backup og meta

รังแค เปียก เกิดจากอะไร ควรรักษาอย่างไร

รังแค เปียก เกิดจากอะไร ควรรักษาอย่างไร

รังแค เปียก เป็นปัญหาหนังศีรษะที่มีการผลิตน้ำมันมากเกินไป ส่งผลให้หนังศีรษะมีลักษณะมันเยิ้ม เมื่อผสมกับสิ่งสกปรกและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วบนหนังศีรษะ ส่งผลให้เกิดเป็นรังแคเปียกที่มีลักษณะเป็นสะเก็ดขนาดใหญ่สีเหลือง เปียก เหนียวเหนอะหนะ จับตัวกันเป็นก้อนและเกาะอยู่บนเส้นผม

[embed-health-tool-vaccination-tool]

รังแค เปียก เกิดจากอะไร

รังแคเปียกสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมันส่วนเกินบนหนังศีรษะ โดยเฉพาะผู้ที่มีสภาวะผิวมันมาก รวมทั้งการสระผมไม่ถูกวิธีหรือไม่สระผมจนนำไปสู่การสะสมความมัน สิ่งสกปรกและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว จนทำให้เกิดเป็นรังแคเปียกขึ้น

นอกจากนี้ รังแคเปียกยังอาจเกิดจากปัญหาอื่น ๆ เช่น

  • โรคผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคเชื้อราบนหนังศีรษะ โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) ซึ่งอาจทำให้หนังศีรษะเป็นสะเก็ด หย่อม ๆ ผิวหนังแดงโดยเฉพาะบริเวณที่มีผิวมันมาก
  • ความเครียด การพักผ่อนน้อย อาจทำให้เกิดรังแคเปียกจากโรคเซ็บเดิร์มได้ง่ายขึ้น
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ฮอร์โมนในร่างกายอาจส่งผลต่อการเสื่อมสภาพของโครงสร้างผิวและคอลลาเจนในชั้นผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้ผิวหนังเสื่อมสภาพได้ง่ายขึ้น
  • สภาพอากาศที่เย็นหรือแห้ง อาจทำให้หนังศีรษะแห้งและลอกเป็นสะเก็ด
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลิเธียม การฉายรังสี การทำเคมีบำบัด
  • หนังศีรษะระคายเคือง จากสารเคมีหรือการแพ้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม

อาการของรังแค เปียก

รังแคเปียกอาจทำให้มีอาการ ดังนี้

  • หนังศีรษะและเส้นผมมันเยิ้ม
  • อาจมีอาการคันหนังศีรษะและระคายเคือง
  • หนังศีรษะเป็นสะเก็ดขนาดใหญ่สีเหลือง
  • รังแคเหนียวเหนอะหนะ จับตัวกันเป็นก้อนและเกาะอยู่บนเส้นผม

โดยส่วนใหญ่รังแคเปียกไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่อาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และอาจทำให้สูญเสียความมั่นใจได้ หากอาการรังแคเปียกรุนแรงขึ้นจนกระทบกับการใช้ชีวิตควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา

วิธีการรักษารังแค เปียก

รังแคเปียกอาจรักษาและบรรเทาอาการได้ ดังนี้

  • สระผมบ่อยขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีสภาพผิวมันมาก ควรสระผมบ่อยขึ้นเมื่อหนังศีรษะมีความมันมาก เพื่อช่วยขจัดความมันส่วนเกิน สิ่งสกปรก และเซลล์ผิวหนังที่เสื่อมสภาพ
  • งดใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม เนื่องจากผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมมีสารเคมีที่อาจทำให้หนังศีรษะเกิดความระคายเคือง อักเสบ และอาจเกิดอาการแพ้ จนหนังศีรษะแห้ง ลอก เป็นขุยได้
  • เลือกใช้แชมพูขจัดรังแค โดยเลือกส่วนผสมที่ช่วยขจัดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และช่วยขจัดรังแค เช่น กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ซัลเฟอร์ (Sulfur) น้ำมันดิน (Coal Tar) ซิงค์ ไพริไธโอน (Zinc Pyrithione) ซีลีเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) ยาต้านเชื้อราอิมิดาโซล (Imidazole Antifungal Agents) ในระหว่างใช้แชมพูขจัดรังแคอาจใช้แชมพู 2 ชนิดสลับกัน ทั้งนี้ ควรหมักผมทิ้งไว้ 3-5 นาที ก่อนล้างออกให้สะอาด เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาให้ดีมากขึ้น
  • ใช้ยารักษาโรคผิวหนังบางชนิด เนื่องจากโรคผิวหนังบางชนิดอาจทำให้หนังศีรษะอักเสบและแห้งจนลอกเป็นแผ่น จึงแนะนำให้เข้าพบคุณหมอเพื่อรับยารักษาโรคผิวหนังชนิดนั้น เช่น ผู้ที่เป็นโรคเซ็บเดิร์มคุณหมออาจแนะนำยาสเตียรอยด์ หรือยาต้านเชื้อรา เพื่อช่วยขจัดเชื้อราที่ทำให้เกิดอาการผิวหนังอักเสบและแห้งลอก หรือผู้ที่เป็นโรคโรคสะเก็ดเงิน คุณหมออาจแนะนำยาแอนทราลิน (Anthralin) เพื่อชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนัง ซึ่งอาจช่วยลดการลอกของผิวบนหนังศีรษะที่ทำให้เกิดรังแคได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

HOW TO TREAT DANDRUFF. https://www.aad.org/public/everyday-care/hair-scalp-care/scalp/treat-dandruff. Accessed February 14, 2023

Dandruff. https://www.nhs.uk/conditions/dandruff/. Accessed February 14, 2023

Dandruff: Learn The Basics. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/understanding-dandruff-basics. Accessed February 14, 2023

Dandruff-diagnosis-treatment. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dandruff/diagnosis-treatment/drc-20353854. Accessed February 14, 2023

Dandruff-symptoms-causes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dandruff/symptoms-causes/syc-20353850#:~:text=Dandruff%20is%20a%20common%20condition,a%20medicated%20shampoo%20may%20help. Accessed February 14, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

05/04/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาสระผมแก้รังแค เชื้อรา มีส่วนผสมอะไรบ้าง

แชมพูขจัดรังแค มีประโยชน์ต่อเส้นผมและหนังศีรษะอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 05/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา