backup og meta

Urea Cream หรือ ยูเรีย ครีม คืออะไร มีผลข้างเคียงหรือไม่

Urea Cream หรือ ยูเรีย ครีม คืออะไร มีผลข้างเคียงหรือไม่
Urea Cream หรือ ยูเรีย ครีม คืออะไร มีผลข้างเคียงหรือไม่

Urea Cream หรือ ยูเรีย ครีม เป็นยาใช้ภายนอกในรูปแบบครีม ใช้ทาลงบนผิวหนัง เพื่อรักษาอาการผิวแห้ง และช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ลอกหรือตายแล้ว เหมาะสำหรับทาวันละ 1-3 ครั้ง หรือตามคำแนะนำของคุณหมอหรือเภสัชกร การใช้ยูเรีย ครีม อาจมีผลข้างเคียง เช่น ผิวหนังมีอาการคันหรือระคายเคือง รวมถึงอาการแพ้รูปแบบต่าง ๆ ทั้งนี้ ไม่ควรทายูเรีย ครีมบริเวณรอบดวงตา ริมฝีปาก ช่องคลอด หรือขาหนีบ และตามผิวหนังที่มีรอยไหม้ รอยแตก หรือรอยถลอก เพราะอาจยิ่งทำให้ผิวหนังเกิดปัญหาหรือแพ้รุนแรงได้

[embed-health-tool-bmi]

ยูเรีย ครีม คืออะไร

Urea Cream คือ ยายูเรียในรูปแบบครีม จัดเป็นมอยส์เจอไรเซอร์อย่างหนึ่ง ใช้ทาลงบนผิวหนังเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น หรือรักษาอาการผิวแห้ง เนื่องจากสภาพแวดล้อม การไม่ดูแลตัวเอง หรือโรคผิวหนัง เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน โรคหนังเกล็ดปลา

เมื่อทายูเรีย ครีมลงบนผิวหนัง ตัวยาและสารอื่น ๆ ในครีมจะเติมความชุ่มชื้นลงในผิว โดยดึงความชื้นจากอากาศสู่ผิว นอกจากนี้ ยูเรีย ครีมยังมีคุณสมบัติกำจัดเซลล์ผิวที่ลอกหรือตายแล้ว โดยครีมที่มีความเข้มข้นของยูเรียสูง 10% ขึ้นไป จะมีประสิทธิภาพมากกว่าครีมที่ระดับความเข้มข้นต่ำกว่า

ขั้นตอนการใช้ยูเรีย ครีม

โดยทั่วไป สำหรับผู้ที่มีปัญหาผิวแห้ง หรือปัญหาผิวด้านอื่น ๆ ควรทายูเรีย ครีม วันละ 1-3 ครั้ง หรือตามคำแนะนำของคุณหมอ โดยขั้นตอนการทายูเรีย ครีม มีดังต่อไปนี้

  • ล้างมือให้สะอาด
  • ทาครีมลงบนผิวหนัง หลังอาบน้ำ ขณะผิวหนังยังเปียกหรือหมาดอยู่
  • นวดผิวหนังบริเวณที่ทาครีม เพื่อช่วยให้ครีมซึมเข้าสู่ผิวหนัง

ข้อควรระวังในการใช้ยูเรีย ครีม

การใช้ยูเรีย ครีม มีข้อควรระวัง ดังนี้

  • ยูเรีย ครีมเป็นยาใช้สำหรับผิวหนังหรือเล็บเท่านั้น ควรหลีกเลี่ยงการทาบริเวณที่บอบบางแพ้ง่าย เช่น รอบดวงตา ริมฝีปาก ภายในปาก ภายในจมูก บริเวณช่องคลอดหรือขาหนีบ นอกจากอยู่ภายใต้คำแนะนำของคุณหมอ
  • ไม่ควรทายูเรีย ครีม บริเวณที่ระคายเคือง มีรอยแตก รอยถลอก หรือรอยครูด รวมถึงผิวหนังบริเวณที่เพิ่งผ่านการโกนขน เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงที่อาจรุนแรงตามมาได้
  • เมื่อต้องการตักครีมออกจากโหลหรือกระปุกบรรจุภัณฑ์ ควรใช้ไม้พายหรือช้อนเล็ก ๆ เพราะการใช้มือตักครีม อาจทำให้ครีมปนเปื้อนสิ่งสกปรกจากมือได้
  • หากลืมทาครีม ให้รีบทาทันทีเมื่อนึกได้ แต่ถ้านึกได้ใกล้รอบทาครีมถัดไป ให้ทาครีมเพียงรอบเดียว โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณครีม

ผลข้างเคียงจากการใช้ยูเรีย ครีม

การทายูเรีย ครีม อาจมีผลข้างเคียงดังนี้

  • อาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่ทาครีมระคายเคือง แสบ แดง หรือคัน โดยหากพบว่าอาการเหล่านี้รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ควรรีบปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกร
  • อาจเป็นสาเหตุของความผิดปกติบริเวณผิวหนัง เช่น ผิวลอก แผลพุพอง รวมถึงอาการแพ้อย่างผื่นขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงเหล่านี้พบได้น้อยมาก แต่หากมีสัญญาณความผิดปกติควรรีบไปพบคุณหมอทันที
  • อาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดด โดยคุณหมอจะแนะนำให้ผู้ที่ทายูเรีย ครีมจำกัดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง ใช้ครีมกันแดด และสวมเครื่องแต่งกายมิดชิด เพื่อป้องกันผิวหนังเสียหาย

นอกจากนี้ ยูเรีย ครีมอาจทำปฏิกิริยากับยาอื่นได้ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อใช้เอง ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกร โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ดูแลผิวตัวอื่นอยู่ด้วย

ยูเรีย ครีม ไม่เหมาะกับใคร

ก่อนเลือกใช้ยูเรีย ครีม ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อน เพราะการทาครีมอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะสุขภาพดังต่อไปนี้

  • มีผิวไหม้ แตก หรืออักเสบ
  • มีภาวะติดเชื้อ
  • มีอาการแพ้ยูเรีย หรือแพ้อาหาร ยา หรือสารเคมีต่าง ๆ ในลักษณะที่ผิดปกติ

การเก็บรักษายูเรีย ครีม

ยูเรีย ครีมควรเก็บในอุณหภูมิระหว่าง 15-30 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ ควรเก็บในภาชนะที่แห้ง ปิดสนิท และวางให้พ้นจากมือเด็ก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Urea Cream Keratolytics (Topical), General – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-6047-829/urea-topical/urea-keratolytic-topical/details. Accessed February 28, 2023.

Urea. https://dermnetnz.org/topics/urea. Accessed February 28, 2023.

Urea 45% Cream. https://www.drugs.com/pro/urea-45-cream.html. Accessed February 28, 2023.

Ichthyosis vulgaris. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/ichthyosis-vulgaris/symptoms-causes/syc-20373754. Accessed February 28, 2023.

Urea. https://www.acs.org/content/acs/en/molecule-of-the-week/archive/u/urea.html. Accessed February 28, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2024

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผิวแห้งคัน สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการดูแลตัวเอง

บรรเทาอาการผิวแห้ง ด้วยวิธีธรรมชาติ ทำได้อย่างไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 31/08/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา