backup og meta

ยาปลูกผม ช่วยให้ผมขึ้นได้อย่างไร ใช้อย่างไรและเลือกอย่างไร

ยาปลูกผม ช่วยให้ผมขึ้นได้อย่างไร ใช้อย่างไรและเลือกอย่างไร

ยาปลูกผม เป็นยาที่ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบนหนังศีรษะ ยับยั้งการอักเสบ และช่วยยับยั้งฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่เป็นสาเหตุทำให้ผมร่วงตามพันธุกรรม การใช้ยาปลูกผมในการรักษาจึงอาจช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมใหม่และชะลอการหลุดร่วงของเส้นผม อย่างไรก็ตาม ควรเลือกซื้อยาปลูกผมที่จำหน่ายตามท้องตลาดที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยาปลูกผม เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

[embed-health-tool-bmi]

ยาปลูกผม ช่วยให้ผมขึ้นได้อย่างไร

ยาปลูกผมที่จำหน่ายตามท้องตลาดในรูปแบบยาสระผม ยาทา หรือยารับประทาน อาจยังไม่มีผลการวิจัยที่ยืนยันอย่างชัดเจนว่าสามารถใช้เพื่อปลูกผมให้ได้ผลจริงดั่งคำโฆษณา แต่ยาปลูกผมที่ใช้สำหรับการรักษาโรคผมบางตามพันธุกรรม ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาทางการแพทย์นั้น มีผลการวิจัยที่ยืนยันถึงประสิทธิภาพในการรักษาว่าสามารถช่วยให้เส้นผมเจริญเติบโตได้ดีและลดปริมาณผมขาดหลุดร่วงได้ โดยออกฤทธิ์กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบนหนังศีรษะ ยับยั้งการอักเสบ และยังยั้งการลดลงของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่เกิดจากพันธุกรรม จึงสามารถช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมใหม่และชะลอการหลุดร่วงของเส้นผมได้

การรักษาผมบางด้วยยาปลูกผม

สำหรับยาปลูกผมที่มีงานวิจัยรองรับ ซึ่งอาจช่วยรักษาปัญหาผมร่วงที่มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม รวมถึงสาเหตุอื่น ๆ อาจมีดังนี้

  • ยาไมน็อกซิดิล (Minoxidil)

เป็นยาปลูกผมที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป หรืออาจเป็นส่วนผสมที่พบได้ในผลิตภัณฑ์ปลูกผมหลายยี่ห้อ ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของเหลว โฟม หรือแชมพู มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมและชะลออัตราการหลุดร่วงของเส้นผม สำหรับการรักษาด้วยยาไมน็อกซิดิลอาจใช้ระยะเวลาประมาณ 4-6 เดือน ควรใช้วันละ 2 ครั้ง เพื่อผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Drug Design, Development and Therapy เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับการใช้ไมน็อกซิดิลเพื่อรักษาความผิดปกติของเส้นผม พบว่า ไมน็อกซิดิลถูกพัฒนาสูตรเฉพาะขึ้นมาเพื่อช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตและลดการหลุดร่วงของเส้นผม ในปัจจุบันมีการใช้ไมน็อกซิดิลเพื่อรักษาปัญหาผมร่วงที่เกิดจากพันธุกรรม และสามารถใช้รักษาปัญหาผมร่วงอื่น ๆ เช่น ผมร่วงจากการใช้สารเคมี ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ผมร่วงจากโรค ผมร่วงจากเคมีบำบัด โดยอาจออกฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบนหนังศีรษะ กระตุ้นการผลิตพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ที่มีหน้าที่ช่วยลดความดันโลหิตและควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย รวมถึงยับยั้งการผลิตโพรสตาแกลนดิน (Prostacyclin) ที่เป็นสารตัวกลางที่อาจกระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบและความผิดปกติของการไหลเวียนของเลือด ส่งผลให้เส้นผมใหม่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และรักษาระยะการเจริญเติบโตของเส้นผมให้เป็นไปตามปกติ

ผลข้างเคียง บางคนอาจมีอาการระคายเคืองหนังศีรษะ หรืออาจทำให้เส้นขนบริเวณโดยรอบที่โดนตัวยาไมน็อกซิดิลเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น

  • ยาฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride)

เป็นยารับประทานที่ต้องได้รับการสั่งจ่ายโดยคุณหมอ ใช้รักษาปัญหาผมร่วงจากกรรมพันธุ์ของผู้ชาย มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมและชะลอปัญหาผมร่วง ซึ่งการรักษาด้วยยาฟีนาสเตอไรด์จะต้องรับประทานทุกวัน และอาจต้องใช้เวลาประมาณ 6-12 เดือน จึงจะเห็นผล

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Drugs เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2542 ศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาฟีนาสเตอไรด์รักษาผมร่วงในผู้ชาย โดยให้ผู้ชาย 1,879 คน รับประทานยาฟีนาสเตอไรด์ 1 มิลลิกรัม/วัน พบว่า ยาฟีนาสเตอไรด์สามารถช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเส้นผมบนหนังศีรษะและป้องกันผมร่วงในผู้ชายได้ โดยขัดขวางการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการผมร่วงในผู้ชายที่เกิดขึ้นจากพันธุกรรม นอกจากนี้ เมื่อผ่านไป 2 ปี เส้นผมยังมีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น 48 เปอร์เซ็นต์

ผลข้างเคียง แม้ยาฟีนาสเตอไรด์จะเกิดผลข้างเคียงได้น้อย แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ โดยอาจทำให้ความต้องการทางเพศลดลง สมรรถภาพทางเพศลดลง และอาจมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้น

  • ยาสไปโรโนแลคโตน (Spironolactone)

เป็นยาที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต และอาจช่วยลดฮอร์โมนแอนโดรเจนที่เป็นสาเหตุทำให้ผมร่วง ดังนั้น จึงอาจใช้สำหรับรักษาผมร่วงในผู้หญิง โดยสามารถใช้ได้ทั้งแบบเดี่ยว หรืออาจใช้ร่วมกับยาตัวอื่นก็ได้เช่นกัน การใช้ยาสไปโรโนแลคโตนให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องอยู่ในการควบคุมของคุณหมอตลอดการรักษา โดยคุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยา 25 มิลลิกรัม/วัน และค่อย ๆ เพิ่มหรือลดขนาดยาตามความเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง ซึ่งอาจใช้เวลาในการรักษาประมาณ 4-12 เดือนจึงจะเห็นผลลัพธ์

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of the American Academy of Dermatology เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับสไปโรโนแลคโตนสำหรับรักษาอาการผมร่วงในผู้หญิง พบว่า การรับประทานยาสไปโรโนแลคโตนขนาด 200 มิลลิกรัม/วัน อาจมีฤทธิ์ช่วยต้านฮอร์โมนแอนโดรเจนที่เป็นสาเหตุทำให้ผมร่วง และการใช้ยาไมน็อกซิดิลร่วมกับสไปโรโนแลคโตน 25 มิลลิกรัม/วัน มีประสิทธิภาพช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเส้นผมได้

ผลข้างเคียง ผู้ที่ใช้ยาสไปโรโนแลคโตนอาจมีความดันโลหิตต่ำ ง่วงซึม คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ ประจำเดือนมาไม่ปกติ เจ็บเต้านม น้ำหนักตัวแปรปรวน ความต้องการทางเพศลดลง เหนื่อยล้า หรืออาจมีภาวะซึมเศร้า

  • ยาดูแทสเทอไรด์ (Dutasteride)

เป็นยาสำหรับใช้รักษาผมร่วงที่ต้องสั่งจ่ายโดยคุณหมอ เลือกใช้เมื่อการรักษาอื่นไม่ได้ผล ปัจจุบันยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของเส้นผมและลดปัญหาผมร่วง สามารถใช้รักษาได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยคุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยา 0.5 มิลลิกรัม/วัน เป็นประจำทุกวัน ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 3-6 เดือน หรือมากกว่านั้นจึงจะเห็นผลลัพธ์ ทั้งนี้ ระยะเวลาในการรักษาอาจแตกต่างกันในแต่ละบุุคล

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of Dermatological Treatment เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ศึกษาเกี่ยวกับการเปรียบเทียบยาไมน็อกซิดิล ยาฟีนาสเตอไรด์ และยาดูแทสเทอไรด์ในการรักษาผมร่วงจากฮอร์โมนเพศชาย พบว่า ยาดูแทสเทอไรด์มีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 5 อัลฟา รีดักเทส (5-Alpha-Reductase) เพื่อช่วยป้องกันการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และช่วยกดระดับฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone หรือ DHT) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาผมหลุดร่วง

ผลข้างเคียง แม้ยาดูแทสเทอไรด์จะเกิดผลข้างเคียงได้น้อย แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ โดยอาจทำให้มีอาการง่วงนอนผิดปกติ ปวดหลัง ปวดหัว ปวดท้อง อาการหนาวสั่น เหงื่อออกมาก วิงเวียนศีรษะ เป็นลม ท้องอืด ตัวบวม น้ำหนักตัวแปรปรวน ความต้องการทางเพศลดลง หย่อนสมรรถภาพทางเพศ รวมถึงอาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงในบางคน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ยาปลูกผม ขึ้นจริง ดกดำ จริงหรือมั่ว?. https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue039/believe-it-or-not. Accessed August 14, 2022

Comparison of oral minoxidil, finasteride, and dutasteride for treating androgenetic alopecia. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/35920739/. Accessed August 14, 2022

Spironolactone for treatment of female pattern hair loss. https://www.jaad.org/article/S0190-9622(20)30510-7/fulltext. Accessed August 14, 2022

Finasteride: a review of its use in male pattern hair loss. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/9951956/. Accessed August 14, 2022

Minoxidil and its use in hair disorders: a review. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6691938/. Accessed August 14, 2022

Hair loss. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hair-loss/diagnosis-treatment/drc-20372932. Accessed August 14, 2022

How To Fight Genetic Hair Loss. https://www.webmd.com/connect-to-care/hair-loss/how-to-fight-genetic-hair-loss. Accessed August 14, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/09/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผมหงอกเกิดจาก อะไร ยิ่งถอน ยิ่งหงอก จริงหรือไม่

ปัญหาหนังศีรษะและเส้นผม เรื่องใกล้ตัว ที่ไม่ควรมองข้าม


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 29/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา