันและผมมันไม่มากอาจลองสระผมให้น้อยลง เช่น สระผมวันเว้นวัน เพื่อปรับสมดุลของการผลิตน้ำมันบนหนังศีรษะ ลดปัญหาหนังศีรษะแห้ง เป็นรังแคและคัน เนื่องจากการระคายเคืองจากแชมพูหรือการสระบ่อยจนหนังศีรษะแห้ง

    นอกจากนี้ การสระผมอย่างถูกวิธีอาจช่วยลดปัญหาผมมันได้ โดยการใช้แชมพูในปริมาณน้อยลง ไม่ใช้ครีมนวดผมบริเวณโคนผมและหนังศีรษะที่มัน หลีกเลี่ยงการใช้เล็บเกาหรือการเสียดสีรุนแรงที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองและการผลิตน้ำมันมากขึ้น จากนั้นล้างออกให้สะอาดและเป่าผมให้แห้ง

    1. หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีซิลิโคน

    หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่มีส่วนผสมของซิลิโคนทั้งแชมพู ครีมนวดผม ครีมหมักผมหรือผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม เพราะซิลิโคนมีคุณสมบัติช่วยให้ผมเรียบลื่นและเพิ่มความเงางาม ซึ่งจะยิ่งทำให้ผมมันมากขึ้นและอาจขัดขวางการซึมซับความชื้นที่เป็นประโยชน์ต่อรากผมทำให้ผมแห้ง โดยซิลิโคนที่อาจพบบ่อยในผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมอาจมีดังนี้

    • ไซโคลเมธิโคน (Cyclomethicone) เป็นซิลิโคนชนิดบางเบา สามารถระเหยได้อย่างรวดเร็ว
    • ไดเมทิโคน (Dimethicone) เป็นซิลิโคนชนิดไม่ระเหย เกาะได้ดีบนผมทำให้ผมลื่น
    • อะโมไดเมทิโคน (Amodimethicone) เป็นซิลิโคนที่เกาะติดเส้นผมได้ดี จึงทำให้ล้างออกค่อนข้างยาก
    1. ใช้ว่านหางจระเข้

    ว่านหางจระเข้มีโพแทสเซียม โซเดียม และกรดอะมิโน ซึ่งอาจมีส่วนช่วยขจัดความมันส่วนเกิน ส่งเสริมการไหลเวียนของเลือดบนหนังศีรษะ ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ทำให้ผมนุ่มสลวยสุขภาพดี โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร  Indian J Dermatol พ.ศ. 2551 ศึกษาเกี่ยวกับว่านหางจระเข้ พบว่า ว่านหางจระเข้ประกอบด้วยเอนไซม์หลายชนิด เช่น อัลคาไลน์ ฟอสฟาเตส (Alkaline Phosphatase) อะไมเลส (Amylase) แบรดดีไคเนส (Bradykinase) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบเมื่อทาบนผิวหนังและช่วยสลายไขมันส่วนเกิน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา