backup og meta

ผมร่วงหนักมาก เกิดจากสาเหตุใดบ้าง

ผมร่วงหนักมาก เกิดจากสาเหตุใดบ้าง

ผมร่วงหนักมาก อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ปัญหาต่อมไทรอยด์ ความเครียด ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด แต่การดูแลผมและหนังศีรษะอย่างถูกต้อง รวมกับการรับประทานอาหารที่มีสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพผม อาจช่วยทำให้สุขภาพผมแข็งแรง และช่วยลดอาการผมหลุดร่วงลงได้

[embed-health-tool-bmi]

ผมร่วงหนักมาก เกิดจากอะไร

ผมร่วงหนักมากอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน

ผู้หญิงอาจจะเกิดอาการผมร่วงหลังคลอดลูก หรือผมร่วงหนักมากในช่วงที่หมดประจำเดือนได้ เนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง จนฮอร์โมนไม่สมดุล ส่วนอาการผมร่วงในผู้ชายนั้น นอกเหนือจากปัจจัยทางด้านพันธุกรรมแล้ว ยังอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนเมื่อมีอายุมากขึ้นได้เช่นกัน

ปัญหาต่อมไทรอยด์

อาการผมร่วงหนักมากจากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติอาจพบได้บ่อยในผู้ที่มีปัญหาฮอร์โมนไทรอยด์มากหรือน้อยกว่าระดับปกติ ซึ่งการรักษาโรคไทรอยด์ หรือความผิดปกติของไทรอยด์ ก็อาจช่วยให้เส้นผมงอกขึ้นมาตามปกติได้

ความเครียด

ความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจอาจเกิดจากหลาย ๆ สาเหตุ เช่น ความเจ็บป่วย โรคซึมเศร้า ความวิตกกังวล ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการผมร่วงหนักมาก โดยปกติแล้ว อาการเครียดทางร่างกายมักจะเกิดขึ้นชั่วคราว เมื่อร่างกายหายดีแล้ว อาการผมร่วงหนักมากอาจหายไปได้ ซึ่งวิธีบรรเทาความเครียดอาจทำได้ ดังนี้

  • ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน
  • กินอาหารที่มีประโยชน์
  • นั่งสมาธิ หรือทำจิตใจให้สงบด้วยวิธีอื่น ๆ
  • ขจัดต้นเหตุของความเครียดออกไปจากชีวิต

การใช้ยา

การใช้ยารักษาโรคต่าง ๆ นั้น อาจมีผลข้างเคียงตามมามากมาย รวมทั้งอาการผมร่วงหนักมากด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำคีโมบำบัด สำหรับตัวอย่างยารักษาโรคที่อาจส่งผลทำให้ผมร่วงมาก มีดังนี้

  • ยารักษาโรคไทรอยด์
  • ยาเม็ดคุมกำเนิดบางประเภท
  • ยาลดความดันโลหิต
  • ยากันชัก
  • ยาต้านอาการซึมเศร้า
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด

อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ฉะนั้น ผู้ที่ใช้ยาเหล่านี้บางคนก็อาจไม่เจอกับอาการผมร่วงหนักมากก็ได้

อาหารการกิน

สิ่งที่รับประทานเข้าไปอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผมได้ หากรับประทานอาหารไม่หลากหลาย หรือรับประทานอาหารในปริมาณที่ไม่เหมาะสมติดต่อกันนาน ๆ ก็อาจทำให้เส้นผมเปราะบางและหลุดร่วงได้ ในทางกลับกัน หากรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ก็อาจทำให้เส้นผมแข็งแรง มีสุขภาพดี และดูเงางามขึ้นได้ 

อาหารที่ช่วยบำรุงสุขภาพผม

  • โปรตีน ส่วนประกอบหลักของเส้นผมคือโปรตีน นั่นก็หมายความว่า หากรับประทานโปรตีนในแต่ละวันได้ไม่มากพอ สุขภาพผมก็อาจอ่อนแอ ทำให้เส้นผมหลุดร่วงจนทำให้ผมดูบางลงได้ ฉะนั้น จึงควรบริโภคโปรตีนให้เพียงพอ ด้วยการกินเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา อาหารที่ทำจากนม ไข่ ถั่ว อาหารที่ทำจากถั่วเหลือง 
  • ธาตุเหล็ก อาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก เช่น ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ อย่างเช่น เนื้อแดง เนื้อไก่ และเนื้อปลา ถั่วเลนทิล ผักสีเขียว ๆ ก็ช่วยให้เส้นผมมีสุขภาพที่ดีได้ 
  • ไบโอติน ร่างกายต้องการไบโอตินและไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เช่น กรดไขมันโอเมก้า ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้เส้นผมหักขาดได้ยาก และช่วยทำให้เส้นผมดูนุ่มสลวยขึ้นด้วย ถึงแม้ร่างกายจะผลิตไบโอตินได้ในระบบย่อยอาหาร แต่เชื้อแบคทีเรียบางชนิดในลำไส้ อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตไบโอตินในร่างกายของเราได้ จึงอาจต้องใช้โปรไบโอติก เพื่อช่วยให้เกิดความสมดุล
  • ซีลีเนียม อาจช่วยป้องกันอาการผมร่วงได้ ซึ่งร่างกายอาจต้องการในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hair loss. https://www.nhs.uk/conditions/hair-loss/. Accessed February 28, 2022.

Hair loss. https://dermnetnz.org/topics/hair-loss. Accessed February 28, 2022.

Hair loss. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hair-loss/symptoms-causes/syc-20372926. Accessed February 28, 2022.

HAIR LOSS: WHO GETS AND CAUSES. https://www.aad.org/public/diseases/hair-loss/causes/18-causes. Accessed February 28, 2022.

Women’s Hair Loss: Thinning Hair Causes and Solutions. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/hair-loss/ss/slideshow-womens-hair-loss. Accessed February 28, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/03/2023

เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิตามินบำรุงผม ที่ช่วยให้ผมสวยสุขภาพดี มีอะไรบ้าง

ผมร่วงหลังคลอด สาเหตุและวิธีดูแลตัวเอง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 29/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา