backup og meta

ผมบาง สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

    ผมบาง สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน

    โดยปกติแล้ว ผมของคนเราจะร่วงประมาณวันละ 100-150 เส้นต่อวัน แต่หากผมหลุดร่วงมากจนทำให้มีเส้นผมบนหนังศีรษะน้อยหรือ ผมบาง กว่าปกติ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย การขาดสารอาหาร โรคบางชนิด การใช้ยารักษาโรค ความเครียด ซึ่งอาจรักษาได้ด้วยการแก้ไขตามสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาผมบาง เช่น การใช้ยารักษา การปรับวิธีดูแลเส้นผมอย่างการหลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนและสารเคมี การจัดการกับความเครียด รวมไปถึงรับการรักษาจากคุณหมอผิวหนัง

    ผมบาง เกิดจากอะไร

    ผมบางอาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้

    • กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติผมบาง มักเสี่ยงเกิดปัญหาผมบางได้เช่นกัน
    • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ภาวะสุขภาพ เช่น การตั้งครรภ์ การเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ มักส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง จนอาจนำไปสู่ปัญหาผมร่วงหรือผมบางลงได้
    • พฤติกรรมการรับประทานอาหาร การอดอาหารและการได้รับสารอาหารบางชนิดไม่เพียงพอ เช่น ธาตุเหล็ก โปรตีน ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน อาจทำให้เกิดภาวะผมร่วงทั่วศีรษะ (Telogen Effluvium) ที่ทำให้เส้นผมหลุดร่วงเร็วกว่าวงจรเส้นผมตามปกติ ผมจึงร่วงง่ายและบางลง
    • โรคบางชนิด เช่น โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) เป็นโรคที่เกี่ยวข้องความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันจนทำให้ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ โรคดึงผมตนเอง (Trichotillomania) เป็นโรคทางจิตที่ทำให้ผู้ป่วยดึงผมตัวเองทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ โรคกลาก (Ringworm) เป็นโรคติดเชื้อราบนผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นที่บริเวณหนังศีรษะจนทำให้ผมหลุดร่วงและบางลง
    • ผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรค เช่น การรักษามะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด (คีโม) การฉายแสง ยารักษาโรคข้ออักเสบ ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาโรคเกาต์ ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง อาจส่งผลให้ผมร่วงและบางลงได้
    • ความเครียดและวิตกกังวล การเผชิญความเครียดหรือเหตุการณ์สะเทือนอารมณ์ อาจส่งผลต่อการทำงานของรากผม ทำให้รากผมเข้าสู่ระยะพักตัวและไม่ผลิตผมใหม่ เมื่อผมร่วงไปแล้ว กลับไม่มีผมเส้นใหม่งอกขึ้นมาจากรูขุมขนนั้น ๆ เส้นผมบนศีรษะจึงอาจบางลง
    • การทำผมและทรีตเมนต์ผม การทำทรงผมที่ดึงรัดผมแน่นจนเกินไปเป็นเวลานาน เช่น ผมเปีย ผมหางม้า ผมทรงคอร์นโรล อาจทำให้ผมหลุดร่วงง่ายและส่งผลให้ผมบางลงได้ นอกจากนี้ การทำทรีตเมนต์อย่างการหมักผมด้วยน้ำมัน (Hot oil treatment) การยืดผมถาวร การฟอกสีผม ก็อาจทำให้ผมเปราะง่าย หลุดร่วงง่าย และทำให้เส้นผมบนหนังศีรษะบางลงได้เช่นกัน

    สัญญาณของภาวะผมบางผิดปกติ

    สัญญาณของภาวะผมบางผิดปกติ อาจมีดังนี้

    • ผมบริเวณกลางกระหม่อมร่วงเยอะจนมองเห็นหนังศีรษะเป็นจุดกลม ๆ ชัดเจน
    • ผมดูบางลงอย่างเห็นได้ชัด
    • มีผมหลุดร่วงออกมาขณะหวีผมหรือสระผมมากผิดปกติ
    • มีผมร่วงเป็นหย่อม ๆ
    • มีเกล็ดหรือสะเก็ดผิวหนังที่กระจายอยู่ทั่วหนังศีรษะ อาจเป็นสัญญาณของโรคกลากที่ทำให้เกิดอาการคัน หนังศีรษะลอกออกเป็นรังแค ผมหลุดร่วงและบางลง

    วิธีรักษาภาวะ ผมบาง

    วิธีรักษาผมบาง อาจทำได้ดังนี้

    • การใช้ยาไมนอกซิดิล (Minoxidil) เป็นยารักษาผมบางในรูปแบบโฟมหรือน้ำยา มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ทำให้มีออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงหนังศีรษะ ช่วยกระตุ้นให้ผมงอกใหม่และเติบโตได้เร็วขึ้น อาจต้องใช้ต่อเนื่องหลายเดือน ถึงจะทำให้ผมที่บางดูหนาขึ้น
    • การใช้ยาฟิแนสเทอไรด์ (Finasteride) เป็นยาเม็ดขนาด 1 มิลลิกรัม ที่ช่วยรักษาอาการผมร่วงจากกรรมพันธุ์และฮอร์โมนเพศชาย ช่วยกระตุ้นให้เส้นผมใหม่งอกและป้องกันเส้นผมขาดร่วงก่อนเวลา อาจต้องใช้ต่อเนื่องหลายเดือนและใช้ร่วมกับยาไมนอกซิดิลได้ ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้ยา เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงบางประการ เช่น อาการทางจิตเวช ภาวะความต้องการทางเพศลดลง
    • การใช้ยาสไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) เป็นยาขับปัสสาวะที่ช่วยลดฮอร์โมนแอนโดรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่ทำให้ผมร่วง ยานี้ช่วยยับยั้งไม่ให้ผมร่วงมากขึ้น แต่อาจไม่ช่วยกระตุ้นให้ผมงอกใหม่ จึงอาจต้องใช้ร่วมกับยาตัวอื่น ๆ เช่น ยาฟิแนสเทอไรด์ ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยา
    • การใช้เข็มขนาดเล็กหรือไมโครนีดเดิ้ล (Microneedle) การใช้เข็มขนาดเล็กจิ้มลงบนหนังศีรษะจะกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผม ช่วยให้เส้นผมบนศีรษะงอกขึ้นมาใหม่ อาจต้องทำหลายครั้งจึงจะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน
    • การเลเซอร์ การยิงเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์รากผม อาจช่วยให้ผมหนาขึ้นและหลุดร่วงน้อยลงได้
    • การบำบัดด้วยแสงพลังงานต่ำ ( Low Level Light Therapy)

    การป้องกันไม่ให้ผมบางและหลุดร่วง

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันภาวะผมบาง อาจทำได้ดังนี้

  • ดูแลเส้นผมอย่างอ่อนโยน หากผมพันกันให้ใช้มือหรือหวีซี่ห่างสางผมเบา ๆ ควรสางผมก่อนสระผม ไม่ใช้แรงมากเกินไปขณะแปรงและหวีผม โดยเฉพาะขณะที่ผมเปียก
  • นวดหนังศีรษะเบา ๆ โดยเฉพาะในตอนสระผม อาจช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดบริเวณหนังศีรษะ และป้องกันผมขาดหลุดร่วงได้
  • หลีกเลี่ยงการทำผมโดยใช้ความร้อนและสารเคมี เช่น การใช้ไดร์เป่าผม ที่หนีบผม หรือเครื่องม้วนผมที่มีความร้อนสูง การยืดผมถาวร การฟอกสีผม การหมักผมด้วยน้ำมัน
  • หลังสระผมควรบำรุงผมด้วยครีมนวดผม โดยชโลมครีมนวดที่ปลายผมประมาณ 15 เซนติเมตร ระวังอย่าให้ครีมนวดผมโดนหนังศีรษะ เพราะอาจทำให้หนังศีรษะมันและส่งผลให้ผมร่วงได้
  • ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมที่ช่วยให้ผมหนาและแข็งแรงขึ้น ไม่หลุดร่วงง่าย
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และมีสารอาหารครบถ้วน
  • ดูแลสุขภาพจิตของตัวเองและจัดการกับความเครียดให้ดี หากเกิดปัญหาหรือเครียด อาจลองพูดคุยกับคนรอบข้าง ทำกิจกรรมที่สนใจเพื่อคลายเครียด ขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์ เมื่อสุขภาพจิตดี ไม่เครียด อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะผมบางได้
  • ปรึกษาคุณหมอเมื่อจำเป็นต้องใช้ยารักษาโรคที่อาจทำให้เกิดภาวะผมร่วงและผมบาง
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา